กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

17 ธ.ค.2565 – เวลา 7.17 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสังฆทานพระราชอุทิศถวายแด่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษา โดยมีพระองค์เจ้าหญิง พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์มีพระเกียรติยศเสมอกัน จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2423 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ โดยเรือพระประเทียบล่มระหว่างโดยเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5

 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(ย่า) และทรงดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส  ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ 

ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขพระองค์ทรงสนับสนุนศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2431 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึง 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา พระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล และพระราชทานทุนส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาพระองค์ที่ 2 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย และตั้งกองทุนต่าง ๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ

ด้านการศึกษา  พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์เพื่อบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี  โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ในวันดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุม คอยส่งเสด็จในวาระสุดท้าย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายบังคม “สมเด็จย่า” อยู่ที่เบื้องปลายพระบาท สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น. สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555 ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม พร้อมกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกอีก 97 รายการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บวชสารเณร 270 รูป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ

1 เม.ย.2566 - พระธรรมวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2566  ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้วันที่ 2

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ทูตบาห์เรน เฝ้าฯ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

30 มี.ค.2566 - เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้นางภากมล รัตตเสรี

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

21 มี.ค.2566 - เวลา 14.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้า ฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในโอกาสวันคล้าย

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ

16 มี.ค.2566 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าฯ ดังนี้