'สืบสานประเพณีหกเป็ง' นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเวียงแช่แห้ง

ขบวนแห่จำลองพระธาตุ

ประเพณีหกเป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัด น่าน จังหวัดที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีล้านนา สิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงวิถีของชาวล้านนาได้เป็นอย่างดี คือ พระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในอ.ภูเวียง ด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฎอยู่บนพระธาตุ มีการสันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้างอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย เพราะน่านมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยอย่างเหนียวแน่น ต่อมาน่านอยู่ภายใต้การปกครองของล้านนากว่า 100 ปี แต่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 2 ครั้ง  และต่อมาจึงมีฐานะเป็นหัวเมือง ในสมัยรัตนโกสินทร์

 ซึ่งในช่วงระยะเวลาล้านนาปกครองน่านพระธาตุก็ได้มีการซ่อมบูรณะครั้งใหญ่ มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง จึงทำให้รูปแบบของเจดีย์ในปัจจุบันที่เราเห็นกันนั้นเป็นรูปแบบศิลปะล้านนา และในอดีตพระธาตุแช่แห้งแห่งนี้ นับว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินล้านนาอีกด้วย ชาวเมืองจึงให้ความเคารพและศรัทธามาก 

ขบวนแห่สลุงหลวง

อีกทั้งยังมีความเชื่อกันว่าพระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ อิงตามความเชื่อเรื่องการบูชาพระธาตุปีเกิดในวัฒนธรรมล้านนา ที่นอกจากจะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันแล้ว พระธาตุปีเกิด ยังมีความหมายและความสำคัญต่อองค์พระธาตุอย่างเป็นระบบด้วยจำนวน 12 องค์ ควบคู่กับการนับปีนักษัตรแบบล้านนา โดยมีความเชื่อการเกิดในวัฒนธรรมล้านนาว่า บุคคลที่จะมาเกิดเป็นชีวิต ช่วงก่อนการปฏิสนธิจะก่อรูปเป็นภาวะจิตที่นิ่งสถิตอยู่ ณ องค์พระธาตุพระธาตุสำคัญในแต่ละรอบปี แล้วนำดวงจิตมาอยู่ที่ต้นไม้ซึ่งมีสัตว์เฝ้ารักษาแต่ละปีเกิด เมื่อครบวาระ ก็จะเกิดเป็นมนุษย์ หากสิ้นชีวิตลงสัตว์ที่เคยเฝ้ารักษาก็จำนำดวงจิตกลับมาที่พระธาตุประจำปีเกิด ก่อนจะไปสู่ภพภูมิที่แล้วแต่บุญกรรมได้ทำไว้ 

ลานพิธีหกเป็งฯ

ชาวเมืองน่านจึงได้มีการสืนสานประเพณีหกเป็ง นมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเวียงแช่แห้งประจำปี ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต จัดขึ้นในช่วงวันขึ้น 11-15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือ เดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งในปี 2566 นี้ก็ตรงกับปีนักษัตรเถาะ(กระต่าย) และพระธาตุแช่แห้งก็มีอายุกาลครบ 670 ปี ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ภูมิภาคภาคเหนือ ร่วมกับจังหวัดน่าน และ วัดพระธาตุแช่แห้ง ภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้จัดกิจกรรม “กระต่ายล่องน่าน 2566”  เพื่อส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในจังหวัดน่านให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ชูความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุแช่แห้ง เชื่อมโยงสู่เรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้ง 12 เดือน สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยว โดยสามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้  – 6 มีนาคม 2566 ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง

ชาวเมืองน่านแต่งชุดพื้นเมือง ถือโคมกระต่าย

ภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. มุ่งพลิกโฉมไทยเที่ยวไทย สร้างตำนานการเดินทางท่องเที่ยวบทใหม่ที่จะเป็นไทยเที่ยวไทย Limited Edition ด้วยการชูจุดขายของ Soft Power สอดรับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) สำหรับภูมิภาคภาคเหนือ ปี 2566 ททท. วางกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวรับปีเถาะตามความเชื่อล้านนา ชูคอนเซปต์เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ ด้วยการนำอัตลักษณ์ความงดงามของวัฒนธรรมเมืองเหนือ ได้แก่ เครื่องแต่งกาย อาหาร ความเชื่อ ความศรัทธา และเทศกาลประเพณี มาเป็นแรงขับเคลื่อนในรูปแบบ Soft Power เชื่อมโยงเรื่องราวของท้องถิ่น และออกแบบเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย

ขบวนแห่อำเภอต่างๆทอดยาวเต็มถนน

 ภายในงานประเพณีหกเป็ง หนึ่งในไฮไลท์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการจัดขบวนแห่ครัวตานล้านนา หรือ ขบวนแห่เครื่องไทยทานของชาวเมืองน่านทั้ง 15 อำเภอ และขบวนอัญเชิญน้ำทรงพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ขบวนสลุงหลวง ที่ทอดยาวอยู่บนถนนทางเข้าพระธาตุแช่แห้ง  ซึ่งชาวเมืองน่านต่างพร้อมใจกันแต่งกายอย่างงดงาม สวมใส่ผ้าพื้นเมือง ชุดแต่งกายประจำชนเผ่า หยิบยกนำเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น มาสร้างสรรค์ตกแต่งในขบวนบ่งบอกถึงวิถีชีวิต สะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละอำเภอ  อย่างที่ อำเภอนาหมื่น ที่ตั้งของเมืองเก่าแก่อย่าง เมืองลีและเมืองหิน  ในขบวนมีการตกแต่งด้วยเครื่องมือประกอบอาชีพทางเกษตร เอกลักษณ์ของวัดต่างๆ  ยังมีเสลี่ยงต้นขันดอก ตุงโชค ตุงไชย ต้นหมาก ต้นพลู และเครื่องครัวตาน ที่ทำมาจากวัสดุทางธรรมชาติ โคมคำหลวงที่ประดับตกแต่งด้วยกระต่าย เสลี่ยงกระต่าย สะท้อนสัญลักษณ์ของปีนี้ พร้อมกับเสลี่ยงจำลองพระธาตุแช่แห้ง ขบวนที่ตกแต่งด้วยพืชพรรณที่มีการเพาะปลูกอยู่ภายในอำเภอสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์การมีอยู่มีกิน มีตุงโชค ตุงไชย  การแสดงฟ้อนเล็บ ที่เป็นเอกลักษณ์ของทางภาคเหนือ

ขบวนแห่สามล้อ วิถีเมืองน่าน

อำเภอทุ่งช้าง ที่ได้นำการแสดงฟ้อนไตลื้อ ที่มีท่วงท่างดงาม หรือการสาธิตการตีล้อ ที่รู้จักทั่วไปว่าเป็นกันลูกข่าง การเล่นเดินกะลา หรือม้าก้านกล้วย การสาธิตเย็บปักของชาวเผ่าม้ง, อำเภอปัว มีการสะท้อนความเป็นเมืองปฐมบทของจ.น่าน มีการสะท้อนวิถีชนเผ่าที่อาศัยอยู่ เช่น เผ่าเมี่ยน ที่เอกลักษณ์คือการทำเครื่องเงิน และอำเภอท่าวังผา มีการแห่พระธาตุวังผาจำลอง การแสดงตีกลองปู่จา เสียงของกชองเปรียบเสมือนเสียงสวรรค์ ท่วงทำนองที่ดังกึกก้องทั่วลานงาน  และการสะท้อนเอกลักษณ์ของ 5 ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในต.ป่าคา อำเภอแห่งนี้ ได้แก่ ไทยพวน ไทยลื้อ ไทยวน ไทยเขิน และไทยพื้นเมือง ซึ่งบรรยากาศตลอดสองข้างทางก็มีผู้รอชมความสวยงามของขบวนตลอดจนถึงขบวนสุดท้าย 

พิธีสืบชะตา

และในวันที่ 1 มีนาคม ก็ได้มีการทำพิธีสืบชะตา ณ ศาลาหลวง (ศาลาปฏิบัติธรรม) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ชาวล้านนานิยมทำในโอกาสสำคัญ เพื่อต่อดวงชะตา ให้อายุยืน  โดยจะมีการเขียนชื่อ วันเดือนปีเกิดลงบนเทียนและไม้ เพราะเชื่อว่าจะหนุนดวง ต่อชะตา เพื่อให้พระได้ทำพิธี ส่วนเทียนกระต่าย เสริมด้านความรัก ความเมตตา โดยที่เราก็เข้าร่วมในพิธีด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมล่ารางวัล 9 จุดอานิสงส์ ที่เป็นการปั้มตราประทับ 9 จุดสักการะสำคัญที่อยู่ในวัดพระธาตุแช่แห้ง เช่น องค์พระธาตุแช่แห้ง หลวงพ่ออุ่นเมือง พระเจ้าทันใจ พระแม่ธรณี พระเจ้าล้านทอง อนุสาวรีย์พญากรานเมือง ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่ายหลวงพ่อพุทธไสยาสน์ พระเจ้า 5 พระองค์ ทำให้เราได้เดินอิ่มบุญทั่ววัดเลย 

ภายในงานยังมีร้านค้าของชาวเมืองน่าน มาตั้งให้ผู้เข้าร่วมงายได้เลือกช้อปทั้งเครื่องเงิน ผ้าฝ้าย งานหัตถกรรมต่างๆ กิจกรรมกาดมั้ว คัวฮอม ถนนคนเดิน กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง ของที่ระลึก กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น สะล้อซอปิน อาหารพื้นบ้าน ขนมพื้นบ้านก็แน่น ให้เลือกกินกันแบบจุกไม่ต้องกลัวหิว อิ่มท้องแล้ว ก็ยังอิ่มบุญอิ่มใจกันถ้วนหน้า

ตามความเชื่อล้านนา เขียนชื่อ วันเดือนปีเกิดลงบนเทียน

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 4-5 มีนาคม มีกิจกรรมทำบุญตามแบบโบราณประเพณี ฟังธรรมเทศอานิสสงส์เวสสันดรชาดก  ชมมหรสพสมโภชและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านน่าน และในวันสุดท้ายที่ 6 มีนาคม จะมีการประกอบพิธีถวายผ้าห่อองค์พระธาตุแช่แห้ง พิธีเวียนเทียน การแสดงพื้นบ้าน และชมการแข่งขันบั้งไฟดอก การแข่งขันตีกลองบูชา ได้แก่ กลองสะบัดชัย และกลองแอว เป็นต้น 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมว.ท่องเที่ยวนำเอกชนไทยบุกตลาดอินเดียหวังโกยรายได้ 80,000 ล้านในปี 67

รมว.ท่องเที่ยวนำผู้ประกอบการเอกชนไทยร่วมงาน SATTE 2024 เร่งบูสต์ตลาดอินเดีย พร้อมตั้งเป้ารายได้ตลาดอินเดียกว่า 80,000 ล้านบาทในปี 2567

'ตรุษจีนเยาวราช'เฉลิมฉลองปีมังกรทอง

เทศกาลตรุษจีนถือเป็นงานปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยด้วย ซึ่งได้มีการสืบสานประเพณีของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนจัดงานตรุษจีนเป็นประจำทุกปี ย่านเยาวราชถือเป็นพื้นที่สำคัญจัดงานตรุษจีน มาอย่างต่อเนื่อง เทศกาลตรุษจีนเยาวราชประจำปี 2567

เที่ยววัดมหาธาตุฯ จัดสมโภชใหญ่ข้ามปี

เริ่มแล้วสำหรับงานสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตามรอยประวัติศาสตร์พระอารามหลวงแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์แห่ง 3 ยุค ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567  

'เศรษฐา' สั่งตร.ฟันเจ้าหนี้ปล่อยกู้ 8 หมื่นบาท โขกดอกโหดเดือนละแสนกว่า บอกฟังแล้วเศร้า

นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง​ ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่จังหวัดน่าน​ ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ​ ว่า ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดน่าน​ มีการขึ้นทะเบียนเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบแล้วประมาณ 500 ราย ซึ่งมีการติดตามเจรจาเพียง 100 กว่ารายเท่านั้น

สีสันคลองผดุงกรุงเกษมคืนวันเพ็ญ

ลอยกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครปีนี้ แนะนำที่คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นหมุดหมายใหม่ในการจัดงานที่อยากเชิญชวนไปเที่ยวชมและสืบสานคุณค่าประเพณีลอยกระทงด้วยกันในงาน “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง” ณ คลองผดุงกรุงเกษม    ย่านหัวลำโพง  กรุงเทพมหานคร

ททท. ปั้นคลองผดุงกรุงเกษม จัดงานลอยกระทงยิ่งใหญ่ ชี้ปีนี้ต่างชาติทะลักเที่ยวไทย

ททท. ชวนสืบสานวัฒนธรรมไทยกับเทศกาล “สีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง” ณ คลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร