ทุน ม.ท.ศ. พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ชุบชีวิตเยาวชนไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพจึงทรงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ ดังนั้น เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร จึงมีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 โดยให้ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทย

ต่อมาในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องดีงามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติบ่มเพาะความมีวินัย อันจะช่วยสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็งแก่เด็กและเยาวชนไทยผู้ที่ได้รับทุนพระราชทาน สามารถเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพนำความรู้กลับไปทำงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชน มีสัมมาชีพมั่นคง เป็นพลเมืองที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

ปัจจุบันมีนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. แล้ว รวม 14 รุ่น ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยในคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องทางสร้างความหวังและสร้างชีวิตใหม่ให้แก่นักเรียนทุนพระราชทานทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นที่ผ่านมาให้ลุกขึ้นสู้ชีวิตที่เกือบมืดดับไปแล้ว ให้กลับมามีแสงสว่างนำทางอีกครั้ง บางคนเคยสิ้นหวังในชีวิตจนเกือบคิดจบชีวิตที่มืดดับ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่จารึกอยู่ในหัวใจจึงทำให้ลุกขึ้นมาสู้กับชีวิตอีกครั้ง จนทุกวันนี้กลายเป็นเรี่ยวแรงหลักดูแลครอบครัว หรือบางคนจากที่ชีวิตเคยหยุดฝันแต่เมื่อมีแสงแห่งน้ำพระราชหฤทัยส่องมา ความฝันที่เลือนลางก็กลับมาแจ่มชัดอีกครั้งหนึ่ง

ฟีฟี-นายอาร์ฟีฟี มามุ  อายุ15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสายบุรี”แจ้งประชาคาร”จ.ปัตตานี นักเรียนทุน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 14  กล่าวด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า รู้จักทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.จากรุ่นพี่ที่โรงเรียน แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่โชคดีได้มีโอกาสรับทุนพระราชทานนี้ นอกจากจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งแล้ว ทุนการศึกษาพระราชทานจะเป็นใบเบิกทางนำสู่ความสำเร็จในอนาคตตามที่วาดหวังไว้

“ ที่ผ่านมา ผมเพียงแค่เคยได้ยินว่า มีทุนการศึกษาพระราชทานของในหลวง แต่ไม่เคยมีความฝันว่า จะมีโอกาสได้รับทุนนี้ กระทั่งวันหนึ่งมีรุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนทุน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 12 แนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับทุนการศึกษานี้ ผมลองสมัครซึ่งกว่าจะผ่านการคัดเลือกได้นั้น ผมต้องผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการหลายรอบมาก แต่สุดท้ายได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาพระราชทานรุ่นที่ 14 ซึ่งเป็นรุ่นปัจจุบัน วินาทีที่รู้ว่าได้รับทุนพระราชทานหัวใจเต็มไปด้วยความตื้นตันที่สุด อยากขอบคุณในหลวงที่ได้พระราชทานทุนให้กับผมเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จของผม ผมเป็นลูกคนกลาง มีพี่น้อง 3 คน พี่คนโตเรียนจบปริญญาตรี ทางครอบครัวมีหนี้สินบ้างเป็นปกติ แต่กว่าพี่จะเรียนจบได้พ่อกับแม่ต้องใช้เงินเยอะมาก ดังนั้นการที่ผมได้รับทุนการศึกษานี้จะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บไว้ให้น้องคนเล็กได้ใช้เป็นทุนเรียนต่อไป”นายอาร์ฟีฟี กล่าว

ฟีฟี ย้อนถึงหนึ่งในบททดสอบที่คณะกรรมการทุนการศึกษาใช้สัมภาษณ์เขาในวันนั้น ซึ่งคำตอบของเขาไม่เพียงแต่ทำให้เป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นประกายความฝันที่ทำให้เขามีความตั้งใจอยากเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อวันหนึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้เรียนกลับไปพัฒนาบ้านเกิดให้คนในชุมชนใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม

“ห้องสัมภาษณ์รอบสุดท้าย คณะกรรมการถามว่า ผมรู้จักพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 10 ไหม ผมตอบว่าหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่ผมซาบซึ้ง คือ การสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลบ้านเกิด ผมเห็นตัวอย่างจากบุคคลในครอบครัว คือ ป้าสะใภ้มีปัญหาเนื้องอกที่มดลูก ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็ต้องไปแอดมิดที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัดที่มีอุปกรณ์พร้อม แต่พอมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี มีหมอเก่งๆมาประจำที่นี่ คุณป้าก็เลยได้ผ่าตัดและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนหาย นับเป็นพระมหากรุณาที่คุณอย่างหาที่สุดที่ได้ทรงสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช  เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลและทุรกันการในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้เข้ารับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน จุดประกายความฝันที่ทำให้ผมอยากเป็นเภสัชกร เพื่อจะนำความรู้เกี่ยวกับยามาแนะนำคนในชุมชนให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม” นักเรียนทุนชาวปัตตานี บอก

ขณะที่ นัด-นางสาวปนัดดา สิทธิ นักเรียนทุน ม.ท.ศ.รุ่นที่ 5  ในชีวิตที่เธอได้มีโอกาสมาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง กราบพระบาทสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่การมาเข้าเฝ้าฯ ครั้งที่หลังต่างจากครั้งแรกโดยสิ้นเชิง เพราะเธอต้องมาในรถวีลแชร์ไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ เพราะในระหว่างที่เธอได้รับทุนการศึกษาพระราชทานกำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือ SLE ที่อยู่ในร่างกายมาตั้งแต่วัยเยาว์กำเริบและรุนแรงอย่างไม่คาดคิด จนทำให้เธอต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลายเป็นผู้พิการเดินไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต ความทุกข์สาหัสของปนัดดาทราบยังฝ่าพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับเธอไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ จนทำให้เธอมีชีวิตกลับมาสดใสได้อีกครั้งเหมือนในวันนี้ 

“ ตอนอายุ 12 ปี เคยเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองและรักษาก็หาย แต่มากำเริบช่วง2ปีสุดท้ายก่อนจะจบปริญญาตรี ตอนนั้นเครียดพักผ่อนน้อย อ่านหนังสือดึกทุกคืน ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง 2 ปี หยุดพักการเรียน เครียดยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่เมื่อคณะกรรมการทุนการศึกษาพระราชทานทราบถึงอาการป่วยจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวง พระองค์ทรงรับหนูไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ย่าจึงไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลจึงนับเป็นความโชคดีอย่างหาที่สุดมิได้”นางสาวปนัดดา กล่าว

แม้จะได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่เธอต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถทำอะไรได้เลยเป็นเวลานับเดือน ความเข็มแข็งที่มีในชีวิตก็เริ่มเลือนลางลงทุกวัน จนทำให้กลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสิ้นหวังในชีวิต ปนัดดาเคยคิดจะจบชีวิตตัวเองหนีปัญหาทุกอย่างในชีวิตไปหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งวันหนึ่งที่เธอกำลังตัดพ้อในชะตาชีวิต ย่านำพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงที่แขวนไว้บนฝาบ้านมาให้เธอดูแล้วบอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “คนที่เขาไม่เคยรู้จักไม่เคยอย่างในหลวง พระองค์ท่านยังช่วยให้เรามีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้และยังช่วยเหลือเราขนาดนี้ ถ้าท้อใจมองรูปในหลวงไว้นะ”

ประโยคนี้ของย่าทำให้ปนัดดา ดึงสติกลับมาด้วยความเข็มแข็ง ทำให้เธอรู้ว่าในชีวิตนี้ยังมีคนรักและคนห่วงใยเธออีกมากมาย พร้อมกับที่เธอตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่า “เธอยังจะตายไม่ได้ ต้องกลับมาตอบแทนบุญคุณในหลวงที่ทรงช่วยชีวิตเธอไว้ก่อน”

