'ฮิโรชิมา'เปลวไฟยังไม่ดับ


เพิ่มเพื่อน    

โดมปรมาณู (A-Bomb Dome) เศษซากจากมัจจุราช “ลิตเติลบอย”

จากนางาซากิ ผมเดินทางกลับไปยังฟุกุโอกะอีกครั้งโดยรถไฟชิงกันเซ็น เข้าพักที่ Hana Hostel เลือกห้องเดี่ยวพร้อมห้องน้ำในราคาเพียง 3,900 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท ราคาค่าที่พักห้องเดี่ยวแค่พันต้นๆ หาได้ยากยิ่งนักในญี่ปุ่น ยกเว้นบางเมือง เช่น โอซากาในย่านแบ็คแพ็คเกอร์ ที่ราคาถูกลงไปอีกหน่อย และเนื่องจากว่าผมพักที่นี่เป็นคืนที่สามในรอบไม่กี่วัน เขาก็ได้ลดราคาลงไปอีก 300 เยนตามโปรโมชั่น ซึ่งผมไม่เคยรู้มาก่อน หากเป็นบางประเทศลูกค้าคงต้องทวงกันเอาเอง

โคซู เพื่อนของผมนัดกินข้าวเย็นอีกครั้งเป็นการสั่งลา เธอพาเพื่อนจากคลาสเต้นระบำหน้าท้องมาด้วย ตั้งใจจะแนะนำให้ผมรู้จัก เรานัดกันที่หน้าโฮสเทลใกล้อาเขตคาวาบาตะ แล้วเดินไปยังย่านร้านอาหารที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกล แทบทุกร้านในย่านนี้อนุญาตให้ลูกค้าสูบบุหรี่ได้ ผมบอกโคซูว่าไปที่อื่นก็ได้หากไม่ชอบควันบุหรี่ ซึ่งความจริงแล้วเธอไม่ชอบแต่คงขี้เกียจเดินเพราะอาจจะเหนื่อยและหิวหลังจากการเรียนเต้นระบำหน้าท้อง จึงยอมถูกรมควันอยู่ด้วยกัน

เพื่อนของโคซูชื่อเมกุ เธอพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย ส่วนผมนอกจาก “คัมปาย” ก็พูดภาษาญี่ปุ่นได้อีก 4 คำ คือสวัสดีตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนค่ำ และก่อนนอน อ๋อ ยังมีขอโทษและขอบคุณด้วย ที่เหลือก็เป็นชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและหนังการ์ตูน

ฝ่ายโคซูนั้นเคยไปร่ำเรียนหนังสือมาจากประเทศแคนาดาจึงทำหน้าที่แปล สักพักเธอก็เริ่มเหนื่อย จึงคุยกับผมเป็นภาษาอังกฤษ และคุยกับเมกุเป็นภาษาญี่ปุ่น ผมกับเมกุก็พูดกันอยู่แต่คำว่า “คัมปาย” หลังชนแก้วสาเก ทุกอย่างจึงลงตัว และเราก็หันไปสนใจกับอาหารที่หลากหลาย และพูดถึงรสชาติที่อร่อยถูกปากแทน

วันนี้โคซูยินยอมให้ผมออกค่าอาหาร แต่ก็เพียงแค่ 3,000 เยนเท่านั้น จากยอดทั้งหมดประมาณ 15,000 เยน เราเดินกลับพร้อมกลิ่นควันบุหรี่อบอวลเสื้อผ้าและผมเผ้าก่อนลากันที่หน้าโฮสเทล ผมทำทีเป็นเข้าไปนอนแต่ก็กลับออกไปเดินย่านเทนจินที่อยู่ห่างกันไม่ไกล ทว่าการถูกเข้ามาเสนอบริการ (ลักษณะสาวนั่งดริงค์) จากบรรดาคนเชียร์แขกตามถนนหลายครั้งจนไม่เป็นอันได้ดูได้คิดอะไร จึงตัดสินใจกลับไปนอนจริงๆ

ชายหนุ่มเดินเดี่ยวนั้นมักเป็นเป้าชั้นดีของท่านนักเชียร์แขก เพราะเขาสามารถเสี่ยงพนันได้ว่าความเหงาจะต้องได้รับการบำบัด โดยที่ไม่นึกว่ามีบางคนตั้งใจจะไปเหงา และที่เดินคนเดียวไม่น้อยก็ไม่ได้เหงาอะไรสักหน่อย

