โลกเล็กๆ ในอินเดีย


เพิ่มเพื่อน    

(ผู้คนและต้นอ้อยในเทศกาล “ฉัฐบูชา” บริเวณอัสซีกาธ กรุงพาราณสี)

    คงต้องขอจบซีรีส์แม่น้ำในบทบันทึกลงแต่เพียง 3 ตอน ถึงจะยังมีเรื่องราวให้พอเขียน แต่ก็คงจะไปต่อได้อีกไม่กี่ตอน และดูจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หลังจากได้อ่านบันทึกย้อนหลังก็พบว่าการเดินทางบางช่วงตอนในอินเดียผมยังไม่เคยนำมาเล่า และเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องแม่น้ำคงคาในตอนที่แล้ว
    เหตุการณ์เมื่อ 5 ปีก่อน ผมโดนตามตอแยจากหนุ่มเจ้าถิ่นอินเดียรูปร่างผอมแห้ง จนรู้สึกอดรนทนไม่ไหวและได้หันไปเผชิญหน้า โชคดีที่หมอนั่นเพียงแค่เดินผ่านไป เพราะหากมีเรื่องมีราวถึงขั้นลงไม้ลงมือกันคงเกิดปัญหาใหญ่ตามมา
    ผมอ่านกฎหมายของอินเดียในภายหลังพบว่า การทะเลาะวิวาทในที่สาธารณะอาจถูกสั่งจำคุกได้ถึง 1 เดือน ถึงได้เห็นว่าคนอินเดียมีการโต้เถียงด่าทอกันอยู่เนืองๆ ตามท้องถนน แต่ไม่เคยเห็นพวกเขาเตะต่อยกันเลย
    มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเห็นวัยรุ่นทะเลาะกันชนิดเอาจริงเอาจัง ฝ่ายหนึ่งคว้าคอเสื้อของอีกฝ่าย ทำท่าจะต่อย เงื้อง่าอยู่นาน สุดท้ายก็จากไปโดยไม่ได้ฝากของที่ระลึกไว้สักหมัดเดียว
    ความจริงแล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหน หากไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนเราเองก็ไม่ควรไปมีเรื่องมีราว (ถึงแม้จะอยู่บ้านเราเองก็ตาม) ตัวอย่างง่ายๆ ที่เคยรับชมรับฟังกันมาก็คือ ฝรั่งขี้นกตามแหล่งท่องเที่ยวในไทยถูกกระทืบทำร้าย เพราะชอบลองของอยู่เป็นประจำ บางคนเข้าคอร์สเรียนมวยไทยได้ไม่กี่วัน พอเหล้าเข้าปากก็อยากทดสอบวิชา สุดท้ายถูกหามแทบทุกราย
    จึงเป็นอันสรุปได้ว่ามีปัญหากับเจ้าถิ่นเมื่อใด ให้เดินหนี หรือแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่เช่นนั้นก็คงเที่ยวไม่สนุกอีกเลยตลอดการเดินทาง
    ในเวลานั้นผมพักที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใกล้ท่าอัศวเมธ (Dashashwamedh Ghat) ท่าน้ำสำคัญของกรุงพาราณสี และคิดจะย้ายไปพักแถวท่าอัสซี (Assi Ghat) ซึ่งเคยได้รับคำแนะนำจากนักเดินทางสาวชาวสเปนที่ผมเจอในโกลกาตา อีกทั้งบริเวณดังกล่าวเงียบสงบกว่า จึงเดินออกจากซอยเบงกาลีโตลาสู่ถนนใหญ่ เรียกสามล้อถีบไปยังท่าอัสซี ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ลุงสารถีคิด 30 รูปี หรือราวๆ 15 บาทเท่านั้น
    บริเวณท่าน้ำกำลังมีกิจกรรมคล้ายงานรื่นเริงบางอย่าง ผมยืนดูอยู่ครู่หนึ่งก็เดินคลำทางหาเกสต์เฮาส์ชื่อ Kesher เข้าไปในซอยใกล้ๆ ท่าน้ำ หญิงสูงวัยคนในพื้นที่เดินตามหลังผมมาก็เลยได้โอกาสถามทาง แกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่พอเข้าใจว่าผมจะไปไหน แกเดินนำหน้าเพื่อนำทาง ผมนึกว่าไปทางเดียวกัน ปรากฏว่าแกส่งผมถึงหน้าเกสต์เฮาส์แล้วก็เดินกลับไปทางเดิม ผมกล่าว “ชุกกรียา” ขอบคุณซ้ำๆ แด่ความเมตตาของหญิงชรา
    ผมได้พบกับลุงอัชวินี ราย (Mr.Ashwini Rai) เจ้าของเกสต์เฮาส์วัยประมาณ 60 ปีหรือมากกว่า ชื่อของแก “อัชวินี” ก็คือ “อัศวิน” ในภาษาไทย ลุงอัชวินียิ้มแย้ม ใจดี และน่าเคารพ ผมขอดูห้องพักแล้วแจ้งแกว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็จะย้ายมาพักในวันรุ่งขึ้น ขากลับผมนั่งสามล้อถีบเหมือนเดิม ราคา 40 รูปี
    วันต่อมาก็นั่งสามล้อถีบมายังเกสต์เฮาส์ ตกลงราคากันที่ 40 รูปี แต่ผมบอกทางผิดนิดหน่อยจึงให้ลุงสารถีไป 50 รูปี เช็กอินได้สักพักก็นั่งสามล้อเครื่อง หรือที่เรียกกันว่า “ออโต้” (ย่อมาจากออโต้ริคชอว์) ไปยังสถานีรถไฟกลางพาราณสีเพื่อจองตั๋วกลับโกลกาตา ระยะทางห่างไปราว 6 กิโลเมตร ค่ารถตกลงกันที่ 100 รูปี ปรากฏว่าวันอาทิตย์ห้องขายตั๋วล่วงหน้าปิดบ่าย 2 แต่ผมไปถึงบ่าย 3 จำต้องนั่งออโต้กลับ คราวนี้เป็นออโต้แบบไฟฟ้า ดูเหมือนว่าโชเฟอร์ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ที่ผมไปต่อราคาจาก 200 รูปี เหลือ 100 รูปี แต่เขาก็ยอม ทราบภายหลังว่าการเรียกไปยังสถานีรถไฟนั้นราคาถูก เพราะเดินทางไปง่าย ไม่ต้องส่งถึงสถานี แถมอาจโชคดีได้ผู้โดยสารกลับออกมาอีก ส่วนการเรียกจากสถานีนั้นแพงกว่า เพราะคู่แข่งเยอะ และรอลูกค้านาน
    ผมแวะที่ท่าน้ำอัสซี ท่านี้เป็นท่าน้ำทางทิศใต้สุดของกรุงพาราณสี เป็นท่าแรกที่แม่น้ำคงคาไหลเข้าสู่เมือง ขนาดของท่าน้ำค่อนข้างกว้างใหญ่ และใหญ่กว่าท่าอื่นๆ ที่เห็นมา (มีทั้งหมด 88 ท่า) การรวมตัวของผู้คนที่ผมเห็นเมื่อวานก็คือเทศกาล “ฉัฐบูชา” วันนี้ก็ยังดำเนินอยู่

