เปลี่ยน’ที่ร้าง’ทำสวน คืนชีวิตให้เมือง

ที่ดินทิ้งร้างในกรุงเทพฯ มีหลายแสนไร่กระจายทั่วทุกเขต   ตั้งแต่ลานกีฬา พื้นที่ริมคลอง  ที่รกร้างใต้โครงสร้างทางยกระดับในย่านกลางเมือง พื้นที่เหลือจากการพัฒนา  หรือแม้แต่สวนตามชุมชน  ที่ร้างๆ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ นำมาสู่ความไม่ปลอดภัย เป็นแหล่งมั่วสุม มุมอับ และสร้างภูมิทัศน์ที่ไม่สวยงามให้กับเมือง

การผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างที่มีศักยภาพให้เป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ผลิตอาหาร หรือพื้นที่ศิลปะ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทำ เพื่อส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิต เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และเกิดระบบนิเวศเมืองที่เป็นมิตรกับคนและสิ่งแวดล้อม

สวนจักรพรรดิ์ ชุมชนนางเลิ้ง พัฒนาสู่พื้นที่สีเขียวของชุมชน 

มีการแก้ปัญหาที่ร้างในเมืองที่นานวันมีแต่จะทรุดโทรมผ่านแพลตฟอร์ม  we! park ที่ทำงานพัฒนาเมืองร่วมกับกรุงเทพมหานคร เห็นโอกาสจากพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาปรับเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว ประกอบกับโอกาสจากการกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ ที่เรียกเก็บภาษีในอัตราถึงร้อยละ 0.3 ในพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทุก 3 ปี บังคับใช้กลางปี 2563 ที่ผ่านมา นำมาสู่การออกแบบพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก (Pocket Park) ขนาดไม่เกิน 2 ไร่ ที่เพิ่มการเข้าถึงสวนสีเขียวในระยะ 400 เมตร หรือในระยะเวลา 10-15 นาทีได้อย่างทั่วถึง สอดรับกับเป้าหมาย Green Bangkok 2030 ที่ กทม.ทำงานอยู่

สวนป่าเอกมัย ย่านทองหล่อ-เอกมัย หนึ่งในพื้นที่ร้างกลางกรุง

แน่นอนว่าการชุบชีวิตพื้นที่ร้างให้เกิดพื้นที่ที่เกิดคุณภาพชีวิตสำหรับคนเมืองต้องอาศัยแรงกายและแรงใจ  ซึ่งทุกคนร่วมเปลี่ยนเมืองได้ ล่าสุด  we! park และ กทม.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายสถาปนิกและนักพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็น Shma Shma SoEn กลุ่มสนใจ กลุ่มปั้นเมือง กลุ่ม Ari Around Studio Dialogue รวมถึงภาคการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชุมชน ชวนคนกรุงมาเติมเต็มที่ร้างเป็นพื้นที่สีเขียวแทนที่จะปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้ ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2023 ที่จะถึงนี้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-12 ก.พ.นี้ ในคอนเซปต์ ‘Green Hacker จู่โจมพื้นที่ร้างเปลี่ยนเมือง’

พื้นที่คลองเป้ง ทองหล่อซอย 10 พัฒนาทางเดินให้มีชีวิต 

ตอนนี้ Green Hacker มีแผนจะเข้าไปจู่โจมพื้นที่ร้างในย่านสำคัญของกรุงเทพฯ  5 แห่ง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในย่าน ประกอบด้วย  1.สวนจักรพรรดิ์ – ย่านนางเลิ้ง กิจกรรม Hack พื้นที่ จะปรับพื้นที่ร้างเป็นพื้นที่ใช้งานและลานกีฬาของชุมชนนางเลิ้ง รวมถึงร่วมกันปลูกต้นไม้ในสวน วันที่ 1 ก.พ. เวลา 13.00-18.00 น. และมีกิจกรรมเสวนาความร่วมมือการปรับพื้นที่ของเครือข่ายในย่าน และ IKEA  วันที่ 5 ก.พ. เวลา 15.00-16.00 น.

2.คลองเป้ง – เอกมัยซอย 10 – ย่านทองหล่อ-เอกมัย กิจกรรม Hack พื้นที่ ปรับทัศนียภาพทางเดินริมคลองเป้งด้วยการเป็นพื้นที่สวนพักผ่อน และทำ Wayfinding กระตุ้นคนเข้ามาใช้งานในพื้นที่  วันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00-12.00 น. นอกจากนี้ จะจัดกิจกรรมนำเสนอผลงาน Mockup ในจุดต่างๆ และงานเสวนาวงคุย Hackable City วันที่ 11 ก.พ. เวลา 10.00-16.00 น.

ลานกีฬาริมเจ้าพระยา พื้นที่โบสถ์กาลหว่าร์ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อยพัฒนาให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

3.ลานกีฬาริมน้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่โบสถ์กาลหว่าร์ – ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย จัดงานเปิดนิทรรศการ Green Hacker โดยกลุ่ม we park และ กทม. พร้อมกิจกรรม Hack พื้นที่ร่วมกันทาสีลานกีฬา กับนักเรียนโรงเรียนกุหลาบวิทยาลัย และปลูกต้นไม้ วันที่ 3 ก.พ. เวลา 10.00-16.00 น. ตามแผนจะทำต่อเนื่องถึงวันที่ 4 ก.พ. เวลา 10.00-12.00 น.  มีกิจกรรม Bangkok Sketchers วาดภาพริมน้ำ พร้อมฟังสตอรี่ความเป็นมาของโบสถ์กาลหว่าร์ 

4.สวนป่าเอกมัย – ย่านทองหล่อ-เอกมัย เป็นกิจกรรมทาสีบริเวณทางเดินและกำแพงทางเข้าสวนป่าเอกมัย เพื่อปรับทัศนยภาพและเพิ่มความปลอดภัย วันที่ 12 ก.พ. เวลา 10.00-16.00 น.

