สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดมีพระบัญชาให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แทนพระองค์ เปิดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องในโอกาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” จัดแสดงเรื่องราวของคตินิยมในการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้าเพื่อสักการบูชา การออกแบบท่าทางหรือการแสดงปางอันมีความหมายทางประติมานวิทยา และได้คัดเลือกพระพุทธรูป จำนวน 81 องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีพุทธศิลป์งดงามในแต่ละสกุลช่าง โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั่วประเทศ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เปิดนิทรรศการพิเศษ อธิบดีกรมศิลปากรนำชมพระพุทธรูปสำคัญ
พระพุทธรูปเก่าแก่ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะการสร้างพระพุทธรูปในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่เล่าเรื่องราวการสร้างพระพุทธรูปในอดีตที่ส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน รวมถึงคติความเชื่อทางศาสนาต่อการสร้างพระพุทธรูปในลักษณะต่างๆ
จากแผนที่แสดงสมัยเริ่มแรกของพระพุทธรูปที่จัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ นักวิชาการ เชื่อว่าพระพุทธรูปอาจจะสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 ที่การปกครองของชนชาติซิเถียนแห่งจักรวรรดิกุษาณะ โดยพระเจ้ากนิษกะ พระองค์เป็นชาวตะวันตก ทรงนับถือเทพเจ้า นิยมการสร้างเทวรูป หลังจากที่พระองค์หันมานับถือพุทธศาสนา จึงได้สร้างรูปเคารพบุคคลขึ้น มีลักษณะห่มจีวร หรือเป็นเหรียญทองของพระเจ้ากนิษกะที่ 1 ซึ่งด้านหน้าจะเป็นรูปพระเจ้ากนิษกะ ส่วนด้านหลังจะเป็นภาพพระพุทธรูปยืนแบบคันธาระ ใบหน้ามีความเป็นชาวตะวันตก เกล้าผมมวยขึ้น
พระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย
อินเดียที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้ากนิษกะก็สร้างรูปเคารพขึ้นในช่วงสมัยมถุรา และเริ่มแพร่หลายในชมพูทวีปและดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ละพื้นที่มีอุดมคติในการสร้างพุทธรูปของตนเอง และได้รับอิทธิพลผ่านการเผยแพร่ตามเส้นทางการค้าขายระหว่างประเทศในข่วงเวลานั้น และใช้วัตถุดิบสร้างพระตามพื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อแรกสร้างพระพุทธรูปเป็นเวลาหลังจากพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี จึงไม่ทราบรูปลักษณ์ที่แท้จริง พระพุทธรูปสร้างขึ้นตามหลักสำคัญทางพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ มิใช่ ทิพยบุคคล มีพระสรีรกายเหมือนมนุษย์ แต่ทรงเป็นบุรุษพิเศษจึงมีบุคลิกลักษณะต่างจากบุคคลทั่วไป
เมื่อเดินชมนิทรรศการ เราจะได้เห็นพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทย เริ่มที่พระพุทธรูปรุ่นแรกจำนวนมากที่พบทางภาคใต้ แถบชายฝั่งทะเลทางตะวันออก แพร่กระจายไปยังภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการติดต่อค้าขาย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอินเดีย 3 แบบ คือ ศิลปะแบบอมราวดี มีพระรัศมีรูปเปลว นิยมสร้างในศิลปะลังกา จัดเป็นพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระ เป็นองค์หล่อสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก ,ศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะ ทำด้วยสัมฤทธิ์และศิลา ,ศิลปะแบบปาละ มีอิทธิพลในการส่งต่อพุทธรูปแบบทวารวดีตอนกลางและปลาย พระพุทธรูปล้านนารุ่นแรกในไทย
เรายังได้ชมพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี อายุประมาณ 1,000-1,400 ปี ระยะแรกได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะ อย่างการยืนแบบตริภังค์ แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรไว้ พระพักตร์ค่อนข้างกลม เป็นต้น ก่อนจะเริ่มมีส่วนผสมของศิลปะลพบุรี มีพระพักตร์ค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเล็กแหลม พระนลาฏกว้าง เป็นต้น
ส่วนพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย ด้วยอาณาจักรศรีวิชัยที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งอินเดีย ชวา ทวารวดี จาม และเขมร ศาสนาที่รุ่งเรืองจึงมีทั้งพราหมณ์หรือฮินดูและพุทธ การสร้างพระพุทธรูปศรีวิชัยมีทั้งในยุคศิลปะอินเดีย ศิลปะทวารวดี ศิลปะอินเดีย-ชวา และศิลปะเขมร ลองมาชมในนิทรรศการ
ต่อที่พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี มีอิทธิพลของศิลปะเขมร เป็นช่วงที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาในไทยบริเวณภาคตะวันออกและภาคอีสาน หนึ่งในพระพุทธรูปพบเป็นศิลปะแบบบายน จีวรห่มเฉียงมีชายผ้าสี่เหลี่ยมพาดบนพระอุระด้านซ้าย เมื่อศิลปะแบบบายนเริ่มคลี่คลาย เอกลักษณ์แบบท้องถิ่นเข้ามา พระพักตร์จะยาวกว่าในศิลปะขมร เป็นต้น
บริเวณห้องโถงกลางจัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะล้านนา อาณาจักรล้านนาเจริญขึ้นในทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่ชาวล้านนานับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากหริภุญไชยกับฝ่ายมหายาน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจึงมีพระพักตร์กลม พระโอษฐ์อมยิ้ม พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน เป็นต้น
งดงามพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย
ส่วนจัดแสดงตรงข้ามกันเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แม้ว่าศิลปกรรมสุโขทัยจะได้รับคตินิยมจากกัมพูชา พม่า ลังกา และล้านนา แต่พัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับว่าเป็นยุคทองของศิลปะไทย งดงามที่สุด คือ พระพุทธรูปปางลีลา ที่มีเอกลักษณ์พระอริยบถก้าวพระบาทข้างหนึ่งไปข้างหน้า ส่วนอีกข้างยกส้นพระบาทไปทางด้านหลัง พระวรกายมีความอ่อยช้อย พระพักตร์หน้ารูปไข่ พระนาสิกโด่งปลายงุ้มมีพระรัศมีเปลวเพลิง และยังมีอิทธิพลในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ในระยะเวลาต่อมา
ต่อด้วยพระพุทรูปศิลปะอยุธยา ตอนต้นอยุธยาเป็นศิลปะแบบอู่ทอง พระพุทธรูปจะพัฒนามาจากศิลปะทวารวดี ลพบุรี และสุโขทัย แต่อยุธยาแท้ๆ จะอยู่ในช่วงตอนกลาง ได้อิทธิพลจากสุโขทัย มีลักษณะเด่น เช่น พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโขนงโก่ง เปลือกพระเนตรป้ายเป็นแผ่น ขมวดพระเกศาเล็กแบบหนามขนุน รัศมีเปลวเพลิงแบบสุโขทัย ส่วนอยุธยาตอนปลายนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ถอดแบบมาจากเครื่องทรงของกษัตริย์
พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ศิลปะรัตนโกสินทร์
เข้าสู่โซนสุดท้าย พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ อย่างสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีแนวคิดสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช และการสร้างพระพุทธรูปให้เมือนบุคคลจริง ยุคนี้เริ่มมีศิลปินตะวันตกเข้ามาสร้างสรรค์งานศิลปะในไทย เกิดพระพุทธรูปที่มีความร่วมสมัย การสร้างพระพุทธรูปลีลา อย่างพระประธานพุทธมณฑล ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผสมผสานระหว่างประเพณีนิยมแบบศิลปะสุโขทัยและแนวคิดแบบเหมือนจริง
อย่างไรก็ตาม การพัฒนารูปแบบพระพุทธรูปไทยประเพณีมีความเสื่อมคลายลงไปเป็นการสร้างพระพุทธรูปเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น โดยมักสร้างหรือจำลองพระพุทธรูปสำคัญให้คนมากราบไหว้ หรือสร้างตามเค้าโครงแบบพระพุทธรูปโบราณ เช่น พระพุทธรูปอู่ทอง พระพุทธรูปสุโขทัย พระพุทธรูปล้านนา ซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดความสุข ความเจริญ ความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน
พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่นำมาจัดแสดงหาชมยาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตั้งแต่วันนี้ -10 กันยายน 2566 ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
สมเด็จพระสังฆราช ถวายพวงมาลัยสักการะ 'พระเขี้ยวแก้ว'
เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระทาฐะ (พระเขี้ยวแก้ว)
ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum
กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์