“ ตอนที่หมอเดินมาบอกว่าเดินไม่ได้แล้วต้องพิการตลอดชีวิตตอนนั้นคือร้องไห้อย่างเดียวเสียสติไปเลย กว่าที่จะกลับมาได้เหมือนทุกวันนี้ก็ต้องพบจิตแพทย์ ตอนนั้นหนูได้แต่นอนมองพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง พยายามสร้างเป้าหมายในชีวิตอีกครั้ง  สร้างกำลังใจในการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแม้มันจะไม่ง่ายแต่หนูก็พยายามทำตัวให้เริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตด้วยรถวีลแชร์ และตั้งเป้าหมายว่าจะต้องกลับมาเรียนอีกครั้งให้ได้ เพื่อที่จะได้เรียนให้จบแล้วกลับมาใช้ชีวิตให้ปกติที่สุดเพื่อตอบแทนบุญคุณของในหลวงที่ทรงให้ชีวิตใหม่กับหนู”ปนัดดาเล่าด้วยรอยยิ้มเปื้อนคราบน้ำตา

จากความตั้งใจและหมุดหมายในชีวิตที่ต้องสำเร็จการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีให้จบ หลังจากที่เธอต้องพักการเรียนไป 2ปี ด้วยความมุ่งมั่นเพียรพยายาม ปนัดดาสามารถจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีในปีการศึกษา 2564 ด้วยเกรดนิยมอันดับ 1 คะแนนเฉลี่ยสะสม 3.83 นับเป็นความพยายามที่เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มอันสดว่า เพราะในหลวงทำให้ชีวิตกลับมาสดใสอีกครั้ง

“ หนูเรียนจบแล้ว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการและทำงานเป็นลูกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดหญิงและนันท์คอนสตรัคชั่น โดยรับงานมาทำที่บ้าน นอกจากนี้ ยังหารายได้เสริมจากงานขายของออนไลน์ เป็นผู้มีรายได้หลักเลี้ยงดูย่า และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง อยากจะเป็นส่วนหนึ่งสร้างพลังใจให้กับคนอื่นๆ หนูร่างกายไม่ปกติยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ดังนั้นเราอย่าไปท้อกับชีวิต ขอให้ทุกคนมีความหวังและกำลังใจที่เข็มแข็งในการใช้ชีวิต” นัด นักเรียนทุน กล่าว

เช่นเดียวกับ นายวีรนันท์ เปี่ยมมนัส ชาวจังหวัดอ่างทอง ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเรียนทุนพระราชทานรุ่น 10  ประจำปีการศึกษา 2561 ที่โรงเรียนโพธิ์ทองพิทยาคม จ.อ่างทอง และได้รับทุนพระราชทานต่อเนื่องเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ ซึ่งเมื่อปีการศึกษา 2564 ขณะที่เขากำลังเข้ารับการฝึกพัฒนาศักยภาพตามสัญญาการรับทุนฯ ม.ท.ศ. แพทย์ สนามได้ตรวจพบอาการปวดศรีษะร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงมากและผันผวน เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผลการตรวจยืนยัน พบเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบแคบและอักเสบ แพทย์ได้รักษาอาการอักเสบของหลอดเลือด โดยให้ยาเคมีบาบัดควบคู่กับสเตียรอยด์ พบว่าตอบสนองต่อเคมีบาบัดดี และวางแนวทางการรักษาต่อไปด้วยการผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ 

วีรนันท์ เล่าว่า ระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นในแต่ละวันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนที่ทุกข์หนักที่สุดในช่วงนั้นนอกจากเขา คือ บิดาจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูกชาย ครั้นความทุกข์ร้อนนี้ทราบยังฝ่าพระบาท องค์ผู้ก่อตั้งทุนการศึกษาพระราชทานจึงทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ วันนั้นวีรนันท์ได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้เป็นบิดาอีกครั้ง