(บางคนใช้วิธีหมอบราบกราบกรานไปทีละคืบสองคืบเช่นนี้ในการเดินทางไปยังท่าน้ำเพื่อร่วมพิธีฉัฐบูชา)

    ฉัฐบูชา เขียนในภาษาอังกฤษว่า Chhath Puja เป็นการบูชาเทพสุริยาและพระแม่ษัษฎี เทศกาลนี้เริ่มหลังจากเทศกาล “ทีปาวลี” (การบูชาแสงสว่าง) สิ้นสุดลง 6 วัน โดยฉัฐบูชากินเวลา 4 วัน ตกอยู่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน (ปฏิทินในแต่ละปีไม่ตรงกัน) ถือปฏิบัติวันละ 2 ครั้ง ตอนรุ่งอรุณครั้งหนึ่งและตะวันตกดินอีกครั้ง มีทั้งการอาบน้ำในแม่น้ำคงคา การอดอาหารและน้ำ ยืนในน้ำเป็นเวลานานพร้อมการสวดมนต์และถวายของบูชา ขณะเดินทางไปยังท่าน้ำบางคนทำการหมอบกราบลงทั้งตัวเหมือนคนนอนคว่ำ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
    ชื่อ “ฉัฐบูชา” น่าจะมาจากพระแม่ษัษฏี (Shashthi) ชาวฮินดูถือว่าเป็นองค์เทวสตรีที่ช่วยในการมีบุตรและปกป้องคุ้มครองเด็กทารก นอกจากนี้ก็ยังเป็นองค์เทวีแห่งการเพาะปลูกพืชผัก ลักษณะรูปเคารพคือเทวีขี่หลังแมวและมีเด็กนั่งอยู่บนตัก
    ผมเห็นผู้คนจำนวนมหาศาลนำเครื่องบูชาที่มีทั้งอาหาร ดอกไม้ เครื่องหอม ธูปเทียน และที่สำคัญคือต้นอ้อย อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เพราะต้นอ้อยให้น้ำตาล และฤดูนี้กำลังจะเก็บเกี่ยวอ้อยกันพอดี นัยว่าใช้ต้นอ้อยบูชาก็จะให้ผลผลิตดีในอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยมากที่สุดในโลกและผลผลิตก็มากที่สุดในโลก แซงหน้าแชมป์เก่ายาวนานอย่างบราซิลไปเรียบร้อยแล้ว

