นักวิจัยแสงซินโครตรอน ใช้แสงLEDปลูกฟ้าทะลายโจรเพิ่มฤทธิ์ทางยา

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยรู้จัก และยอมรับสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมากขึ้น เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญ 3 ชนิด ในกลุ่ม Lactone ซึ่งก็คือ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide), สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (NeoAndrographolide), และสาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)  ในการทดลองของหลายหน่วยงาน เช่น กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พบว่าตัวฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ไวรัสโควิดได้  ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบมีการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ติดเชื้อโควิด ที่ไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้มีอาการน้อย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก่อนโควิดระบาด คนไทยจำนวนไม่น้อย ใช้ฟ้าทะลายโจร เวลา มีไข้  ไอ เจ็บคอ หรือการติดเชื้อ เนื่องจาก ฟ้าทะลายโจรมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และยังเป็นตัวเสริมทำให้ระบบภูมิต้านทานในร่างกายให้สามารถกำจัดเชื้อทำให้มีความสมดุล เพิ่มความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

ฟ้าทะลายโจร จึงเป็นพืชที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)ในสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)จึงได้ศึกษาการปลูกฟ้าทะลายโจรให้มีคุณสมบัติดีขึ้น  และพบว่าการใช้แสงจาก LED   สามารถเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยาให้กับฟ้าทะลายโจรได้ ซึ่งการวิจัยนี้ จะมีส่วนช่วยเกษตรกรปรับปรุงการปลูก เพื่อเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยา ที่สำคัญยังพบว่าหากใช้แสงสีแดงในการเพาะปลูก ฟ้าทะลายโจรจะให้สารสำคัญมากกว่าการปลูกด้วยแสงแดดประมาณ 2 เท่า

ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า  ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมาธิการกระทรวง อว. ไปยัง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้รับการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจร ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการระบาดของโควิด-19  เพื่อหาทางปรับปรุงการปลูก ฟ้าทะลายโจร ให้สามารถผลิตสารสำคัญได้เพิ่มขึ้น

“เกษตรกรในพื้นที่พยายามปรับปรุงการปลูกฟ้าทะลายโจรทั้งเรื่องดินและน้ำ แต่ยังไม่มีใคร คิดเรื่องแสง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเจริญเติบโตของพืช เราจึงได้นำเสนอแก่คณะกรรมาธิการกระทรวง อว.เรื่องการทดลองใช้แสง LED ปลูกฟ้าทะลายโจร เนื่องจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เคยมีงานวิจัย ที่ทำการทดลองปลูกผักสลัดและพืชสมุนไพรด้วยหลอด LEDและได้ผลดีมาก โดยสามารถเพิ่มน้ำหนักของผักสลัดและได้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอมมากกว่าการปลูกด้วยแสงธรรมชาติ เราจึงวิจัยว่าจะสามารถเพิ่มสารสำคัญให้ฟ้าทะลายโจรจากการปลูกด้วยหลอด LED หรือไม่” ดร.นิชาดากล่าว

จากการวิจัย พบว่าคลอโรฟิลด์ที่พืชใช้สังเคราะห์แสง จะดูดกลืนแสงสีแดงและสีน้ำเงินมากที่สุด ดร.นิชาดา กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน  จึงนำหลักการนี้ มาปรับใช้กับการให้แสงแก่ฟ้าทะลายโจร ในช่วงที่ปลูก โดยแสง ที่ให้มีความแตกต่างกันใน  3 สภาวะ คือ ให้แสงสีน้ำเงินมากกว่าแสงสีแดง 2 เท่า ให้แสงสีน้ำเงินและแสงสีแดงเท่ากัน และให้แสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน 2 เท่า เพื่อดูว่าแสงแบบไหน  จะสามารถสร้างเสริมการออกฤทธิ์สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรได้ดีที่สุด โดยทำการทดลองปลูกในแสงที่แตกต่างกันเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน พบว่าหากให้แสงสีแดงเท่ากับแสงสีน้ำเงินหรือแสงสีแดงมากกว่าแสงสีน้ำเงิน  ฟ้าทะลายโจรจะผลิตสารออกฤทธิ์สำคัญได้มากกว่าสภาวะการปลูกโดยใช้แสงธรรมชาติ

“เราพบว่า ส่วนที่ให้สารสำคัญมากที่สุดคือส่วนใบ “ดร.นิชาดา กล่าว พร้อมเล่าอีกว่า   นักวิจัยจึงได้ใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรด วิเคราะห์สารออกฤทธิ์ในฟ้าทะลายโจรจากใบ   ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถนำฟ้าทะลายโจรที่อบแห้งและบดเป็นผงแล้วมาวิเคราะห์หาสารสำคัญได้เลยโดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการสกัดเอาสารสำคัญออกมาเหมือนวิเคราะห์ด้วยห้องปฏิบัติการทั่วไปซึ่งช่วยลดต้นทุนในการวิเคราะห์หาสารสำคัญ และลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก

การศึกษายังไม่จบ ดร.นิชาดา บอกอีกว่า  ทางสถาบันยังจะศึกษาเพื่อพัฒนาเพิ่มสารสำคัญของฟ้าทะลายโจรต่อไป โดยจะศึกษาการให้แสง LED เสริมแก่ฟ้าทะลายโจรในช่วงช่วงไม่มีแสงแดด เพื่อหาระยะเวลาการแสงเสริมที่เหมาะสมเพื่อให้พืชสร้างสารสำคัญได้และจะทดลองปรับวิธีการปลูกและการให้แสงที่สามารถลดต้นทุนแต่ได้สารสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อถ่ายทอดแก่เกษตรกรต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อธิบดีกรมแพทย์แผนไทย ยัน 'ฟ้าทะลายโจร' รับมือได้ แม้ 'โควิด' จะกลายพันธุ์หลายครั้ง

สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ได้ถูกหยิบยกและพูดถึงกันมากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ของโควิด-19 วันนี้”นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์”