ชุมชนต้นแบบ’เติมน้ำใต้ดิน’แก้แล้งลุ่มน้ำบางปะกง

หลายพื้นที่ในประเทศไทยประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง บางปีที่ฝนมากก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียงพอ ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เกษตรกรเผชิญน้ำแล้งทุกปี ทำนาเพาะปลูก ไม่ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย กระทบต่อรายได้ และการแบกรับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 

หนึ่งในวิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน คือ การเติมน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR)  เป็นการจัดการเติมน้ำสู่แหล่งน้ำใต้ดิน นอกเหนือจากที่ธรรมชาติสร้างขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดินให้มีการกักเก็บและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงเวลาหรือในพื้นที่ที่ต้องการได้ทันที อีกทั้งเป็นการใช้น้ำส่วนเกินในฤดูฝนเติมไปกักเก็บไว้ในชั้นน้ำใต้ดินเพื่อนำกลับขึ้นมาใช้ในฤดูแล้ง วิธีการนี้ได้การยอมรับและเกิดผลสัมฤทธิ์ในหลายประเทศ

การเติมน้ำใต้ดินแบบสระขั้นบันไดในชุมชนต้นแบบ

กลุ่มธุรกิจ TCP ทำงานร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น นำร่องที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ เกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม มีองค์ความรู้เรื่องน้ำใต้ดินอย่างแข็งแกร่ง  สร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่ของตนเอง และต่อยอดเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน

ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี มีชื่อเสียงด้านผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ แม้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง แต่ต้องที่ประสบกับปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำ ช่วงหน้าแล้งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร จากทำเล ต.นนทรี ตั้งอยู่บนสุดของ อ.กบินทร์บุรี ซึ่งพื้นที่แบ่งขอบเขต คือ เขาใหญ่และเขานางจีน ทำให้ทิศเหนือเป็นพื้นที่สูงเชิงเขา มีร่องน้ำจากภูเขาหลายลูก ทิศใต้เป็นพื้นที่ราบ เมื่อฝนตกลงน้ำจะไหลไปที่คลองวังไทรและแม่น้ำบางปะกง แม้ว่าพื้นที่ ต.นนทรี จะมีน้ำผิวดินจำนวนมากในฤดูฝน แต่ด้วยลักษณะพื้นที่สูงชันบริเวณต้นน้ำ ทำให้น้ำไหลออกพื้นที่อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

เติมน้ำใต้ดินแบบบ่อวงในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ

อาจรีย์ สุวรรณกูล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า สำหรับโครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเติมเต็มการทำงานให้ครบทุกมิติ โดยภาครัฐจะดูแลการเติมน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คูคลองต่างๆ บทบาทของ TCP ช่วยเสริมการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรชาวบ้านผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากโครงการฯ ไม่เพียงแค่ทำการเกษตรได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน จากการที่คนในชุมชนเปลี่ยนมาปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ ทุเรียน มังคุดและมะยงชิด ในปี 2564 – 2565 มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรสะสมกว่า 1.8 ล้านบาท และยังพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีชุมชน เป้าหมายสูงสุดขององค์กร คือ  Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100%

ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์

สำหรับแนวทางการเติมน้ำใต้ดิน ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน ม.ขอนแก่น กล่าวว่า การเติมน้ำใต้ดินเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อาทิ สหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนานขึ้น ดังนั้น การเก็บน้ำบนดินอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว 

ปัญหาน้ำหลักๆ พื้นที่ ต. นนทรี  คือ น้ำแล้งทั้งที่มีฝนตกปริมาณมากและเกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี แหล่งน้ำผิวดินระเหยจนไม่พอใช้ ดังนั้น การกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งเป็นวิธีหนึ่งช่วยบริหารจัดการน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอ

ผศ. ดร.โพยม กล่าวเสริมว่า การเติมน้ำใต้ดินสามารถทำได้หลายวิธี ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมของสภาพปัญหาในพื้นที่นั้นๆ อย่าง ต.นนทรี ทำทั้ง 4 วิธี ได้แก่ 1.สระขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีน้ำหลากมาก สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเติมน้ำได้อย่างรวดเร็ว  2.สระน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำหลากไหลผ่าน น้ำท่วมขัง เก็บกักน้ำได้มาก 3.บ่อวง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความลาดชัน เป็นร่องน้ำหรือมีทางไหลของน้ำที่ชัดเจน และ 4.หลังคา เหมาะกับพื้นที่ชุมชน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด น้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำสะอาด สามารถใช้ในครัวเรือนได้ จนพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดินจากศักยภาพความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง มีความพร้อมสร้างชุมชนต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดี

ดร.เกวรี พลเกิ้น

ดร.เกวรี พลเกิ้น รอง ผอ.สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน ม.ขอนแก่น อธิบายว่า พื้นที่ ต.นนทรีประมาณ 67 ตร.กม. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี 1,542.8 มม. คิดเป็นปริมาณน้ำที่ได้จากฝนทั้งสิ้น 101.68 ล้าน ลบ.ม./ปี  เมื่อประเมินน้ำท่า รวมกับการวิเคราะห์การใช้ที่ดิน พบว่า น้ำฝนที่ไหลลงสู่น้ำท่าประมาณ 35 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึมลงดินประมาณ 21 ลบ.ม./ปี มีการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนประมาณ 44 ลบ.ม./ปี ในขณะที่น้ำท่าที่เหลือประมาณ 22 ลบ.ม./ปี จะไหลออกจากพื้นที่ ต.นนทรี  ไปยังพื้นที่ด้านล่าง คือ ต.วังดาล และไหลลงสูแม่น้ำบางปะกงปละทะเล ทำให้การเติมน้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำท่าจะถูกกักเก็บอยู่ในแหล่งน้ำผิวดิน เช่น สระน้ำ หนอง คลองธรรมชาติ บึง ประมาณ 10 ลบ.ม./ปี  เพื่อนำไปใช้ในฤดูแล้ง ในจำนวนนี้คิดเป็นการระเหย 2.5 ล้าน ลบ.ม./ปี  รักษานิเวศ 3.5 ล้าน ลบ.ม./ปี  แต่ความต้องการใช้น้ำในหน้าแล้งมีถึง 7.68 ล้าน ลบ.ม./ปี แต่มีน้ำใช้คงเหลือเพียง 4 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่ขาดน้ำ 3.68 ล้าน ลบ.ม./ปี ถึงจะเพียงพอ 

จากการสำรวจพบว่า คนในชุมชนใช้น้ำบาดาลระดับตื้น คือ สระน้ำ บ่อวงหรือบ่อขุด ทำเกษตร ซึ่งระดับน้ำบาดาลมีความลึกจากระดับน้ำผิวดินอยู่ในช่วง 0.7-9.1 ม. และน้ำบาดาลมีปริมาณการให้น้ำค่อนข้างต่ำและไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำ เกษตรกรหลายรายจึงขุดสระเองในพื้นที่เกษตร  ดังนั้น พื้นที่ ต.นนทรีเหมาะทำการศึกษาและเป็นชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดินทั้ง 4 วิธี โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสม 31.4 ตร.กม. ส่วนใหญ่เหมาะสมในการเติมน้ำผ่านสระ และสระขั้นบันได ตั้งแต่ปี 2562-2564  ก่อสร้างแล้วเสร็จ 32 จุด ประกอบด้วย การเติมน้ำผ่านหลังคา 5 จุด ผ่านสระน้ำ 23 จุด ผ่านบ่อวง 2 จุด และผ่านสระขันบันได 2 จุด รวมปริมาตรของระบบเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นรวม 167,811 ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการเติมน้ำใต้ดินทั้งทางตรงและทางอ้อมรวม 31,000 ไร่ ร้อยละ 74 ของพื้นที่ตำบล ทั้งนี้คิดเฉลี่ยปริมาณน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ ต.นนทรี ต.ดงขี้เหล็ก ต.โคกปีป ต.เขาไม่แก้ว ต.กบินทร์ ต.วังดาล ใน จ.ปราจีนบุรี สามารถเติมน้ำใต้กินได้กว่า 2.57 ล้าน ลบ.ม. 

 “ หลังดำเนินงานมาทำให้ชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอ ได้ขยายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเติมน้ำใต้ดิน  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการเติมน้ำใต้ดิน  และจุดเรียนรู้การเติมน้ำใต้ดินที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ไร่อิงซู และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลนนทรี ปัจจุบัน ต. นนทรี มีรายได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 7.57 ล้านบาทต่อปี  มีกิจกรรมทางการเกษตรหลากหลายเพิ่จาก 61 เป็น 123 กิจกรรม เกิดผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน SROI คือ 1 ต่อ 17.09 บาท” ดร.เกวรี กล่าว

พิมลรัตน์ ลำทอง

ฝั่งเกษตรกรที่นำวิธีการเติมน้ำใต้ดินมาปรับใช้ในพื้นที่เกษตร  พิมลรัตน์ ลำทอง เจ้าของพื้นที่กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เล่าว่า แม้จะเข้าหน้าแล้งในสระน้ำและบ่อวงก็ยังมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร พื้นที่อยู่ตรงเขา มีร่องน้ำไหลมารวมในสระเมื่อฝนตก เดิมมีสระเก็บน้ำ แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในหน้าแล้ง ทาง TCP และม.ขอนแก่น มาสำรวจพบว่าพื้นที่เหมาะสมกับการทำศูนย์เรียนรู้การเติมน้ำใต้ดิน และสามารถทำให้ชาวบ้านได้เห็นการเติมน้ำใต้ดินทั้ง 4 วิธีได้ โดยก่อนที่น้ำจะไหลลงสระน้ำ จะต้องมีการทำคันกั้นระหว่างที่น้ำจะไหลลงมาเพื่อชะลอความเร็วของน้ำจากบนเขา หลังจากขุดสระเติมน้ำแบบขั้นบันไดปี 2563 เริ่มมีน้ำเพิ่มขึ้น และจะเต็มสระในช่วงเดือนกันยายนตั้งแต่ปี 2564 

เติมน้ำใต้ดินแบบผ่านสระ แก้ขาดแคลนน้ำหน้าแล้ง

พิมลรัตน์ บอกด้วยว่า ได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพืนที่จากเดิมที่ปลูกที่ยูคาลิปตัส หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่าง ผักหวาน แตงกวา ชะอม หรือผลไม้อย่างแตงโม ทุเรียน จากนั้นใช้วิธีการเติมน้ำผ่านสระ ขุดร่องน้ำให้น้ำไหลผ่านจากสระใหญ่มาได้ และยังสามารถใช้น้ำตรงนี้ในการเกษตร อีกฝั่งทำบ่อวง เพื่อกักเก็บที่ไหลผ่านผิวดินโดยมีการสร้างระบบบำบัดน้ำไว้รอบข้างบ่อ และอีกส่วนที่ทำง่ายๆ การเติมน้ำผ่านหลังคา เพราะน้ำจากหลังก็จะไหลลงสู่บ่อเติมน้ำ  โดยผลผลิตที่ผ่านมาทำให้กิดรายได้ 2,000-3,000 บาทต่อวัน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ด้วย 

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง อยู่ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านบาทตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่างเก็บน้ำโคราช 27 แห่ง เหลือน้ำเพียง 42% 'ผู้ว่าฯชัยวัฒน์' วอนงดทำนาปรัง

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่เขตเมืองนั้นมีระบบประปาอยู่2ระบบคู่กัน ระบบที่ 1 ของเทศบาลนครนครราชสีมามีโรง

ผู้ว่าฯโคราชป้ายแดง ลุยดูอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง หวั่นหน้าแล้งมีน้ำดิบไม่พอทำประปา

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิจิต กิจวิรัตน์ รองผู้ว่า และนายอำเภอโชคชัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลด่านเกวียน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด

รมว.กห.สั่งทุกเหล่าทัพเตรียมความพร้อมมือภัยพิบัติ!

'สุทิน' สั่งทุกเหล่าทัพเตรียมช่วยภัยพิบัติ 'ภัยแล้ง-PM2.5'ทันที พร้อมให้กองทัพประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียว ภูมิใจทุกโครงการมีความคืบหน้า

‘อนุทิน’ กำชับทุกจว. รับมือภัยแล้ง เร่งให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำประชาชน

มท.1สั่งการให้เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรและเครื่องมือของทั้งหน่วยงานพลเรือน ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ ให้พร้อมสำรหับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง