ผู้นำทั่วโลกร่วมอาลัยเจ้าชายฟิลิปสิ้นพระชนม์


เพิ่มเพื่อน    

เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์แล้วเมื่อเช้าวันศุกร์ ด้วยพระชนมพรรษา 99 พรรษา ผู้นำและประมุขจากทั่วโลกร่วมแสดงความอาลัย

แฟ้มภาพ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2550 (Photo by Tim Graham/Getty Images)

    สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแห่งอังกฤษประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของดยุคแห่งเอดินบะระเมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายนว่า "ด้วยความโทมนัสอย่างสุดซึ้ง สมเด็จพระราชินีนาถทรงประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามีอันทรงเป็นที่รัก เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างสงบเมื่อเช้านี้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ จะมีแถลงการณ์เพิ่มเติมต่อไป     ราชวงศ์อังกฤษขอร่วมกับผู้คนทั่วโลกร่วมไว้อาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของพระองค์"

    เจ้าชายฟิลิป ซึ่งเดือนมิถุนายนนี้จะมีพระชนมาพรรษาครบ 100 พรรษา เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีมาประทับที่พระราชวังวินด์เซอร์ อยู่ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ช่วงที่อังกฤษล็อกดาวน์เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ด้วยพระชนมายุทำให้ทั้งสองพระองค์อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และต่างทรงรับการถวายวัคซีนโดสแรกเมื่อเดือนมกราคม

    ธงที่ประดับพระราชวังบักกิงแฮมและอาคารที่ทำการของรัฐบาลทั่วอังกฤษลดลงครึ่งเสา เหล่าพสกนิกรพากันมาวางดอกไม้ถวายความอาลัยที่ด้านนอกพระราชวังวินด์เซอร์และพระราชวังบักกิงแฮมภายหลังประกาศข่าวนี้ เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของราชวงศ์อังกฤษปิดทำการเหลือเพียงหน้าแรกของเว็บไซต์ที่เปลี่ยนเป็นภาพของเจ้าชายฟิลิปและคำประกาศเรื่องการสิ้นพระชนม์

    การสิ้นพระชนม์ของดยุคแห่งเอดินบะระเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของสมเด็จบรมพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ ซึ่งมีพระชนมพรรษา 94 พรรษา และเป็นองค์ประมุขที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของอังกฤษ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระราชินีเคยรับสั่งถึงพระราชสวามีที่ทรงอยู่เคียงข้างพระองค์มาตลอด 69 ปีแห่งการครองราชย์ว่า ทรงเป็นพลังและทรงค้ำจุนพระองค์มาโดยตลอด

    เจ้าชายเคยมีพระอาการประชวรและมีปัญหาเกี่ยวกับพระพลานามัยบ่อยครั้งในช่วงหลัง รวมถึงเคยผ่าตัดหัวใจและผ่าตัดสะโพก ทรงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เพื่อรักษาอาการเกี่ยวกับพระหทัยซึ่งเป็นพระโรคเดิมและการติดเชื้อ พระองค์ประทับที่โรงพยาบาล 4 สัปดาห์และเสด็จกลับพระราชวังวินด์เซอร์เมื่อต้นเดือนมีนาคม

    หลังจากปฏิบัติพระกรณียกิจมากมายโดยเสด็จฯ พร้อมกับพระราชินี และการเสด็จฯ เดี่ยวอีกมากกว่า 22,000 ครั้ง เจ้าชายฟิลิปทรงยุติการทรงงานสาธารณะในเดือนสิงหาคม 2560 แม้ว่าหลังจากนั้นจะทรงออกงานพระราชพิธีบ้างก็ตาม พระกรณียกิจครั้งสุดท้ายคือทรงร่วมพิธีของกองทัพที่พระราชวังวินด์เซอร์เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

    เจ้าชายฟิลิป ซึ่งสละฐานันดรจากราชวงศ์กรีก ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งเป็นพระยศในขณะนั้น ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ห้าปีก่อนที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสและพระธิดารวม 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ, เจ้าหญิงแอนน์, เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

แฟ้มภาพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุคแห่งเอดินบะระ ทรงโบกพระหัตถ์จากสีหบัญชรของพระราชวังบักกิงแฮม ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2496 (Photo by Keystone/Hulton Archive/Getty Images)

    ข่าวการสิ้นพระชนม์ก่อคำถามด้วยว่า สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษจะทรงพิจารณาเกี่ยวกับการสละราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ครองราชน์สืบต่อหรือไม่ แต่นักสังเกตการณ์หลายคนกล่าวว่า โอกาสที่จะสละราชย์นั้นน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย และช่วงหลายปีมานี้ สมเด็จพระราชินีทรงลดพระราชกรณียกิจลงโดยทรงมอบหมายให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, เจ้าชายวิลเลียม และสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นๆ เสด็จแทนพระองค์

    นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ กล่าวที่ด้านนอกสำนักงานนายกรัฐมนตรีเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ว่าอังกฤษและสหราชอาณาจักรขอบคุณต่อชีวิตและการทำงานที่ไม่ธรรมดาของเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ  พระองค์ทรงเป็นแรงดลใจแก่คนรุ่นหลังทั้งในอังกฤษ เครือจักรภพและทั่วโลก เริ่มแรกจากที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือแห่งอังกฤษ และการที่ทรงอยู่เคียงข้างสมเด็จพระราชินีเกือบ 8 ทศวรรษหลังจากนั้น

    ผู้นำและประมุขจากทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมแสดงความอาลัย ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และประเทศในเครือจักรภพ อาทิ ออสเตรเลีย, อินเดีย และนิวซีแลนด์

    แม้แต่ผู้นำไอร์แลนด์ ที่เมื่อปี 2554 เจ้าชายและสมเด็จพระราชินีเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษที่เสด็จเยือนเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปีหลังจากการเป็นศัตรูกันมาหลายชั่วคน นายกฯ ไมเคิล มาร์ติน แห่งไอร์แลนด์กล่าวว่า เขา "เศร้าใจ" กับการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชาย

    นายกฯ สกอต มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย กล่าวถึงเจ้าชายฟิลิปว่า ทรงเป็นตัวแทนของคนรุ่นที่พวกเราจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว พระองค์ทรงสนับสนุนสมเด็จพระราชินีมาโดยตลอดและเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรหลายสิบแห่งในออสเตรเลีย

    สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ แห่งสวีเดน ตรัสว่า ดยุคแห่งเอดินบะระทรงเป็น "พระสหายคนสำคัญของครอบครัวข้าพเจ้ามานานหลายปี เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับพวกเรา"

    ส่วนราชวงศ์เนเธอร์แลนด์กล่าวว่า ราชวงศ์รำลึกถึงเจ้าชายฟิลิปด้วยความเคารพอย่างสูง และว่าเจ้าชายทรงอุทิศชีวิตอันยาวนานเพื่อรับใช้ประชาชนชาวอังกฤษและพระกรณียกิจและความรับผิดชอบมากมาย บุคลิกที่มีชีวิตชีวาของพระองค์สร้างความประทับใจไม่ลืมเลือน

    ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสแสดงความอาลัยว่า เจ้าชายทรงใช้ชีวิตที่เป็นแบบอย่างที่นิยามโดยความกล้าหาญ สำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ และความมุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อเยาวชนและสิ่งแวดล้อม ส่วนนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี กล่าวว่ารู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่ง มิตรภาพของพระองค์กับเยอรมนี ความตรงไปตรงมาและสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ของพระองค์จะยังคงอยู่อย่างไม่มีวันลืม

    อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ กล่าวว่า เจ้าชายทรงเป็นตัวแทนของสหราชอาณาจักรอย่างสมพระเกียรติ พร้อมกับยกย่อง "ชีวิตที่น่าทึ่ง" ของพระองค์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"