(สตรีฮินดูหลากวัยพร้อมของไหว้ในพิธีฉัฐบูชา)

    ผมถ่ายรูปกิจกรรมสำคัญนี้อยู่พักใหญ่ก็เดินหามื้อเย็น ร้านแถวท่าน้ำมีอยู่ไม่มาก เสี่ยงเดินเข้าไปในโรงแรม Benares Haveli ร้านอาหารอยู่บนชั้น 5 ซึ่งเป็นชั้นดาดฟ้า ดูรายการอาหารล้วนเป็นเมนูมังสวิรัติ สั่งมันฝรั่งทอดและสปาเกตตีซอสชีส กินเข้าไปจึงรู้ว่าร้านนี้ขายวิว ไม่ได้ขายรสชาติอาหาร ตอนเช็กบิลมีค่าภาษีเพิ่มขึ้นมาอีกต่างหาก 14.50 เปอร์เซ็นต์ กลับเกสต์เฮาส์ไปเจอลุงอัชวินีแล้วเล่าเรื่องมื้อเย็นให้ฟัง แกว่า “พลาดแล้ว อาหารร้านนั้นไม่ได้เรื่อง วันหลังลองที่ร้าน Cozy Corner หรือ Shiva Restaurant ดู ถ้าจะกินในละแวกนี้นะ ส่วนมื้อเช้าแนะนำร้าน Open Hand”
    รุ่งเช้าวันต่อมาจึงได้กินมื้อเช้าที่ร้าน Open Hand เป็นอาหารแบบตะวันตก ผมสั่งชุดขนมปังปิ้ง 2 แผ่น ไข่ดาว 2 ฟอง ไส้กรอกไก่ 2 ชิ้น และอเมริกาโนร้อน 1 ถ้วย ราคา 250 รูปี ร้านตกแต่งได้สวยงาม น่านั่ง ขายของที่ระลึกหลายอย่าง ล้วนแฮนด์เมดโดยฝีมือคนท้องถิ่น อาหารดูสะอาดน่ากิน ส่วนรสชาติก็ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะอาหารเช้าตะวันตกนั้นนอกจากความเค็มแล้วก็ไม่มีรสชาติอื่น 
    จากนั้นผมเรียกออโต้ไปยังสถานีรถไฟ ตกลงได้ในราคา 100 รูปีเหมือนเดิม ถึงสถานีก็เดินไปที่ห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า ตั้งแยกออกมาจากตัวอาคารโดยสาร ไม่ห่างจากถนน ในห้องมีสาวเกาหลี สาวญี่ปุ่น และหนุ่มญี่ปุ่นอีก 2 คนมาด้วยกัน เพราะประหยัดค่าออโต้ แต่ละคนจองตั๋วไปจุดหมายปลายทางคนละทิศ หมายความว่าแต่ละคนล้วนเดินทางคนเดียว พวกเรานั่งคุยกันระหว่างรอคิว หนุ่มสาวญี่ปุ่นกล่าวชมเมืองไทยเป็นการใหญ่ พวกเขาได้ไปสัมผัสมาแล้วหลายครั้ง
    ผมได้ตั๋วกลับโกลกาตาแล้วก็จ้างออโต้คันหนึ่งเดินทางไปสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระยะทางเกือบๆ 10 กิโลเมตร ราคา 150 รูปี การไปเยือนสารนาถนี้ผมได้เขียนถึงไปแล้วจึงขออนุญาตไม่กล่าวซ้ำอีก
    ขากลับจากสารนาถ โชเฟอร์ออโต้คิด 250 รูปี ส่งถึงแค่ท่าน้ำอัสซีในเวลาใกล้มืด รับเงินเสร็จเขาบอกผมว่าเป็นมุสลิมอาศัยอยู่ในสารนาถ และสารนาถเวลานี้ชาวเมืองล้วนเป็นมุสลิม
    ผมแวะกินมื้อค่ำที่ร้าน Cozy Corner สั่งชุดอาหารอินเดียที่เสิร์ฟมาคล้ายๆ ขันโตก รสชาติดีสมคำแนะนำของลุงอัชวินี เสร็จแล้วเดินไปชมพิธีบูชาไฟที่ท่าน้ำแล้วกลับเกสต์เฮาส์ นอนหลับลงอย่างง่ายดาย แม้ว่าตอนค่ำๆ ช่วงนี้จะมีอาการไอทุกวัน
    ตื่นเช้ามามีเสมหะในลำคอติดต่อกันสี่ห้าวันเข้าไปแล้ว คงเป็นเพราะอากาศเย็นลงหลายองศา อีกทั้งมลพิษจากฝุ่นควันก็มาก อาบน้ำเก็บกระเป๋าเสร็จก็ออกมานั่งในห้องรับแขกเตรียมเช็กเอาต์ตอนใกล้ 10 โมง ลุงอัชวินีให้หลานสาวยกน้ำชาใส่นมมาให้ผมดื่ม นั่งคุยกันหลายเรื่อง แกอยู่ในวรรณะพราหมณ์ มีความรอบรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมประเพณี เรื่องฉัฐบูชาที่กล่าวถึงไปหลักๆ ผมก็ได้ความรู้มาจากลุงแก
    ผมฝากกระเป๋าเสื้อผ้าไว้แล้วเดินไปหามื้อเช้า ตั้งใจจะกินที่ร้านเกาหลีตรงข้ามร้าน Open Hand ตามคำแนะนำของสาวสเปน แต่ร้านเกาหลียังไม่เปิด จึงได้กินที่ร้าน Open Hand เหมือนเดิม เป็นชุดอาหารเช้าคล้ายๆ เมื่อวาน กินเสร็จก็นั่งอ้อยอิ่งอยู่กับอเมริกาโนและน้ำเปล่า 1 ขวดจนถึงเที่ยงกว่า จ่ายเงินแล้วเดินไปที่ท่าน้ำอัสซี
    วัยรุ่นชายอายุราว 13-15 ขวบ เดินเข้ามาชวนให้นั่งเรือแจวล่องแม่น้ำคงคา ผมบอกว่าอาจจะนั่งออกไปถ่ายรูปแค่นิดหน่อย ประมาณ 10 นาที คิดเท่าไหร่ เด็กคนนี้ไปหาพวกมาคนหนึ่งอายุประมาณ 18-20 ปี หรืออาจจะน้อยกว่า แต่ดูหน้าแก่มาก คนหลังนี้เหมือนเป็นผู้มีอำนาจประจำเรือหรืออาจเป็นเจ้าของเรือ เรียกราคา 500 รูปี ผมบอกไปว่ามีงบอยู่แค่ 100 รูปี เขาลดราคาลงมาเหลือ 400 รูปี 300 รูปี สุดท้าย 250 รูปี ผมบอกว่ามีงบอยู่เท่าเดิม ทั้งคู่เดินออกไป ผมก็เดินไปอีกทาง ขณะเอากล้องถ่ายรูปเก็บใส่เป้ คนโตกว่าเดินกลับเข้ามาหา “งั้น 150 แล้วกัน” ผมเลยเพิ่มงบให้เขา เขาตอบตกลง
    คนอายุน้อยกว่าขึ้นเรือมาด้วย ทำตัวคล้ายผู้ช่วย เด็กโตที่แจวเรือเอ่ยขึ้นคำแรก “พายเรือนี่งานหนักนะ” ผมบอกว่า “เห็นด้วย” เขาแจวออกจากท่าไปไม่กี่เมตรแล้วพูดว่าจะหมดเวลาแล้ว ผมไม่ยอม เพราะยังไม่ได้ถ่ายรูป ขอให้เขาแจวออกไปอีก เขาก็แจวออกไปไม่ไกล ผมบอกให้ออกไปอีก เขาก็แจวไปอีกหน่อย ผมเริ่มรำคาญ และเห็นว่าหมอกควันปกคลุมอยู่ทั่วบนฝั่ง ทัศนวิสัยไม่ดีนัก ถ่ายรูปไม่สวย จึงปล่อยเลยตามเลย จะแจวเข้าฝั่งก็แล้วแต่ท่าน คนที่เด็กกว่าถือโอกาสที่ผมถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ ขอกล้องผมไปถ่ายรูปวิวและถ่ายรูปผม เขาดูเป็นมิตรและขี้เล่น แม้ว่าจะเจือความกะล่อนไว้ก็ตาม
    ขณะคนโตกว่ากำลังหาที่ผูกเรือ ผมและเด็กชายลงจากเรือ ผมล้วงเงินออกมายื่นให้เขา คนตัวโตตะโกนขึ้นมาว่าห้ามให้เงินเด็กชาย ให้กับเขาคนเดียวเท่านั้น เขาตะโกน 2 รอบ และเสริมว่า “ให้มันทำไม” ผมเดินออกมาจากความวุ่นวาย หันกลับไปเห็นเด็กชายนำเงินไปที่เรือ วางลงบนกราบเรือโดยยักไว้ส่วนหนึ่งแล้ววิ่งหนี คนโตผูกเรือเสร็จก็วิ่งตามหมายไปแย่งเงินที่เหลือจากเด็กชาย เหตุการณ์จะจบลงอย่างไรผมก็ไม่ได้หันไปมองอีก

(ลักษณะของท่าน้ำต่างๆ (กาธ) เพื่อฮินดูชนเดินลงไปชำระล้างมลทินในชีวิต)

    ผมเดินกลับไปที่ร้านเกาหลีอีกครั้ง ร้านเปิดแล้ว มีโต๊ะนั่งแบบทั่วไปอยู่ 2 ตัวด้านนอกร้าน โต๊ะนั่งแบบเกาหลีอยู่ด้านในจำนวนหนึ่ง ผมเลือกนั่งโต๊ะด้านนอกตัวที่ว่าง อีกตัวถูกจับจองโดยคู่รักวัยรุ่นอินเดียที่จูบกอดพลอดรักกันอยู่ตลอดเวลา พนักงานต้อนรับเป็นสาวอินเดียท้องถิ่น อัธยาศัยดี ผมสั่งน้ำขิงมะนาว และลาซซีกล้วยหอม กินหมดก็สั่งข้าวโปะไข่ดาวและผักดองใส่กล่องเพื่อไปกินในรถไฟ ภาพคู่รักจูบกันอย่างดูดดื่มเริ่มเป็นสิ่งไม่น่าอภิรมย์ เรียกเก็บเงินแล้วเดินออกจากร้านไปรับกระเป๋าที่เกสต์เฮาส์ ลุงอัชวินีนอนหลับอยู่ในห้องรับแขก
    ตั๋วรถไฟระบุเวลาออกเดินทาง 16.55 น. ขณะนั้นเวลาบ่าย 2 โมง เห็นว่าได้เวลานั่งออโต้ไปสถานีรถไฟได้แล้ว หยิบกระดาษและปากกาออกมาตั้งใจจะเขียนข้อความกล่าวลาลุงอัชวินีลงกระดาษทิ้งไว้ แกตื่นขึ้นพอดี คุยกันนิดหน่อย ก่อนแกจะเดินออกมาส่งตรงหน้าเกสต์เฮาส์
    วันนี้ไม่มีออโต้คันไหนยอมลงราคาให้ผมที่ 100 รูปีเลย นั่นก็เพราะพวกเขาเห็นว่าผมมีเป้ใบใหญ่ใส่เสื้อผ้า อาจกำลังรีบเร่งไปสถานีรถไฟ ไม่น่าจะมีทางเลือกมากนัก สุดท้ายได้นั่งคันหนึ่งตกลงราคากัน 150 รูปี
    ลุงโชเฟอร์เป็นคนปากเสีย ด่าชาวบ้านไปทั่ว คนขับแซงก็ด่า คนเดินข้ามถนนก็ด่า แกด่าไปตลอดทาง จนเจอกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินข้ามถนนช่วงรถติดแกก็ด่า ผู้หญิงคนนี้เดินมากับผู้ชาย ฝ่ายชายไม่สนใจอะไร แต่ฝ่ายหญิงหันกลับมามองหน้าแล้วด่าคืนเป็นชุด อีกทั้งหยุดยืนมองอยู่นานหลายวินาที ลุงปากเสียของผมเงียบกริบ ฝ่ายหญิงจึงเดินจากไป
    รถเริ่มติดหนักจนผมกลัวว่าจะขึ้นรถไฟไม่ทัน ออโต้ขยับไปได้ทีละนิด และต้องจอดไกลจากสถานี ผมรีบลงจากรถ ลุงโชเฟอร์บอกให้ผมใจเย็น “ค่อยๆ เอากระเป๋าลงนะ ไม่ต้องรีบจ่ายเงินจ้า”
    แสดงว่าคำด่าชุดใหญ่ของหญิงสาวเมื่อครู่นี้ทำให้แกสำนึกอะไรได้บ้าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"