วุฒิสภาผ่านมติสกัด 'ทรัมป์' เปิดสงครามอิหร่าน


เพิ่มเพื่อน    

ส.ว.รีพับลิกัน 8 รายแตกแถวลงมติร่วมกับเดโมแครตเมื่อวันพฤหัสบดี ผ่านข้อมติจำกัดอำนาจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการประกาศสงครามเชิงรุกกับอิหร่าน เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากทรัมป์อนุมัติส่งโดรนสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านจนสถานการณ์เกือบบานปลายเป็นสงคราม แต่เชื่อว่าทรัมป์จะวีโตอย่างแน่นอน

ส.ว.แทมมี ดักเวิร์ธ แถลงข่าวร่วมกับ ส.ว.ทิม เคน จากพรรคเดโมแครต ภายหลังวุฒิสภาโหวตผ่านข้อมติอำนาจการทำสงครามอิหร่าน เมื่อวันพฤหัสบดี

    ข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันทั้ง 8 รายที่แตกแถวนี้ล้วนเคยลงมติว่าทรัมป์พ้นข้อกล่าวหาเพื่อถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน แต่ในการลงมติเมื่อวันพฤหัสบดี พวกเขากลับลงคะแนนเห็นชอบญัตติของ ส.ว.เดโมแครต ทำให้ญัตตินี้ผ่านเสียงข้างมากได้ด้วยคะแนน 55 เสียง ต่อ 45 เสียง
    ข้อมติฉบับนี้จะห้ามการดำเนินการทางทหารต่ออิหร่าน เว้นแต่สภาคองเกรสจะลงมติให้ประกาศสงครามหรือให้ความเห็นชอบอำนาจพิเศษในการใช้กำลังทางทหารต่ออิหร่าน

    ชัค ชูเมอร์ แกนนำ ส.ว.เดโมแครตเสียงข้างน้อย กล่าวภายหลังการลงมติว่า วุฒิสภาเพิ่งส่งสารชัดเจนถึงทรัมป์ว่า ส.ว.เสียงส่วนใหญ่จากทั้งสองพรรคไม่ต้องการให้ประธานาธิบดีทำสงครามโดยปราศจากความเห็นชอบของคองเกรส

    ข้อมตินี้จะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรที่เดโมแครตครองเสียงข้างมากต่อไป เพื่อให้ลงมติ เดือนที่แล้วสภาล่างก็เคยผ่านข้อมติลักษณะเดียวกันแต่ด้วยคะแนนที่ไม่ถึง 2 ใน 3 โดยมีความเป็นไปได้ที่ข้อมติของสภาสูงฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาล่างเช่นกัน

    ขั้นตอนหลังจากนั้นคือการส่งให้ประธานาธิบดีลงนาม แต่เชื่อแน่ว่าทรัมป์จะใช้อำนาจยับยั้ง ในแบบเดียวกับที่เขาเคยวีโตความพยายามของคองเกรสก่อนหน้านี้ ที่ต้องการบีบให้รัฐบาลยุติการสนับสนุนปฏิบัติการเชิงรุกของซาอุดีอาระเบียในเยเมน ซึ่งคองเกรสก็ไม่มีเสียงมากพอถึง 2 ใน 3 เพื่อหักล้างการวีโตของทรัมป์

    เอเอฟพีรายงานอ้างแหล่งข่าวความมั่นคงสหรัฐและอิรักว่า ช่วงเวลาไม่นานก่อนการลงมติที่กรุงวอชิงตันนั้น มีจรวดลูกหนึ่งโจมตีฐานทัพในอิรักที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ ถือเป็นการโจมตีครั้งแรกนับแต่จรวดโจมตีฐานทัพแห่งนี้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมปีที่แล้ว ฆ่าทหารสัญญาจ้างชาวอเมริกันเสียชีวิต 1 ราย ยังไม่มีรายงานว่ามีคนเสียชีวิตในการโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดี

    การตายของทหารสัญญาจ้างอเมริกันรายนี้จุดชนวนวิกฤติที่บานปลายในเวลาต่อมา เมื่อทรัมป์สั่งให้ส่งโดรนยิงจรวดโจมตีใกล้สนามบินแบกแดด สังหารนายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 มกราคม อันนำไปสู่การตอบโต้ของอิหร่านด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพ 2 แห่งในอิรักที่ทหารอเมริกันประจำการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม

    ทิม เคน ส.ว.เดโมแครต เป็นผู้เสนอญัตตินี้ภายหลังการสังหารสุไลมานี ด้วยความกังวลว่าสหรัฐจะกระโจนเข้าสู่สงครามตะวันออกกลางอีกรอบ โดยที่รัฐบาลไม่ถามความเห็นของสภาคองเกรส เคนอภิปรายในสภาว่า วัตถุประสงค์หลักของเขาคือการกู้คืนอำนาจของคองเกรสในการประกาศสงคราม ซึ่งเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

    "สงครามเชิงรุกต้องผ่านการอภิปรายและการลงมติของสภาคองเกรส นี่ไม่ควรเป็นญัตติที่ต้องมาถกเถียงกัน" เคนกล่าว

    อย่างไรก็ดี ข้อมตินี้มีข้อยกเว้นไว้ด้วยสำหรับกรณีที่สหรัฐต้องป้องกันตนเองจากการกระทำในภาวะจวนตัว

    เคนยอมรับด้วยว่า แม้ต่อให้คองเกรสไม่สามารถหักล้างการวีโตของทรัมป์ แต่ผู้สนับสนุนข้อมตินี้หวังว่า มติของคองเกรสจะสามารถโน้มน้าวทรัมป์ได้หากเขาจะดำเนินการทางทหารอีกในอนาคต อย่างน้อยแม้จะไม่แยแสวุฒิสภา แต่ทรัมป์ก็น่าจะใส่ใจความคิดเห็นของประชาชน

    ด้าน ส.ว.แทมมี ดักเวิร์ธ ทหารผ่านศึกอิรัก จากพรรคเดโมแครต กล่าววิจารณ์ความมุทะลุของทรัมป์อย่างตรงไปตรงมากับผู้สื่อข่าวว่า ลูกของเธอวัย 21 เดือนยังรู้จักควบคุมตนเองได้ดีกว่าประธานาธิบดีคนนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"