กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติปี 64

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จแทนพระองค์พระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

4 ม.ค.2566 – เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นำศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 เฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ

ในการนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายรายงาน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือศิลปินแห่งชาติ และนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูลเบิกศิลปินแห่งชาติ เข้ารับพระราชทานโล่และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ตามลำดับดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นางวรรณี  ชัชวาลทิพากร(ภาพถ่าย ) ศาสตราจารย์ถาวร  โกอุดมวิทย์(ภาพพิมพ์) ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ  ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) นายมีชัย  แต้สุจริยา (ทอผ้า) สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางนันทพร  ศานติเกษม นายวิชชา  ลุนาชัย 

​สาขาศิลปะการแสดง  ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์ (โนรา) นายกำปั่น  นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช) นายไพฑูรย์  เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย – โขน ละคร) ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร (ดนตรีสากล – ประพันธ์เพลงคลาสสิก) นายสลา  คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล – ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) นายนพพล  โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร)  

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ทั้ง 12 คน คณะผู้เข้าเฝ้าฯ และมีพระราชปฏิสันถารกับศิลปินแห่งชาติรวมทั้งคณะผู้เข้าเฝ้าฯ ตามพระราชอัธยาศัย

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2528 เป็นต้นมา ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของศิลปินว่า เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างสรรค์ศิลปะอันงดงามไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน และเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบต่อกันมายาวนาน ปัจจุบันมีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 343 คน ในปีพุทธศักราช 2564  กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือกศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะอันล้ำค่า เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม และประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 12 คน

​ศิลปินแห่งชาตินอกจากจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติแล้ว ยังจะได้รับการสนับสนุนในการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะและสวัสดิการ ได้แก่ เงินค่าตอบแทน เดือนละ 25,000 บาท  ค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น      

          

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกวดการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติปี 65

21 เม.ย.2567 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร

กรมสมเด็จพระเทพพระราชทานพระราชวโรกาสให้ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม เฝ้าฯ

11 เม.ย.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายบุ่ย แทงห์ เซิน (Mr. Bui Thanh Son) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เฝ้า ฯ

รวมพลังศิลปินวาดภาพ'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

ศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทยรวมพลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเทิดพระเกียรติองค์’วิศิษฎศิลปิน’  ด้วยความน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา