บทบาทผอ.โรงเรียน 'กล่องดำ' สานฝัน 'ปฎิรูปการศึกษา'

ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้อำนวยการโรงเรียน

คำว่า"ปฎิรูปการศึกษา"เป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายปี หลังการยึดอำนาจของคสช.มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการปฎิรูปการศึกษาขึ้น เพื่อกำหนดแผนและแนวทางว่าประเทศไทยจะต้องดำเนินการปฎิรูปการศึกษาในรูปแบบไหน อย่างไร แต่วันเวลาผ่านไปหลายปี จนรัฐบาลชุดปัจจุบันใกล้ครบวาระ และกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเร็วๆนี้ แต่การปฎิรูปการศึกษาที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักการพัฒนาประเทศ  กลับยังไม่บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมทางใดทางหนึ่ง  
ล่าสุด ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย ได้เขียนบทความเรื่อง"จะปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องให้ ผอ. โรงเรียนเป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยงนโยบายรัฐสู่เด็ก"โดยมีเนื้อหาดังนี้

 กล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจดูแลหลักสูตรการศึกษา ได้ให้อิสระกับโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และกลายเป็นหัวใจหลักของการปฏิรูปการศึกษาไทย ยังเป็นดัง “ภาพฝัน” เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงภาครัฐยังคงต้องดิ้นรนแสวงหาความมุ่งมั่นทางนโยบายการเมืองและงบประมาณก้อนใหญ่มาใช้เพื่อคงไว้ซึ่งคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงปรากฏชัด ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่อยู่ในส่วนกลาง และโรงเรียนยังคงเน้นการเรียนการสอนแบบท่องจำ  

เด็กต้องการให่้ผอ.รร.อยู่กับโรงเรียนมากขึ้น

มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (DFAT) เชื่อมั่นว่าการปฏิรูปการศึกษาเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะกับดักรายได้ปานกลาง การให้อำนาจและอิสระกับโรงเรียนจัดทำหลักสูตรที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของเด็กจะช่วยพัฒนาเด็กไทยและประเทศไทยได้มากกว่า

“ผู้อำนวยการโรงเรียน” หรือ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” จึงมีบทบาทสำคัญ เป็นดัง “กล่องดำทางการศึกษา” หรือ “ตัวกลาง” ระหว่างความต้องการปฏิรูปการศึกษาของภาครัฐ ต้อง “รับ” และ “ตีความ” นโยบาย และ “แปลง” “ถ่ายทอด” เป็นแผนปฏิบัติการสำหรับจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน ผู้อำนวยการที่ “ประสบความสำเร็จ” จะต้องสามารถปรับแก้ไขและเสริมสร้างกระบวนการเรียนการสอนให้ได้ตามเป้าหมายการศึกษาของชาติและสอดรับกับความต้องการเรียนรู้ของเด็ก เรียกได้ว่าจะต้องมีบทบาทเป็น “ผู้นำทางวิชาการ” ตามทฤษฎีตั้งแต่ช่วงปี 2523 โดยศาสตราจารย์ ดร.ฟิลิป ฮาลิงเจอร์ (Professor Philip Hallinger) นักการศึกษาและที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการวิจัย มูลนิธิเอเชีย ซึ่งต่อมาอีกราว 40 ปี ความคาดหวังให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาจะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำทางวิชาการนี้จึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

เด็กให้ความสำคัญกับผู้อำนวยการโรงเรียนเทียบเท่าพ่อแม่

ความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้อำนวยการโรงเรียนเกิดขึ้นได้ ด้วยการกำหนดทิศทางของโรงเรียน จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ผู้นำทางวิชาการจะต้องกำหนดทิศทางวัฒนธรรมของโรงเรียน จัดระเบียบการดำเนินงาน และกำกับติดตามให้ความช่วยเหลือการศึกษาของเด็กให้มีความก้าวหน้า รวมทั้งปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความสำเร็จ โดยยึดถือให้ความต้องการเรียนรู้ของเด็กเป็นศูนย์กลาง

 จากโครงการวิจัยของมูลนิธิเอเชีย เรื่อง “จากความท้าทาย สู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ” ที่มุ่งทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นผู้นำทางวิชาการและความสำเร็จของนักเรียน พบว่าโครงสร้างที่ฝังแน่นในระบบการศึกษาเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการปฏิรูปการศึกษาไทย ทั้งการรวมศูนย์อำนาจที่ชัดเจน ทรัพยากรทางการศึกษาที่ถูกจำกัด รวมถึงแนวความคิดที่ผิดพลาดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ มูลนิธิเอเชีย จึงเผยแพร่ผลการวิจัยนี้ออกสู่สาธารณชน ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิอานันทมหิดล และบริษัท อสมท (จำกัด) มหาชน ผ่านโครงการรณรงค์ “โรงเรียนดีมีทุกที่” เพื่อแสวงหาและนำเสนอ “ตัวอย่างผู้นำทางวิชาการ” จากโรงเรียนทั่วประเทศ ในรูปแบบสารคดีการศึกษา ออกอากาศผ่านทางรายการ “1 ในพระราชดำริ” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ในช่วงค่ำคืนวันอาทิตย์ต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี 2565

ผอ. โรงเรียนจะต้องเป็นตัวกลาง เชื่อมโยงนโยบายรัฐสู่เด็ก

สารคดีนี้ช่วยผลักดันให้เกิดการทบทวนถึงบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนอย่างรอบด้าน มูลนิธิเอเชีย เห็นสมควรจะนำ “เสียงสะท้อน” หรือ “ความคิดเห็น” โดยตรงจากเด็กนักเรียนมาร่วมพิจารณาด้วย จึงประสานความร่วมมือกับสถานทูตออสเตรเลียและสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการประกวดเรียงความภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา ในหัวข้อ “ครูใหญ่ในใจเรา” ขึ้น ทำให้ได้รับเรียงความกว่า 3,300 ฉบับ จากเกือบ 270 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่สามารถสรุปได้เป็น “5 สิ่งที่เด็กนักเรียนไทยอยากได้ จากผู้อำนวยการโรงเรียน” นั่นคือ

1. เด็กให้ความสำคัญกับผู้อำนวยการโรงเรียนเทียบเท่าพ่อแม่ เห็นว่า ผู้อำนวยการเป็นดัง “พ่อแม่คนที่สอง” และยกย่องให้โรงเรียนเป็น “บ้านหลังที่สอง” พบตัวอย่างการเปรียบเทียบระหว่างความรักในแบบพ่อแม่และผู้อำนวยการสถานศึกษา เช่น ใจดี ใจกว้าง มอบความรัก มองโลกแง่บวก จริงใจ อ่อนโยน มาหานักเรียนด้วยสายตาอ่อนโยนดังสายตาของแม่ที่มองลูก สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่เด็ก ความเปรียบที่เกิดขึ้นนี้มีลักษณะเฉพาะในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย แตกต่างจากงานวิจัยระดับนานาชาติ

ผู้อำนวยการ จากโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ 02

2. เด็กต้องการให้ผู้อำนวยการใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนนานมากขึ้น นักเรียนจะประทับใจมากหากผู้อำนวยการยืนต้อนรับพวกเขา หน้าประตูโรงเรียนในยามเช้า ก่อนเข้าเรียนและเดินตรวจตรารอบโรงเรียน มีเวลาปรับปรุงแก้ไขสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน บริหารจัดการและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ตกแต่งห้องเรียนและปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ผู้อำนวยการที่เข้างานเช้า อยู่โรงเรียนนาน ร่วมกิจกรรมต่างๆ ย่อมได้รับความรัก ความประทับใจ

3. ผู้อำนวยการจะต้องมีวิสัยทัศน์และเป็นแบบอย่างให้แก่ครูในโรงเรียน สมฐานะ “กัปตัน” คือหัวหน้าหรือผู้นำโรงเรียน นักเรียนเห็นว่าผู้อำนวยการเป็นดัง “หัวหน้าครู” สามารถแนะแนวและให้คำปรึกษาด้านการสอนแก่คณะครูได้ นอกจากนั้น ผู้อำนวยการจะต้องปฏิบัติตน “เป็นแบบอย่าง” ในฐานะผู้นำ จะต้องทำงานหนัก มีวินัย อดทนอดกลั้น เก่งรอบด้าน และทันสมัย จะต้องนำพาบุคลากรในโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียนได้ ตัวอย่างเช่น

“ครูใหญ่เปรียบเสมือน “นายท้ายเรือ” ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมเรือให้แล่นไปตามทิศทาง ไม่ให้ออกนอกลู่ทางตามกระแสน้ำแต่จะคอยควบคุมเรือให้แล่นไปข้างหน้าอย่างสง่างามและปลอดภัย” (จาก ด.ญ.พิชญา สาผิว โรงเรียนบ้านแพงพิทยาคม)

ผู้อำนวยการจะต้องมีวิสัยทัศน์และเป็นแบบอย่างให้แก่ครูในโรงเรียน

4. ผู้อำนวยการจะต้องสร้างโอกาส ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน พบความกระตือรือร้นของเด็กในการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ๆ นอกเหนือไปจากกิจกรรมตามหลักสูตรการศึกษาปกติ
"ผอ.โรงเรียน ต้องมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและให้การสนับสนุนในกิจกรรมทุกด้านที่นักเรียนสนใจ และมีความสามารถในด้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านศิลปะ หรือแม้แต่กิจกรรมอาสา ควรสนับสนุนทุกสิ่งที่นักเรียนสนใจและมีความสามารถในด้านนั้น เพราะมิได้ส่งผลดีต่อนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลประทบให้สถานศึกษานั้นเป็นสถานศึกษาที่มีนักเรียนที่เก่งและมีคุณภาพ” (จาก น.ส.วรรณวิษา ส่วยหาญ โรงเรียนขามแก่นนคร)

5. เด็กต้องการให้ผู้อำนวยการมีความยุติธรรม ไร้อคติ ช่วยยุติความรุนแรงและการกลั่นแกล้ง (Bullying) ภายในโรงเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นปัญหาสำคัญ ผู้อำนวยการเป็นผู้นำในการเคารพสิทธิ สร้างความเข้าใจ ยอมรับในความแตกต่างและมีมนุษยธรรมต่อกันภายในโรงเรียน ผู้อำนวยการต้องเป็นกลาง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของเด็ก สนับสนุน สร้างความมั่นใจให้เด็กทุกคนเชื่อมั่นและ “เป็น” ตนเอง อีกทั้งยังต้องปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส ให้ความเท่าเทียม และเป็นประชาธิปไตย รับผิดชอบและอุทิศตนเพื่อโรงเรียน ตัวอย่างเช่น

“ครูใหญ่ในใจของฉันคงเป็นคนที่เข้าถึงง่าย ไม่ยึดถือในตำแหน่งสูงๆ ของตนเอง ทำให้นักเรียนกล้าที่จะเข้าหาและพูดคุยด้วย ก็ได้แค่ยอมรับฟังในทุกๆความแตกต่างชองนักเรียนไม่ว่านักเรียนจะเป็นใคร เพศไหน ฐานะใดก็ตาม…ท่านไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกๆ คน แค่ท่านรับฟังและนำไปพิจารณา ก็เพียงพอแล้ว” (จาก น.ส.มนัสนันท์ ขานด่อน โรงเรียนสารคามพิทยาคม)

ข้อนี้แสดงให้เห็นความคาดหวังว่าผู้อำนวยการจะเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในความแตกต่างหลากหลาย พวกเขาต้องการการดูแลเอาใจใส่ด้วยความเท่าเทียมและเคารพในความต่างของเพศสภาพ ศาสนา เชื้อชาติ ชนชั้น และ “ตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์” ของแต่ละบุคคล ผู้อำนวยการสถานศึกษาจึงควรเป็นผู้นำในการแสดงถึงการเคารพ และความเข้าใจในอัตลักษณ์และเสรีภาพของเด็ก นอกจากนั้น นักเรียนยังคาดหวังให้ผู้อำนวยการรับฟังปัญหาความทุกข์ของพวกเขา และเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นในโรงเรียน

คณะผู้ทำการวิจัยฯ กับผู้บริหารสถานศึกษา

เสียงความคิดความต้องการของเด็กๆ ทั้ง 5 ข้อนี้ดังชัดเจน สะท้อนถึงผู้อำนวยการ “ในฝัน” “ในอุดมคติ” ที่จะเป็นพลังสำคัญในโรงเรียนและในชีวิตของพวกเขา แต่การจะไปถึงฝั่งฝันนั้นกลับถูกขัดขวางด้วยหลายปัจจัย เช่น การขาดแคลนงบประมาณ แม้กระทั่งสำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนตามปกติ และโอกาสในการไต่เต้าเลื่อนขั้นทางวิชาชีพ บีบให้ผู้อำนวยการจำเป็นต้องใช้ความพยายามและเวลานอกโรงเรียนในการสร้างเครือข่ายระดมทุน พรากเวลาที่ผู้อำนวยการควรจะใช้พัฒนาโรงเรียนไปอย่างน่าเสียดาย

"ผลการศึกษานี้จึงช่วยให้เห็นภาพสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย เด็กต้องการมีผู้อำนวยการที่ยุติธรรม มีภาวะผู้นำทางวิชาการ เป็นผู้นำโรงเรียน และสร้างพื้นที่สำหรับแสวงหาความรู้มากยิ่งขึ้น กลายเป็นความท้าทายของเหล่าผู้กำหนดนโยบายการศึกษาที่จะต้องทำความปรารถนาเหล่านี้ให้เป็นจริง ภาครัฐจะทำอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้? จะทำอย่างไรเพื่อกำกับดูแลโครงสร้างที่สนับสนุนให้เกิดภาวะผู้นำทางวิชาการ และจะทำอย่างไรให้ระบบของโรงเรียนช่วยเหลือดูแลผู้นำเหล่านั้นได้? เริ่มต้นค้นหาคำตอบได้จากการรับฟังเสียงความคิดความต้องการของเด็กๆ ข้างต้น"บทรายงานสรุป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วราวุธ' เสียใจเหตุเด็ก ม.2 แทงเพื่อนดับ วอนฟังทางการสรุปก่อน

'วราวุธ' เศร้าเหตุสลด นักเรียน ม.2 โรงเรียนย่านพัฒนาการ แทงเพื่อนเสียชีวิต วอนประชาชนอย่าเพิ่งตัดสิน รอฟังทางการก่อนว่าเป็นเด็กพิเศษหรือไม่

จี้รัฐขีดเส้น ห้ามขายกัญชา กระท่อม 'เด็ก นักเรียน นักศึกษา'

อาจารย์อุ๋ย ปชป. ชี้กัญชา กระท่อม มีกฎหมายควบคุมชัดเจน ผู้จำหน่ายต้องมีใบอนุญาต ห้ามโฆษณา ห้ามขายเด็ก นักเรียน นักศึกษา หากฝ่าฝืนมีโทษถึงจำคุก

สมุทรปราการ นักเรียน กศน. ไล่ฟันเพื่อนโรงเรียนเดียวกัน เจ็บ 2 ราย

มีเหตุทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธมีด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เหตุเกิดบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ใกล้เคียงศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

'ศธ.' ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาใหม่ ลดการบ้าน เรียนดีมีความสุข

'รองโฆษกรัฐบาล' เผย ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา 'ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้' มุ่งเน้นลดภาระ สร้างความสุขนักเรียน

ผู้การอึ้ง! เด็กวัย 13 ปี ยกพวกปาบึ้มใส่กัน ทำระเบิดเอง อ้างไว้ป้องกันตัว

พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.บางปู เข้าพูดคุยและสอบปากคำเบื้องต้นกับผู้ก่อเหตุทั้งสองฝ่าย