สธ.หารือ7ประเทศกลุ่มFPGH แนวทางหลังโควิด รับมือการระบาดโรคอื่นๆ เล็งแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ

23 พ.ค. 2566- ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสมาชิกกลุ่ม Foreign Policy and Global Health Initiative : FPGH 7 ประเทศ ประกอบด้วย นอร์เวย์ ฝรั่งเศส บราซิล อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เซเนกัล และไทย ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพในฐานะประธานกลุ่ม FPGH โดยการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ในประเด็นสำคัญด้านสาธารณสุขภายใต้หัวข้อ “กลับสู่สามัญ – การจัดการความท้าทายด้านสาธารณสุขโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ” (Back to the Basics – Towards Addressing Global Health Challenges in the Foreign Policy Space)

ปลัดสธ.ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพโลกในบริบทของนโยบายต่างประเทศ และได้เสนอให้กลุ่ม FPGH คำนึงถึง 4 มิติหลักที่สำคัญ ได้แก่ข้อ 1.สนับสนุนความเท่าเทียมด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะช่วยรับประกันว่าประชาชนทุกคน รวมทั้งกลุ่มชายขอบและกลุ่มเปราะบางจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้ ข้อ 2.การมีระบบสุขภาพของประเทศที่เข้มแข็ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด รวมถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขระดับโลกที่เข้มแข็ง ทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและเข้าร่วมกระบวนการการเจรจา Intergovernmental Negotiating Body (INB) เพื่อทำหน้าที่เจรจาอนุสัญญา ข้อตกลง หรือเครื่องมือระหว่างประเทศอื่น ๆ ขององค์การอนามัยโลก ในด้านการเตรียมความพร้อมและรับมือกับการระบาดของโรค และการแก้ไขกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2005

ข้อ3.การแบ่งปันข้อมูลสำคัญระหว่างประเทศอย่างทันท่วงที เช่น การส่งต่อเชื้อก่อโรค ข้อมูลลำดับเบสในจีโนม รวมถึงการแบ่งปันวิธีการและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคของแต่ละประเทศ และข้อ 4.ประเทศไทยยึดมั่นที่จะร่วมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม FPGH ในการแสดงบทบาทนำในเวทีสาธารณสุขโลก และการรวมพลังระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหัวใจของความสำเร็จตามความมุ่งหมายของ FPGH เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาและนำไปสู่การผลักดันข้อมติตามที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติต่อไป

นอกจากนี้ ได้หารือทวิภาคีกับ Dr. Chris Whitty หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (Chief Medical Officer) สหราชอาณาจักร ในประเด็นสำคัญ อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านจีโนมิกส์ เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' ยกตัวอย่างคนป่วยวัคซีนโควิด รายแล้วรายเล่า ถ้านิ่งเฉยไม่ควรเป็นแพทย์หรือมนุษย์

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ตัวอย่างของคนป่วย รายแล้วรายเล่า ไม่จบไม่สิ้นนำมาแสดงบางราย ทั้งนี้เป็นที่หมอดูเองและร่วมดูทั้งสิ้น

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่