‘ฟ้อนเมืองปูจาพญามังราย’ Soft Power รูปแบบใหม่

อ่อนช้อยงดงามเป็นเอกลักษณ์สำหรับการจัดแสดง “ฟ้อนเมืองเชียงราย” บวงสรวงพญามังรายมหาราช ในโอกาสครบรอบสถาปนาเมืองเชียงรายครบ 761 ปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดีเทิดพระเกียรติพญามังราย ผู้ทรงสถาปนาเมืองเชียงราย 

การแสดงครั้งนี้แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีกรณ์   ศิลปินแห่งชาติที่มีชื่อเสียงอย่างมากในวงการศิลปะการแสดงพื้นเมืองเชียงราย นำช่างฟ้อนแต่งกายด้วยชุดล้านนาสีม่วงเชียงรายกว่า 1,000 ชีวิต ฟ้อนบวงสรวงถวายสักการะพญามังรายมหาราชอย่างพร้อมเพรียง เป็นการฟ้อนเล็บที่ยิ่งใหญ่ ตระการตาสุดๆ ในพิธีบวงสรวง เผยแพร่ศิลปะการฟ้อนพื้นบ้านล้านนาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย  ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 26 ม.ค. 2566 ณ บริเวณถนนรอบอนุสาวรีย์พญามังรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย ท่ามกลางความสนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก  

ทั้งนี้ ก่อนวันงานบวงสรวง นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ นางบัวเรียว รัตนมณีกรณ์  ศิลปินแห่งชาติ  พ.ศ.  2559  สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พร้อมติดตามภารกิจโครงการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นเมืองเชียงราย ครั้งที่ 7  ณ ศูนย์เรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านบ้านลา ม่อนม่วนใจ๋ ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย ซึ่งมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชน ตลอดจนลูกศิษย์แม่ครู สนใจร่วมอบรม ซึ่งผู้ร่วมอบรมจำนวนหนึ่งได้ร่วมฟ้อนบวงสรวงพญามังรายมหาราชปีนี้ด้วย

นายโกวิท ผกามาศ กล่าวว่า สวธ.ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะเป็นสมบัติชาติและเอกลักษณ์วัฒนธรรม ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ 343 คน มีศิลปินแห่งชาติ 170 คน ที่ยังมีชีวิต ในภาคเหนือ แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ เป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นช่างฟ้อนที่สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องและถ่ายทอดองค์ความรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้แก่ผู้ที่สนใจ ลูกศิษย์แม่ครูรุ่นแล้วรุ่นเล่าคือผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง สวธ.โดยกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมได้ร่วมกับแม่ครูบัวเรียว จัดโครงการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นเมืองเชียงราย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะการแสดงสายสกุลช่างฟ้อนแม่ครูบัวเรียว  และเพิ่มศักยภาพการแสดงศิลปวัฒนธรรม ขณะเดียวกันศิลปินแห่งชาติแม่ครูบัวเรียวรับหน้าที่ฝึกสอนช่างฟ้อน ตลอดเป็นผู้นำฟ้อนบวงสรวงพญามังรายช่วงเช้าและเย็นปีนี้อีกด้วย

“ เป็นครั้งแรกที่มีการฟ้อนเล็บถวายพญามังรายกว่าพันคน โดยศิลปินแห่งชาติเป็นผู้ฝึกสอนและนำฟ้อน ถือเป็นนาฏกรรมชุมชน คณะช่างฟ้อนจาก 18 อำเภอ ร่วมฟ้อนถวายกษัตริย์ผู้สร้างเมือง ถือเป็น Soft Power ท้องถิ่น แสดงศักยภาพของวัฒนธรรมพื้นบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมิติต่างๆ  สร้างรายได้เข้าท้องถิ่น สร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยว  สวธ.มีแนวคิดจะส่งเสริมนาฏกรรมชุมชนให้เกิดขึ้นแต่ละจังหวัด  อย่าง จ.นครราชสีมา เตรียมจัดพิธีรำบวงสรวงและสดุดีท้าวสุนารี หรือย่าโม จะมีนางรำร่วมกว่า 1.5 หมื่นคน เราจะมาร่วมสร้างนาฏกรรมชุมชนแต่ละท้องถิ่น   “ อธิบดี สวธ.กล่าว

ด้าน แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีกรณ์   กล่าวว่า ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาแห่งนี้ใช้เผยแพร่ศิลปะการแสดงพื้นเมืองล้านนาอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการทำโครงการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาที่ สวธ. สนับสนุนปีนี้  จัดอบรมฟ้อนสาวไหม ฟ้อนเล็บ ฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ผู้ร่วมอบรมรวม 220 คน และจะทำงานสืบสานวัฒนธรรมตลอดไป 

“ แม่และลูกศิษย์ถ่ายทอดความรู้ศิลปะพื้นบ้านล้านนา  ปลื้มใจที่คนรุ่นหลังสืบทอด  แสดงถึงการยอมรับของคนในสังคม ส่งลูกหลานมาเรียน โดยเฉพาะฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม ที่มีลีลาฟ้อนอ่อนช้อย เคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา ช่วงโควิดก็ไม่หยุด สอนผ่านระบบออนไลน์ หลังโควิดคลี่คลายศูนย์แห่งนี้เปิดอบรมตามปกติ เด็กๆ ที่ร่วมอบรมโครงการนี้ได้คัดเลือกให้ร่วมฟ้อนเมืองบวงสรวงพญามังราย ส่วนช่างฟ้อนในชุมขนซึ่งมีพื้นฐาน แม่ใช้สื่อออนไลน์เพื่อสอนทบทวน พิธีนี้มีความสำคัญแสดงถึงพลังศรัทธาของชาวเชียงรายที่มีต่อพ่อพญามังรายที่สร้างบ้านแปลงเมืองจนบัดนี้ครบ 761 ปีแล้ว  และแสดงความสมานสามัคคีของคนในจังหวัด  “ แม่ครูบัวเรียว กล่าวด้วยความภูมิใจ

นางสาวพนัสนันท์ วงค์ยาง นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า  ซึ่งเข้าอบรมโครงการฯ และร่วมการแสดงฟ้อนเมืองไหว้สาปูจาพญามังรายในวันจริง กล่าวว่า เรียนฟ้อนตั้งแต่อายุ 4 ปี จากลูกศิษย์แม่ครูบัวเรียว ต่อมามีโอกาสรับความรู้จากแม่ครูศิลปินแห่งชาติที่มีชื่อเสียง ท่านใจดี มีเมตตา สอนจนเราฟ้อนเก่ง  ภูมิใจได้สืบสานเอกลักษณ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านเชียงราย  ส่วนอบรมครั้งนี้เลือกฐานฟ้อนดาบฟ้อนเจิง เพราะอยากเพิ่มทักษะศิลปะการแสดงด้านนี้

“ เราได้เรียนรู้การฟ้อนเล็บ ซึ่งต้นฉบับมาจากแม่ครูบัวเรียว วันจริงหนูและช่างฟ้อนทั้งหมดฟ้อนด้วยท่วงท่าที่เป็นเอกลักษณ์ เผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาอย่างถูกต้อง  อนาคตอยากเป็นศิลปินนาฏศิลป์ “ ช่างฟ้อนวัย 16 ปี เผยดีใจเป็นส่วนหนึ่งการแสดงครั้งประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย

สำหรับการฟ้อนเมืองเชียงรายจะเป็นตัวอย่าง ทำให้เห็นว่า การรวมพลังขับเคลื่อน Soft Power ท้องถิ่นอย่างจริงจังเกิดประโยชน์กับชุมชนและประเทศมากกว่าที่คิด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุ้น'ต้มยำกุ้ง'ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม

3 ธ.ค.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จะประชุมพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนอาหาร “ต้มยำกุ้ง” ของประเทศไทย และชุด “เคบายา” เสนอโดยสิงคโปร์ ร่วมกับไทย มาเลเซีย อินโ

พระราชทานเพลิงศพ 'ชรินทร์ นันทนาคร'

งานพระราชทานเพลิงศพ ชรินทร์ นันทนาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ที่จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา ในวัย 91 ปี เมื่อช่วงวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา จัดขึ้น ณ วัดธาตุทอง พระอารามหลวง เขตวัฒนา กรุงเทพ

ผลงาน'ตรี อภิรุม' ราชานิยายลึกลับสยองขวัญ

21 พ.ย.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) พุทธศักราช 2562  นามปากกา “ตรี อภิรุม” หรือ “นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา” เจ้าของผลงาน “นาคี”