วันรุ่งขึ้นผมจึงตื่นแต่เช้าเพราะนอนหลับเร็วและหลับสนิท อาบน้ำแล้วเช็กเอาต์ รีเซ็พชั่นสาวหรืออาจจะเป็นเจ้าของออกจากเคาน์เตอร์เดินเข้ามากอดอย่างเป็นกันเองเพื่อแสดงความขอบคุณที่ไว้ใจโฮสเทลของเธอ ผมให้คำสัญญาว่าจะมาพักที่นี่อีก หากได้กลับมาฟุกุโอกะ

หมดกาแฟและครัวซองต์ที่ Café Veloce หน้าอาเขตคาวาบาตะ ผมก็ลงรถไฟใต้ดินไปยังสถานีฮากาตะ ซึ่งสถานีรถไฟชิงกันเซ็นในชื่อเดียวกันตั้งเชื่อมกันอยู่ แล้วโดยสารด้วยบัตร JR Pass แบบ 7 วัน ขึ้นเหนือไปยังเมืองใหญ่เมืองถัดไป คือ “ฮิโรชิมา” ด้วยเวลาเพียง 1 ชั่วโมงนิดๆ

ผมต้องต่อรถไฟท้องถิ่นของบริษัท JR ไปยังสถานี Nishi-Hiroshima (Nishi แปลว่าตะวันตก) เพื่อเข้าพักในเกสต์เฮาส์ที่จองไว้แล้ว ถามเด็กนักเรียนที่กำลังรอรถไฟบนชานชาลาโดยโชว์ใบจองซึ่งแสดงที่อยู่ พวกเขาแสดงอาการคล้ายจะช่วยแต่รถไฟมาเสียก่อน เมื่อเดินออกจากสถานีและถามกับเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่าเกสต์เฮาส์ของผมอยู่หลังสถานีรถไฟนี่เอง

แม่น้ำโอตะ สายที่ไหลผ่านถนนหน้าสถานีรถไฟ Nishi-Hiroshima

หลังจากนั้นอีกหลายครั้งเมื่อผมแสดงอาการเหมือนคนหลงทาง เคว้งคว้าง สิ้นหวัง คนท้องถิ่นที่ผ่านไปมาก็ไม่เคยเสนอความช่วยเหลือ เว้นแต่จะร้องขอ หากไม่สามารถอธิบายทิศทางให้เข้าใจได้ เขาหรือเธอก็จะพาเดินไปจนถึงจุดหมาย แม้ว่าจุดหมายของเขาหรือเธอคนนั้นจะไม่ได้อยู่ทิศทางเดียวกันกับเราก็ตาม และคนที่ไม่นิยมเปิดสัญญาณโทรศัพท์ข้ามแดนและซื้อซิมการ์ดท้องถิ่นแบบผมก็จะประสบปัญหาอยู่บ่อยๆ นักต่อนักที่ต้องลงท้ายด้วยความเดือดร้อนของชาวญี่ปุ่นน้ำใจงาม

เกสต์เฮาส์ที่ผมจองไว้ยังไม่ถึงเวลาเช็กอินในตอน 4 โมงเย็นและประตูยังปิดอยู่ จึงวางกระเป๋าเสื้อผ้าไว้หน้าเกสต์เฮาส์ แล้วเดินกลับไปย่านสถานีรถไฟ ข้ามถนนไปนั่งเล่นที่ขั้นบันไดริมแม่น้ำโอตะ (Ota) หันหลังไปเห็นร้านสะดวกซื้อจึงเดินข้ามถนนกลับไปซื้ออาหารเที่ยงง่ายๆ และเบียร์เย็นๆ 1 กระป๋องกลับไปนั่งจัดการที่ริมฝั่งอย่างสบายใจเพราะอากาศดีและแทบไม่มีผู้คน

แม่น้ำโอตะสายนี้เป็น 1 ใน 7 สายจากต้นน้ำเดียวกันที่ภูเขาคันมุริที่อยู่ห่างไปทางเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร บางสายก็เปลี่ยนชื่อเมื่อไหลผ่านย่านต่างๆ ก่อนทั้งหมดจะพากันลงสู่อ่าวฮิโรชิมาและทะเลเซะโตะใน (Seto Inland Sea) ที่อยู่ห่างออกไปทางใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร

สายที่ผมนั่งมองอยู่นี้เป็นสายที่อยู่ทางด้านตะวันตกสุด (หรือซ้ายสุดในแผนที่) มีสะพานไม่รู้จักชื่อสำหรับรถยนต์และรถรางอยู่ทางซ้ายมือใกล้ๆ ส่วนสะพานที่มีชื่อที่สุดต้องยกให้ “สะพานไอโยอิ” (Aioi Bridge) ที่อยู่ห่างออกไปไม่ประมาณ 3 กิโลเมตร แต่อยู่บนแม่น้ำโอตะอีกสาย

