'ไขปริศนา'หาสาเหตุ 'หมอหนุ่ม'เป็นมะเร็งปอดได้อย่างไร?

“ก๊าซเรดอนกับมะเร็งปอด เป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันมากว่า 10 ปีแล้วโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยก่อนคนอเมริกาจะเลือกซื้อบ้าน หลายคนจะขอดูตัวเลขค่าปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่บริเวณบ้านที่เขาจะซื้อก่อน”

18ม.ค.2566-เรื่องราวของแพทย์หนุ่มรายหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยในโลกโซเซียลว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจและหวาดวิตก และนึกไปถึงสาเหตุที่สงสัยว่าก่อโรคมะเร็งปอดให้กับแพทย์รายนี้  แม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าสาเหตุอับดับหนึ่งที่ทำให้เกิด “มะเร็งปอด” คือ “การสูบบุรี่” แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุของมะเร็งปอดที่เรารู้จักเพิ่มขึ้นก็คือ “ฝุ่นพิษ PM2.5” ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจกับการวัดคุณภาพอากาศ

แต่จริงๆแล้ว สาเหตุของมะเร็งปอดไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ หรือฝุ่นพิษPM2.5เท่านั้น แต่ยังมี “ก๊าซเรดอน”เหตุก่อโรคมะเร็งปอดที่มีมานานแล้ว และอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด แต่สังคมกลับรับรู้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้เอง
รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมจากภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก๊าซเรดอน”เป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่จัดได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดมะเร็งปอดโดยจัดเป็นสาเหตุอันดับสองรองจากบุหรี่ โดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยมะเร็ง International  Agency of Research on Cancer: IARC) แห่งองค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้สรุปเป็นเอกฉันท์ว่า เรดอนเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในมนุษย์ แต่น่าตกใจคือก๊าซเรดอนเป็นก๊าซที่สามารถพบได้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป!

รศ.นเรศร์ จันทร์ขาว

“ก๊าซเรดอนกับมะเร็งปอด เป็นเรื่องที่มีผู้ศึกษากันมากว่า 10 ปีแล้วโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยก่อนคนอเมริกาจะเลือกซื้อบ้าน หลายคนจะขอดูตัวเลขค่าปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่บริเวณบ้านที่เขาจะซื้อก่อน”รศ.นเรศร์ กล่าวเสริมอีกว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(Environmental Protection Agency หรือ EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ให้ข้อมูลความรู้และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับก๊าซเรดอนแก่ประชาชน ได้ออกมาเตือนให้ผู้คนตระหนักและระมัดระวังก๊าซเรดอนเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หนาวซึ่งเป็นช่วงที่อากาศปิด”รศ.นเรศร์กล่าว

ก๊าซเรดอนมาจากไหน รศ.นเรศร์ อธิบายว่า เราอาศัยอยู่บนโลกที่มีกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่ทั่วไป ส่วนใหญ่มนุษย์มีโอกาสได้รับรังสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น จากธาตุกัมมันตรังสีที่มีปะปนอยู่ทั่วไปใน หิน ดิน ทราย หรือแม้แต่ในร่างกายของตัวเราเอง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณรังสีทั้งหมดที่มนุษย์ได้รับ ที่เหลืออีกประมาณ 20%เป็นรังสีที่มนุษย์ผลิตขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นรังสีที่ถูกนำมาใช้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซ์เรย์อวัยวะต่างๆการฉายแสง กลืนแร่ หรือ ฝังแร่เพื่อรักษามะเร็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกส่วนใหญ่มีค่าครึ่งชีวิตสั้นทำให้เกิดการสลายตัวหายไปจนหมด มาจนถึงปัจจุบันแต่มีธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบางส่วนที่มีค่าครึ่งชีวิตยาวมาก จึงสามารถพบหลงเหลืออยู่และกระจายปะปนอยู่ทั่วไปในหิน ดิน ทราย แร่ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆที่ได้จากเปลือกโลก ซึ่งรวมไปถึงน้ำในแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน

ปริมาณก๊าซเรดิน เปลี่ยนแปลงตามระดับชั้นของอาคาร

“ธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นเองบนพื้นโลกที่ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน ได้แก่ธาตุกัมมันตรังสีที่อยู่ในอนุกรมยูเรเนียม-238 อนุกรมทอเรียม-232 และโพแทสเซียม-40ซึ่งก๊าซเรดอนเป็นหนึ่งในบรรดาธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานที่เกิดจากการสลายตัวของธาตุยูเรเนียมและทอเรียม และเนื่องจากเรดอนมีสถานะเป็นก๊าซจึงสามารถฟุ้งกระจายปะปนอยู่ในอากาศทั่วไปเมื่อมนุษย์นำทรัพยากรจากเปลือกโลก เช่น หิน ดิน ทราย มาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารบ้านเรือนวัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมา หากอาคารมีการระบายอากาศที่ไม่ดีจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสได้รับก๊าซเรดอนปริมาณมากเข้าไปสะสมในร่างกายและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้”

ก๊าซเรดอน อันตรายอย่างไร อาจารย์ ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายว่า ก๊าซเรดอน เป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีก๊าซนี้อยู่รอบๆ ตัวเราจึงไม่อาจรู้ได้เลยว่ากำลังหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปหรือไม่ เมื่อเราหายใจเอาก๊าซเรดอนเข้าไปเรดอนจะเกิดการสลายตัวให้รังสีแอลฟาและเกิดเป็นธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ขึ้น ซึ่งธาตุกัมมันตรังสีตัวใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสถานะเป็นของแข็งและสลายตัวให้ธาตุกัมมันตรังสีลูกหลานต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นธาตุตะกั่วซึ่งเป็นธาตุเสถียรและสะสมอยู่ในถุงลมปอดไม่สามารถกำจัดออกจากปอดได้เป็นผลให้เซลล์ที่ปอดจะได้รับอันตรายจากทั้งรังสีแอลฟาและพิษตะกั่วซึ่งจะนำไปสู่การทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้

ดร.รวิวรรณ กฤษณานุวัตร์

ดร.รวิวรรณ บอกอีกว่าที่อยู่อาศัยของเราก็มีก๊าซเรดอนอยู่ด้วย  โดยในดินในแต่ละบริเวณจะมีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกันไป ซึ่งดินจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีปริมาณของธาตุยูเรเนียมน้อยกว่าดินจากจังหวัดอื่น ดินที่พบว่ามีธาตุยูเรเนียมปะปนอยู่ในปริมาณสูงส่วนใหญ่ มักจะเป็นตัวอย่างดินจากบริเวณที่มีชั้นหินแข็งเป็นหินแกรนิตหรือมีวัตถุต้นกำเนิดดินที่สลายตัวผุพังมาจากหินแกรนิต นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าตะกอนโคลนจากแหล่งน้ำพุร้อนต่างๆ ก็มีธาตุเรเดียมปะปนอยู่ในปริมาณสูงด้วยเช่นกัน

ศ.ดร.สุพิชชา จันทรโยธา ธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯได้ศึกษาวิจัยและวิเคราะห์หาปริมาณธาตุกัมมันตรังสีในธรรมชาติในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในจังหวัดตัวแทนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐานทางรังสีของประเทศ นอกจากนี้ ยังนี้มีกรมทรัพยากรธรณีที่เคยจัดทำและเผยแพร่แผนที่ปริมาณยูเรเนียมและทอเรียมของประเทศไทยไว้อีกด้วย กล่าวว่า  แม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน ปริมาณก๊าซเรดอนที่ระดับพื้นดิน ใต้ดินหรือที่ระดับชั้นต่างกันของอาคาร ก็มีปริมาณที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะชั้นล่างของบ้าน อย่างชั้นใต้ดินและชั้น 1 มีแนวโน้มจะมีปริมาณก๊าซเรดอนมากที่สุด หากตามพื้นที่มีรอยแตก รอยต่อระหว่างท่อระบายน้ำ ท่อปะปา หรือพื้นที่ที่เจาะรูไว้อาจทำให้ก๊าซเรดอนสามารถแพร่แทรกเข้ามาได้


จากการทดลองวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่ห้องภาควิชาชั้น 1คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯของดร.รวิรรณ พบว่า หลังจากวัดค่าแล้ว ลองเปิดประตูหน้าต่าง และพัดลมดูดอากาศพบว่าปริมาณก๊าซเรดอนในห้องลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 และเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ลงไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่ห้องใต้ดิน พบว่า ค่าก๊าซเรดอนสูงขึ้นถึง 3 – 4 เท่าค่าปริมาณก๊าซเรดอนที่อยู่ในเกณฑ์อันตรายคือ 148 Bq/m3 ขึ้นไปซึ่งปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ยทั่วโลก ภายในอาคารจะอยู่ที่ 40 Bq/m3 ส่วนภายนอกอาคารจะมีค่าก๊าซเรดอนโดยเฉลี่ย 10 Bq/m3 ซึ่งในปัจจุบัน การวัดค่าปริมาณก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัย นิยมทำการวัด 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การวัดด้วยแผ่นฟิล์ม CR39 และ เครื่องวัดปริมาณก๊าซเรดอน RAD7

การวัดเรดอนอีกวิธีคือ การวัดด้วยแผ่นฟิล์ม CR39เป็นการวัดร่องรอยของอนุภาคแอลฟาซึ่งปลดปล่อยออกมาจากก๊าซเรดอนที่วิ่งชนแผ่นฟิล์ม โดยนำแผ่นCR39 ไปวางไว้บริเวณที่ต้องการตรวจทิ้งไว้ประมาณ 1-3 เดือน  แต่การตรวจโดยแผ่น CR39 ต้องใช้ระยะเวลารอผลนาน และต้องวิเคระห์โดยผู้เชี่ยวชาญ แต่มีข้อดีคือค่าใช้จ่ายต่ำ


อีกวิธีที่สามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอน ณ เวลานั้นได้เลย คือ การตรวจวัดด้วยเครื่อง RAD7เครื่องจะดูดอากาศและบอกปริมาณความเข้มข้นของก๊าซเรดอนได้ทันที เครื่อง RAD7 ยังสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนได้จากน้ำได้  น้ำที่มีก๊าซเรดอนสูงมักจะเป็นน้ำใต้ดิน เช่น น้ำบาดาล และ น้ำพุร้อน

การวัดก๊าซเรดอนด้วยเครื่อง RAD7

การป้องกันก๊าซเรดอนเข้าสู่ร่างกายก๊าซเรดอน รศ.นเรศร์ แนะนำดังนี้  ถ้าเราอยู่ในบริเวณที่ระบบอากาศเปิด ก๊าซเรดอนจะระบายและเจือจางออกไปเอง ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่โล่งจึงไม่ต้องกังวล ส่วนผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในอาคาร ควรเปิดหน้าต่างระบายอากาศอยู่เป็นประจำ  ห้องที่ปิดมิดชิดไว้นาน ก่อนเข้าไปควรเปิดระบบระบายอากาศก่อนและไม่ควรเข้าไปในห้องทันที  ในพื้นที่แคบๆ ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี หรือ ควรติดตั้งระบบระบายอากาศ ตัวอย่างในประเทศทางยุโรป มีกฎหมายให้ทุกบ้านต้องทำระบบระบายอากาศ โดยเฉพาะห้องใต้ดินเพราะเป็นห้องที่จะได้รับก๊าซเรดอนจากพื้นดินทุกด้าน

ส่วนชั้นที่สูงขึ้นปริมาณก๊าซเรดอนจะต่ำลง ก๊าซเรดอนสามารถซึมผ่านตามรอยแตกของบ้าน จึงต้องปิดรอยต่อรอยแตกให้มิดชิด พื้นต้องผนึกหรืออัดให้แน่นแม้จะเป็นคอนกรีต เทคอนกรีตทับรอยร้าว ส่วนผนังของบ้าน โอกาสที่ก๊าซเรดอนจะซึมผ่านเข้ามามีเปอร์เซ็นต์น้อย เพราะมีสีทาบ้าน ส่วนเครื่องฟอกอากาศควรเลือกที่มีถ่านกัมมันต์  Charcoal) และแผ่นกรองชนิดคุณภาพสูง (High Efficiency Particulate Air Filter; HEPA) จะช่วยจับไอระเหยและก๊าซเรดอนได้

ก๊าซเรดอน ที่ออกมาจากรอยแตกชั้นล่างสุดของบ้านเรือน

“ไม่อยากให้ตื่นกลัวเรื่องก๊าซแรดอนมากเกินไปก๊าซแรดอนเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดแต่การเกิดมะเร็งในปอดก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น การได้รับสารเคมีอันตรายชนิดอื่นๆการสูบบุหรี่ และ ความทนทานหรือการปรับตัวได้ของเซลล์ร่างการของเราซึ่งมนุษย์ทุกคนมีเซลล์มะเร็งแอบแฝงอยู่แล้วขึ้นกับว่าเราดูแลมากน้อยขนาดไหน”รศ.นเรศร์กล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายอีกว่า ถ้าบ้านไหนมีคนเป็นมะเร็งปอด และอยู่ห้องชั้นล่างหรือห้องใต้ดิน อยู่ในที่อับอากาศอากาศไม่ถ่ายเท และเปิดแอร์ทั้งวัน อาจจะให้หน่วยงานเข้าไปวัดค่าก๊าซเรดอนที่บ้านโดยภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนแบบครบวงจรได้ สนใจติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่ โทร.0-2218-6781 หรือEmail: [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ห่วงปัญหาฝุ่น PM2.5 ชี้ภาคเหนือพบโรคมะเร็งปอดรายใหม่วันละ 7 ราย

กรมการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์โรคมะเร็งปอดในภาคเหนือ พบภาคเหนือมีอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่นๆ จากหลายปัจจัยสาเหตุ

'แชมป์ ชนาธิป' ไม่ไหวอีกต่อไป ลูกหนี้เบี้ยวหายเงียบทำพ่อทรุดหนัก

แชมป์-ชนาธิป โพธิ์ทองคำ โพสต์ชี้แจงเรื่องอาการป่วยมะเร็งปอดของคุณพ่อ และเรื่องการทวงเงินที่เคยเป็นประเด็นเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งลูกหนี้ให้สัญญาว่าจะคืนเงินก่อนขึ้นศาลนัดแรกแต่กลับไร้วี่แวว และตนจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อนำมารักษาคุณพ่อ

'หมอชูชัย' ยกเหตุสูญเสีย 'หมอกฤตไท' จี้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสภา

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข 2022 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ( Health Impact Assessment หรือ HIA) กล่าวแสดงความอาลัยต่อการจากไปจากของคุณหมอกฤตไท