5.พื้นที่ชุมน้ำประดิพัทธ์ 19 – ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ชวนร่วมกิจกรรม Ecowalk เดินสำรวจธรรมชาติในย่านอารีย์ประดิพัทธ์ และ Hack พื้นที่โดยการโปรยเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยจากต้นคริสมาส

พื้นที่ชุ่มน้ำรกร้างขนาดใหญ่ประดิพัทธ์19 ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม we! Park กล่าวว่า ที่ร้างในเมืองมีเยอะ  บางคนไม่คิดที่ว่างจะสร้างประโยชน์ได้ทั้งที่พื้นที่มีศักยภาพ ที่ร้างหลายแห่งเข้าถึงได้ง่าย ช่วง Bangkok Design Week 2023 จะเปิด 5 พื้นที่ทดลองการปรับเปลี่ยนที่ร้างเป็นสวน ก่อนจะเปลี่ยนโฉมอย่างจริงจัง โดยจะเก็บข้อมูล สอบถามความเห็น และนำข้อมูลไปสู่การพัฒนาระยะต่อไป ข้อดีนอกจากดึงความร่วมมือคนในชุมชนแล้ว ยังเชื่อมคนภายนอกที่มาร่วมเทศกาลออกแบบร่วมกันพัฒนาเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว

“ การเปลี่ยนที่ร้างไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง ปลูกต้นไม้ หรือปลูกหญ้าแล้วจบ แต่เป็นการลงทุนตั้งแต่กระบวนการสำรวจความคิดเห็นคนในย่าน พัฒนาคนไปด้วยระหว่างทำสวนสีเขียว ทำอย่างไรจะกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่  และจะใช้ประโยชน์อย่างไรต่อไป เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ ดูแลความปลอดภัย มีการบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน มีการจัดกิจกรรมสำหรับชุมชนนั้นๆ  เมื่อพื้นที่ว่างเปล่ากลับมามีชีวิตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย “ยศพล กล่าว

ปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มสีสันให้กับพื้นที่

ยกตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำประดิพัทธ์ ยศพลเล่าว่า เป็นที่ร้างของหน่วยงานรัฐรอการพัฒนา ในพื้นที่มีพรรณไม้และสิ่งมีชีวิตทั้งนกและแมลงอาศัย ในแผนจู่โจมพื้นที่ร้างที่จะเกิดขึ้น จะพาเดินสำรวจธรรมชาติเพื่อให้คนตระหนักความสำคัญของพื้นที่ร้างที่เกิดประโยชน์ต่อเมืองในมิติสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งซับน้ำ  ช่วยบรรเทาน้ำท่วม ดีกว่าต้องโค่นต้นไม้ในที่รกร้างหรือพัฒนาใช้ประโยชน์ไปเสียหมด

ส่วนที่ร้างริมคลองเป้ง เขาระบุที่ร้างนี้มีพื้นที่เชื่อมต่อต้นไม้เดิม หากมาช่วยกันแฮกพื้นที่ ปลูกต้นไม้ตลอดแนวคลอง จะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทางยาวกรองฝุ่น  ลดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ของ กทม.ได้ ซึ่งในทุกๆที่ อย่างพื้นที่ร้างนางเลิ้งจะขยายปลูกสวนแนวตั้ง ยิ่งมีพื้นที่สีเขียวมาก กระจายรอบกรุงเทพฯ ช่วยบรรเทามลพิษอากาศของเมืองใหญ่ ทำให้สุขภาพของคนกรุงดีขึ้น

“ ตอนนี้คนสนใจทำพื้นที่สีเขียวสาธารณะมากขึ้น อยากมีส่วนร่วม และเกิดความตระหนักให้ความสำคัญสวนใกล้บ้านจากที่เคยมองข้าม  เอกชนก็ยินดีลงทุนสนับสนุน และร่วมพัฒนาพื้นที่ด้วย ในชุมชนมีทางเดิน มีต้มไม้ร่มรื่น  มีสวน ทำให้น่าอยู่ ก็อยากร่วมมือด้วย  ภาครัฐก็มีนโยบายชัดเจน อย่างนโยบายสวน 15 นาที ช่วยให้คนเมืองเข้าถึงพื้นสีเขียวในละแวกบ้าน อนาคตคนกรุงจะสามารถเดินถึงพื้นที่สีเขียวเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีช่องว่างต้องทำให้เป็นระบบ บูรณาการทำงานร่วมกัน เราจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป “ ยศพลชวนทุกคนมาช่วยปรับเปลี่ยนมหานครแห่งนี้ให้ดีขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘พื้นที่สีเขียว’กทม.ตามมาตรฐานโลก ทำได้หรือขายฝัน

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานโลก เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องแก้ไข  ขณะที่นโยบายกรุงเทพสีเขียว ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น  และนโยบาย“กรุงเทพ 15 นาที” สร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วกรุงเทพให้ประชาชนเดินทางถึงภายใน 15 นาที