เมื่อได้เวลาผมก็กลับเข้าไปเช็กอินในเกสต์เฮาส์ แล้วนั่งรถรางหรือที่เขาเรียก “สตรีทคาร์” (Street Car) ไป 6 ป้าย ลงที่สถานี Genbaku Dome-mae หรือเรียกอีกชื่อว่าสถานี Atomic Bomb Dome บนถนน “ไอโยอิ” เดินย้อนกลับไปยังทิศสะพานไอโยอิที่รถรางเพิ่งพาข้ามมา สะพานนี้คือจุดเล็งของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 “Enola Gay” สำหรับหย่อนระเบิดปรมาณู “ลิตเติลบอย” (Little Boy”) ลงมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และซ้ายมือคือ “โดมปรมาณู” หรือ A-Bomb Dome เศษชากจากนิวเคลียร์มัจจุราช

ระเบิดลิตเติลบอยนั้นเป็นระเบิดเชื้อเพลิงยูเรเนียม มีอานุภาพทำลายล้างน้อยกว่าระเบิด “แฟตแมน” (Fat Man) ที่ถล่มเมืองนางาซากิในอีก 3 วันต่อมาซึ่งใช้เชื้อเพลิงพลูโตเนียม แต่เมืองฮิโรชิมาได้รับความเสียหายหนักกว่า ผู้คนเสียชีวิตราว 140,000 คน มากกว่าที่เมืองนางาซากิเกือบครึ่ง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของนางาซากิมีลักษณะเป็นภูเขาที่ซับซ้อน ในขณะที่ฮิโรชิมาค่อนข้างจะเป็นพื้นราบ

โดมปรมาณู คืออาคารที่ใกล้จุดศูนย์กลางระเบิดมากที่สุด เดิมที่เป็นอาคารของศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมของเมืองฮิโรชิมา ปัจจุบันคือสัญลักษณ์แห่งความวอดวายและพิษภัยของระเบิดปรมาณู ผมเดินเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางเดิน แล้วข้ามสะพานไปยังเกาะกลางแม่น้ำทางด้านขวา ที่ตั้งของ “อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา” (Hiroshima Peace Memorial Park)

มีอนุสาวรีย์ ประติมากรรม และสิ่งรำลึกหลายชิ้น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพฮิโรชิมา แต่ผมเดินสำรวจอยู่ได้ไม่นานเพราะแบตเตอรีกล้องหมด และเวลาก็ใกล้ค่ำแล้ว ทว่ามีความประทับใจอยู่ 2 อนุสรณ์สถานสำคัญ นั่นคือ “อนุสาวรีย์สันติภาพของเยาวชน” (Children’s Peace Monument) เป็นประติมากรรม 3 ขา ด้านบนโค้งมน เด็กหญิงชูแขนขึ้นทั้งสองข้างยืนอยู่บนนั้น เหนือตัวเธอคือรูปนกกระเรียนกระดาษตัวใหญ่ สร้างขึ้นจากเรื่องราวของเด็กหญิง “ซาดาโกะ ซาซากิ” ที่ได้รับสารกัมมันตรังสี เธอเชื่อว่าหากพับนกกระเรียนได้ครบ 1,000 ตัว จะทำให้เธอหายป่วย แต่ไม่นานเธอก็เสียชีวิตลงเช่นเดียวกับผู้คนอีกจำนวนมาก ปัจจุบันยังคงมีคนจากทั่วโลกโดยเฉพาะเด็กๆ พับนกกระเรียนและส่งมายังฮิโรชิมาซึ่งจะถูกนำไปกองวางรวมกันใกล้ๆ รูปปั้นนี้

อีกแห่งคือ “เปลวไฟสันติภาพ” หรือ Peace Flame ที่ถูกจุดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 เพื่อรำลึกถึงเหยื่อระเบิดและเมืองฮิโรชิมาที่ถูกถล่มย่อยยับ เปลวไฟนี้จะคงลุกโชนอยู่เรื่อยไปโดยมีเป้าหมายว่าจะดับลงก็ต่อเมื่อระเบิดปรมาณูทั้งมวลในโลกนี้จะถูกทำลาย และปราศจากภัยคุกคามของมันอย่างสิ้นเชิง

กี่เด็กเล็กอย่างหนูน้อยคนนี้ที่เป็นเหยื่อของระเบิดปรมาณูลูกนั้น

แสงของวันกำลังจะหมดลง ผมเดินข้ามสะพานแห่งเดิมกลับไป แวะที่ร้านเครื่องดื่ม มีส้มวางอยู่หน้าร้านเป็นกองพะเนิน ทราบว่าจะเลือกผสมกับอะไรก็ได้ผมจึงขอให้ผสมกับเบอร์เบิน ไม่เคยดื่มมาก่อนแต่ก็พบว่ารสชาติไม่เลวทีเดียว เมื่อสดชื่นขึ้นก็เดินเข้าไปในย่านการค้าที่อยู่ติดกัน หวังจะหาอนุสรณ์จุดศูนย์กลางของระเบิดลิตเติลบอย (Hypocenter) แต่ทั้งๆ ที่มีแผนที่ในมือก็หาไม่เจอ และเริ่มหิวมากขึ้นทุกที จึงหาของกินดีกว่า

ฝั่งตรงข้ามของ “โดมปรมาณู” บนถนนใหญ่ที่ผมลงรถรางก่อนหน้านี้เป็นสนามกีฬาเก่าของเมือง ถูกปรับให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม วันนี้มีเทศกาลเบียร์และอาหาร ชื่อ World Beer and Gourmet Festival จึงข้ามไปลองเชิง เดินๆ ดูมีเบียร์หลากยี่ห้อจากหลายชาติและอาหารจำนวนมากล้อมรอบพื้นที่จัดงานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางเต็มไปด้วยโต๊ะเก้าอี้ ที่ด้านหนึ่งมีเวทีการแสดงและวงดนตรี คนหนุ่มสาวไปจนถึงวัยอาวุโสเข้าร่วมงานเกือบเต็มพื้นที่

ผมซื้อ Kirin มา 1 ไพนต์ พร้อมไก่ทอดคาราเกะชุดใหญ่ ถือไปนั่งแกล้มดนตรีโฟล์คอเมริกันยุคเก่าหน้าเวที นักดนตรีล้วนรุ่นลายคราม คาดว่าเป็นวงของชาวเยอรมันที่มาพำนักอยู่ในฮิโรชิมาหรือเมืองใดเมืองหนึ่งในญี่ปุ่นอยู่เป็นเวลานานแล้ว เพราะลุงๆ แกพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ส่วนที่เดาว่าเป็นชาวเยอรมันเพราะตอนที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงมันฟ้อง

หมดมื้ออาหารและเดินเตร็ดเตร่อยู่อีกไม่นานผมก็นั่งรถรางกลับเกสต์เฮาส์เพราะต้องการซักถามบรรดาแขกและผู้ดูแลที่พักเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับวันพรุ่งนี้

Guest House Carpe Hiroshima Koi คงมาจาก Hiroshima Toyo Carp ชื่อของสโมสรเบสบอลประจำเมือง เพราะภายในตกแต่งด้วยชุดแข่งและของที่ระลึกของสโมสรเบสบอลทีมนี้ ซึ่ง Koi ก็คือปลาคาร์ป ส่วน Carpe ในชื่อของเกสต์เฮาส์น่าจะต้องการเล่นกับวลี Carpe Diem (คา-เพ-เดียม) ในภาษาละตินที่แปลว่า “ตักตวงจากห้วงเวลานี้” อันมีที่มาจากชื่อบทกวีของ Horace แห่งอาณาจักรโรมัน สมัยไม่กี่ปีก่อนเข้าสู่คริสตกาล

หนุ่มผู้ดูแลเกสต์เฮาส์ในชุดเบสบอลทีม Hiroshima Toyo Carp เชียร์ให้ไปเที่ยวเกาะกระต่าย หรือชื่อ “เกาะโอคุโนชิมะ” (Okunoshima) ขณะที่สาวไต้หวันซึ่งมาทำงานอยู่ในฮิโรชิมาได้ปีกว่าแล้วนำเสนอเกาะกวาง หรือ “เกาะมิยาจิมะ” (Miyajima) แต่หลังจากหนุ่มผู้ดูแลเกสต์เฮาส์เขียนคำอธิบายการเดินทางให้ดู ผมก็ถอดใจและจำต้องสละเกาะกระต่าย เพราะระยะทางค่อนข้างไกลและเดินทางหลายต่อ

วันต่อมาเมื่อไปถึงเกาะมิยาจิมะ ก็รู้สึกว่าคิดไม่ผิดที่เลือกเชื่อสาวไต้หวัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"