“ ทางคณะกรรมการทุนการศึกษาฯ จึงได้นำความกราบบังคมทูล พระองค์ทรงรับผมเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผมรู้สึกดีใจและตื้นตันใจที่สุด แต่คนที่สุดดีใจมากกว่าผมคือพ่อ เพราะไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลผมเกือบหนึ่งแสนบาท พ่อดีใจจนพูดไม่ออก ตอนนี้ผมยังคงรับการตรวจติดตามอาการตามเวลาที่แพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะพร้อมเข้ารับการ ผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจต่อไป ผมต้องขอบพระคุณพระองค์ท่านที่ให้โอกาสมากขนาดนี้ ทุนการศึกษาพระราชทานไม่เพียงแค่เป็นประตูที่ทำให้เรามีอนาคตที่ดีได้เท่านั้น แต่ช่วยชุบชีวิตให้ผมรอดตายจากโรคร้ายแรงได้ เหมือนให้ชีวิตใหม่กับผม ผมสัญญาว่าผมจะตั้งใจเรียนให้จบมหาวิทยาลัยแล้วมาเป็นครูเพื่อสอนให้นักเรียนเป็นคนดีมีทัศนคติที่ดีเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป ขอเป็นแรงช่วยพัฒนาประเทศต่อไป” นายวีรนันท์ กล่าว

ปิดท้ายที่ มิ้งค์-นางสาวฐิติชญา ลุนแดง นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนวาปีปทุม  จ.มหาสารคาม  นักเรียนทุน ม.ท.ศ.รุ่น 14 เล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจว่า ทุนการศึกษาพระราชทานนี้ถือเป็นเกียรติแก่ตัวเธอและครอบครัวอย่างมาก ช่วยสานต่อความฝันที่อยากเป็นหมอ เพราะลำพังฐานะทางบ้านคงไม่มีเงินที่จะเรียนหมอได้ ดังนั้นทุนการศึกษาพระราชทานนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้หนูได้เรียนคณะแพทยศาสตร์เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือผู้คนตกทุกข์ได้ยากให้เขาหายจากทุกข์ แค่นี้หนูก็มีความสุขแล้ว

“ อยากจะขอบคุณพระองค์ท่านที่ทรงเล็งเห็นศักยภาพเด็กคนหนึ่ง เพื่อสานฝันต่อให้ประสบความสำเร็จ วันนี้ได้รับทุนเรียนจนจบปริญญา พอจบ ม.6 แล้วหนูจะไปศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่กำลังคิดอยู่ว่าจะเป็นหมอกระดูกหรือจักษุแพทย์ เพราะคุณยายป่วยเกี่ยวกับข้อกระดูก และดวงตา ทำให้ท่านมองไม่เห็น วันหนึ่งหนูได้รับรางวัลพระราชทานและเอาไปให้คุณยายดู คุณยายพูดว่ายายคงจะไม่มีโอกาสได้มองเห็นลูกหลานของตัวเอง ทำให้เราอยากเป็นหมอตาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่สายตามองไม่เห็นให้เขาได้กลับมามองเห็นโลกได้อีกครั้ง”นางสาวฐติชญา กล่าว

นับเป็นความโชคดีของพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริงที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของเยาวชนไทย อันเป็นรากแก้วและกำลังสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญมั่นคงสืบไป 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง พระราชินี เสด็จฯทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีสงกรานต์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธีสงกรานต์ ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หอพระธาตุมณเฑียร และ

ในหลวงพระราชทานดอกไม้เยี่ยมทหารพรานบาดเจ็บ

8 เม.ย.2567 - เวลา 11.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เชิญดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี

ในหลวงทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

6 เม.ย.2567 เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้

'ในหลวง พระราชินี' ทรงวางพวงมาลา 'วันจักรี'

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์

ในหลวง ทรงประกอบพิธีสมโภช 'พระพุทธไตรรัตนนายก' ครบ 700 ปี วัดพนัญเชิงฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีสมโภช “พระพุทธไตรรัตนนายก” ครบ 700 ปี ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา