'พิธีไหว้ครู'ปฐมบทสั่งสอนสังคมนอบน้อม

ครูปี๊บ คงลายทอง ผู้ประกอบพิธีไหว้ครู

นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดให้มีพิธีไหว้ครูทางดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้ชื่อ“ไหว้ครูดนตรี @Suphanburi Thailand”  ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ “งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรมและจังหวัดสุพรรณบุรี  ที่ช่วยออกแรงผลักดันให้จังหวัดสุพรรณบุรี มีความพร้อมในการขึ้นสู่การเมืองสร้างสรรค์ทางดนตรีของยูเนสโก

ประรำพิธีไหว้ครู ที่ยิ่งใหญ่อลังการมาก โดยมีภาพถ่ายของครูมนตรี ตราโมท วางอยู่ด้วย

พิธีมีขึ้นเมื่อเวลา 09.09 น.ในวันพฤหัสบดีที่  8 มิถุนายน 2566 เวลา 09.09  น. ณ  โรงละครตะวันตก ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนในแวดวง ดนตรี นาฎศิลป์  และศิลปะแขนงต่างๆ  ทั้งหมดแต่งกายในชุดขาว อันเปรียบเสมือนว่า ผู้เข้าร่วมพิธีได้ชำระล้างกายให้บริสุทธิ์แล้ว    นอกจากความตั้งใจที่ต้องการไหว้ครูบาอาจารย์แล้ว บางคนยังมีความตั้งใจอันแรงกล้า ที่จะเข้าทำพิธี”ครอบครู” ซึ่งเป็นความเชื่อ ว่าหากได้ครอบครูแล้ว จะเกิดมงคลใหญ่หลวงกับตัวเอง โดยจะส่งผลให้บุญบารมีของครูอาจารย์ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และครูที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มาปกป้องรักษาตนเอง  อีกทั้งยังเป็นเสมือนการได้รับคำอวยพรจากบรรดาครู ให้มีความแตกฉานในวิชา ความรู้ที่ร่ำเรียน และประสบความสำเร็จในอาชีพ

การไหว้ครูครั้งสำคัญครั้งนี้ มี”ครูปี๊บ คงลายทอง “ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทย ปี2569  เป็นผู้ประกอบพิธีการซึ่งกินเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยครูปี๊บ ได้อ่านโองการประกอบการไหว้ครู พร้อมกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ และถวายเครื่องสังเวย สลับกับการให้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบพิธี จากนั้น ศิลปิน นักร้อง นักดนตรีไทย ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมถึงศิลปินรุ่นเยาว์ ในจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง เข้ารับการเจิม รับน้ำมนต์ และไม้มงคล ซึ่งประกอบไปด้วยใบเงิน ใบทอง ใบมะตูม และหญ้าแพรก ม้วนรวมกันและผูกด้วยด้ายสายสินธุ์ เพื่อสร้างสิริมงคล ต่อด้วยพิธีครอบครูดนตรีไทย ตามลำดับ

หลังพิธีการไหว้ครู  ก็เข้าสู่ช่วงของ”การครอบครู”  ถ้าเป็นกลุ่มผู้เริ่มฝึกหัดดนตรีไทยจะแบ่งเป็นการครอบฉิ่ง สำหรับผู้ฝึกหัดดนตรีประเภทเครื่องสายและขับร้อง  การครอบสาธุการ สำหรับผู้ฝึกหัดดนตรีประเภทปี่พาทย์ หากผู้ฝึกหัดมีทักษะและคุณสมบัติตามกำหนด ผู้ฝึกหัดปี่พาทย์จะครอบตระโหมโรง ครอบโหมโรงกลางวัน ครอบหน้าพาทย์ชั้นสูง ตามลำดับ จากนั้นจึงเป็น พิธีรับมอบ ผู้รับมอบต้องมีทักษะและคุณสมบัติตามกำหนด) และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีครอบและรับมอบแล้ว ครูปี๊บ ได้กล่าวคำส่งครู ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เชิด-กราวรำ จึงเสร็จสิ้นพิธีไหว้ครู

หัวละคร ที่นำมาประกอบการทำพิธี

ครูปี๊บ  กล่าวถึงงาน “ไหว้ครูดนตรี@Suphanburi Thailand” ครั้งนี้ พิเศษกว่าพิธีไหว้ครูที่ผ่าน เพราะเป็นการรวมพลังของชาวศิลปิน ในจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดภาคกลางรวมถึงภาคตะวันออก 25 จังหวัด ที่รวมใจกันจัดงานขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดพิธีไหว้ครู ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ และส่งต่อสู่เยาวชนรุ่นหลัง ให้มีความตระหนักได้แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณต่อครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประศาสตร์วิชา ให้มีความรักในศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย  รวมทั้งเผยแพร่อัตลักษณ์ไทยสู่สังคมโลก

ดนตรีไทยบรรเลงสด ในพิธีไหว้ครู

“พิธีไหว้ครู จะทำในวันพฤหัสบดีเท่านั้น    พิธีที่มีขึ้นครั้งนี้ เป็นการไหว้ครูดนตรี ครูละคร นาฎศิลป์ เพื่อให้ลูกศิษย์ที่ได้เรียนคนตรีไทย ได้รำลึกพระคุณของครู ที่ท่านได้สอนได้สั่ง   พิธีไหว้ เป็นการไหว้ทั้งครูที่สอนเรา และครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือไหว้ครูของครู  นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงเพื่อให้เห็นว่าการสืบทอดดนตรี หรือนาฎศิลป์ เป็นสิ่งมีมาแต่โบราณ”

พิธีครอบครู

ครูปี๊บ กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดพิธีไหว้ครูที่สุพรรณบุรี  นั้นมีความเหมาะสม เพราะจังหวัดสุพรรณบุรีมีความแข๋งแกร่งในด้านศิลปวัฒนธรรมมาก มีทั้งเพลงฉ่อย เพลงเรือ และละครต่างๆ แม้ในพื้นกรุงเทพจะมีโชนที่โดดเด่น แต่ถ้าเป็นละครต้องยกให้สุพรรณบุรี  การจัดทั้งพิธีไหว้ครูภายใต้ะงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการต่อยอดเปิดพื้นที่ให้ศิลปินท้องถิ่น ให้ดำรงอยู่ สืบทอดศิลปะของตัวเองให้คนรุ่นต่อไป  

ความลึกซึ้งของพิธีไหว้ครู นอกจากเป็นการสอนสังคมให้แสดงความนอบน้อมแล้ว  ครูปี๊บ ยังบอกว่า ในแง่จิตใจคนที่เข้าร่วมพิธี ถือว่าเป็นการสร้างกำล้งใจได้ระดับหนึ่ง เป็นการต้อนรับเยาวชนที่เข้ามาเรียน ในศิลปะแขนงนั้นๆ โดยเฉพาะนาฎศิลป์ ดนตรี เราจะมีครู ที่เรายึดหนี่ยว การไหว้ครู จะทำให้เห็นภาพครูที่เสียชีวิต ได้ทำบุญให้ท่านด้วย   ทำให้เยาวชนปัจจุบันได้เเห็นว่า ครูที่สอนเขา ยังมีครูอีกระดับหนึ่ง หรือเป็นครูของครูของครู เป็นการสร้างความรู้สึกที่ทำให้ผู้เรียนรับรู้ว่า ศิลปะแขนงนั้นมีการสืบทอดกันมายาวนานแค่ไหน  

“คนที่มาเรียนดนตรีหรือนาฎศิลป์ ถึงต้องมีความพร้อม ต้องรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นลำดับขั้นตอนที่จำเป็นต้องศึกษา เช่น การกราบไหว้ แม้ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ และสังคมที่เปลี่ยนไป  ทำให้ลืมของพวกนี้ไป  แต่จริงๆเราต้องกลับมาเป็นแบบเก่า รักษาขนบธรรมเนียมการเคารพไหว้  ซึ่งครูคนแรกของเราก็คือ พ่อแม่ และครูที่สั่งสอนทางศิลปะ หรือบรมครู ที่เป็นครูของครู “ครูปี๊บกล่าว

การเป็นหนึ่งของครูผู้ประกอบทำพิธีไหว้ครูใหญ่ ที่ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 10 คน  ครูปี๊บบอกว่า ต้องผ่านการคัดเลือกจาก”ผู้ใหญ่ “ในแวดวงศิลปะ  คุณสมบัติที่ควรมีนั้น ก็คือความเป็นระเบียบ ความมีมารยาท การรู้จักอันไหนสูงอันไหนต่ำ ควรหรือไม่ควร  และสิ่งหนึ่งที่แอบแฝงในคุณสมบัตินั้นก็คือ การไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดใดๆ  

“ผมโดนคัดเลือกตั้งแต่สมัย กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จที่โรงละครที่ผมเล่น  ไม่เคยคิดเลยว่าต้องมาเป็นผู้ทำพิธีนี้ พอได้รับคัดเลือก ก็คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด จะได้เป็นตัวอย่างเด็กรุ่นใหม่ ให้มีกำลังใจต่อไป ส่วนผู้สืบทอด ทางผู้ใหญ่จะมีการคัดเลือก ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ จะเป็นผู้คัดเลือก”

อาจกล่าวได้ว่า ครูปี๊บ เป็นครูทางด้านสายดนตรีไทย เพราะเกิดมาในครอบครัวศิลปินดนตรีไทย และเป็นทายาทคนสุดท้องของครูปี่คนสำคัญ ครูเทียบ คงลายทอง และคุณแม่สว่าง   จึงเป็นผู้ที่มีฝีมือในการเป่าปี่เป่าขลุ่ย ได้อย่างไพเราะ มีชั้นเชิงแพรวพราว  แต่ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครู ทำให้ครูปี๊บ ต้องเดินทางไปทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษา ตามวิทยาลัยนาฎศิลป์ ต่างๆทั้งเหนือจรดใต้

“ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูคนอื่นๆ ก็ช่วยๆกระจายกันไปทำพิธี ให้ตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่ได้มีแต่ผมคนเดียว “ครูปี๊บ เล่า

ด้านนายโกวิท ผกามาศ  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กล่าวว่า การจัดพิธีไหว้ครูครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ที่จัดงานวิถีถิ่น วิถีไทย 4 ภาคทั่วปรเเทศ  ระหว่างวันที่ 9-13 มิถุนายน 2566 วัดป่าเลไลย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  ซึ่งทางวธ. ได้ร่วมมือกับ10หน่วยงานของจังหวัด   เหตุผลของการจัดพิธีไหว้ครูครั้งนี้นอกจากการเสนอให้สุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ทางดนตรีต่อยูเนสโกแล้ว พิธีกรรมการไหว้ครูครั้งนี้ยังแตกต่างไปจากพิธีไหว้ครูของ นักเรียน นักศึกษาทางด้านนาฎศิลป์ ดนตรี ที่มีเป็นประจำทุกปีอีกด้วย ซึ่งสวธ. ต้องการส่งเสริมให้พิธีการนี้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก  และหวังให้เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณ  เพราะพิธีไหว้ครูได้รับการยอมรับว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติ  ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ควรได้รับการสืบทอดรักษาพิธีนี้ต่อไป

“จังหวัดสุพรรณบุรีมีจุดแข็ง เพราะมีส่วนราชการของกระทรวงวัฒนธรรมมากที่สุดถึง 10หน่วย  ที่นี่ยังมีโรงละครแห่งชาติตะวันตก หอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ วิทยาลัยนาฎศิลป์   และความพร้อมเรื่องสถานที่ ที่สามารถรองรับคนเข้าร่วมพิธีไหว้ครูและครอบครูได้มากกว่า  500 คน  และคนอีก 24จังหวัด  ที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย โดยเราถือว่ากิจกรรมนี้  เป็นการสืบสานประเพณีที่ดีของไทย และร่วมผลักดันให้เมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองสร้างสรรค์ทางดนครีของยูเนสโกต่อไป “

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกวดการแสดงดนตรีพื้นบ้านไทย 4 ภาค เทิดพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพฯ องค์วิศิษฏศิลปิน

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพ

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (1)

เป็นอีกครั้งในชีวิตที่ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อค้นหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าจะพบมั้ย แต่เชื่อมั่นว่า จะทำให้ตัวเองในฐานะชาวพุทธได้พบกับความสุขสงบในจิตใจและได้เว้นวรรคจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ห่างไกลจากสิ่งเร้ารอบตัว ตามโปรแกรมจะไปครบทั้ง 4 สังเวชนียสถาน

สงกรานต์ชลบุรี สานประเพณีธีม'งานวัด'

ชลบุรีเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทยภาคตะวันออกอย่างยิ่งใหญ่ โอกาสนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

วธ.เปิดสงกรานต์ปีใหม่ไทยวัดสุทัศน์ฯ นทท.คึกคัก ทั่วไทยร่วมสืบสานความงามประเพณี

13 เม.ย.2567 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม