
ละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” หรือ Heart of Stone the Musical ที่จะเปิดม่านการแสดงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นผลงานที่ดัดแปลงจากวรรณคดีไทยชิ้นเยี่ยม เรื่องพระอภัยมณี ของกวีเอกชื่อก้องโลก สุนทรภู่ แต่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 2
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบพระอภัยมณีบทกลอนอันสนุกสนานและล้ำลึกของสุนทรภู่ มาดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงก่อนหน้านี้ พระอภัยมณีได้ถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน ศิลปะการแสดง หรือแม้แต่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังรังสรรค์ผลงานอีกมากมาย
แต่จะเป็นครั้งแรกในไทยที่เรื่องราวของพระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทรถูกนำมาเล่าอีกครั้งในรูปแบบละครเพลงเดอะมิวสิคัล ทุกคนจะได้เสพวรรณคดีในเวอร์ชั่นที่ทุกคนจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งละครเวทีจะพาผู้ชมในหอประชุมใหญ่หลุดเข้าไปอยู่ในโลกของผีเสื้อสมุทร โปรเจ็กนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสภาวัฒนธรรมเขตปทุมวันจัดภายใต้โครงการสร้างสรรค์วรรณกรรมสุนทรภู่ สู่ละครเพลง “หัวใจอภัยมณี ” เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติพระสุนทรโวหารที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม

โกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดแสดงละครเพลงเรื่อง ‘หัวใจอภัยมณี’ เพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติพระสุนทรโวหาร อีกทั้งเป็นการต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมให้วรรณกรรมพื้นบ้าน เพื่อยกระดับวรรณคดีไทยสู่สากลผ่านศิลปะการแสดงในรูปแบบใหม่ ถือเป็นมิติใหม่ของวรรณคดีเป็น Soft Power เสริมสร้างเสรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็น Thailand Cultural Centre : Thailand Soft Power Space สู่การพัฒนาที่สร้างสรรค์ต่อไป

ด้าน รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะสร้างสรรค์ผลงาน มองเห็นความหลากหลายมิติของวรรณคดีไทยเรื่องนี้และได้นำบางช่วงบางตอนของวรรณคดีไทย เรื่อง พระอภัยมณี มาตีความใหม่ผ่านมุมมองใหม่จากคนรุ่นใหม่ เพื่อต้องการ จะสื่อสารและเชื่อมโยงกับคนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังเล่าผ่านในมุมมองของตัวละครที่ชื่อว่า นางผีเสื้อสมุทร จะเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมได้ชมการเดินทางของตัวละครผ่านละครเพลง
“ เด็กส่วนหนึ่งมองว่า ผีเสื้อสมุทรน่ากลัว เป็นตัวร้าย สมควรตาย แต่ละครเพลงตีความใหม่ และมองหลายมุม เราสร้างสรรค์ 20 บทเพลงขึ้นใหม่เพื่อถ่ายทอดในรูปแบบละครเพลง มีบทเพลงที่เชิญอาจารย์สมนึก แสงอรุณ ร่วมบรรเลงปี่ผสานวงดนตรีออร์เคสตร้า เรื่องราวจะดำเนินและจบลงเช่นไร ผีเสื้อสมุทรตรอมใจตายมั้ย อยากให้มาติดตามชม “ รศ.ดร.จารุณี กล่าว

ละครเพลง “หัวใจอภัยมณี” ใช้นักแสดง นักดนตรีและทีมงานกว่า 70 ชีวิต ถ่ายทอดเรื่องราววรรณคดีพระอภัยมณีของมหากวีแห่งรัตนโกสินทร์โดยเลือกตัวละครที่ทุกคนรู้จักและมีเรื่องราวน่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่ง คือ นางผีเสื้อสมุทร โดยคว้าตัว ปุณยนุช พรสกุลไพศาล นักแสดงละครเวทีระดับอินเตอร์มารับบทสำคัญ ร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราว โดย ภัสสร์ภวิศา จิวพัฒนกุล ผู้กำกับการแสดง

เส้นเรื่องเข้มข้นจะพาผู้ชมไปเห็นและเข้าใจชีวิตตัวละครผีเสื้อสมุทรในอีกด้านหนึ่ง มุมที่เป็นผู้หญิง ที่มีความรักอย่างสุดหัวใจ จนลืมนึกถึงคุณค่าของตนเองไป การเลือกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระอภัยมณีและผีเสื้อสมุทรให้ชัดเจน ทำให้สามารถถ่ายทอดประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่ได้รับความสนใจในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) คุณค่าในตนเอง (Self-worth) ความรักและความสัมพันธ์ (Love and Relationship) ที่ สุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้อย่างละเอียดอ่อน ทำให้เห็นถึงอัจฉริยภาพด้านการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาษาไทยที่งดงาม และบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างมีความเป็นสากล มีคุณค่าข้ามผ่านกาลเวลาและ นี่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เรื่องราววรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จะถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครและแง่มุมและการตีความแบบใหม่ๆ ดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับละครเพลงเรื่อง“หัวใจอภัยมณี”จะจัดแสดงเป็น 3 รอบ ระหว่าง วันที่ 19 – 20 ก.ค.2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 รอบ วันที่ 19 ก.ค. เวลา 14.00 น. และ 19.00 น. วันที่ 20 ก.ค. เวลา 19.00 น. พร้อมการเสวนาหัวข้อ “จากวรรณกรรมสู่ละครเพลง หัวใจอภัยมณี“ ซึ่งเปิดให้รับชมฟรี ผู้สนใจสำรองที่นั่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ WWW.TICKETMELON.COM และสอบถามที่ LINE@HEARTOFSTONE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สัมผัส'คลองบางหลวง' ตลาดบกสานวัฒนธรรม
ชุมชนคลองบางหลวงยังคงเป็นชุมชมดั้งเดิมที่รักษาเอกลักษณ์วิถีชุมชนเห็นได้จากเรือนแถวไม้ค้าขายของสองฟากฝั่งถนนและเรือนแถวไม้จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวชื่นชมบรรยากาศริมคลอง ตั้ง
น้อมรำลึกอัครศิลปิน นวมินทรมหาราช
12 ต.ค.2566 - นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “สานสัมพันธ์เครือข่าย น้อมรำลึกอัครศิลปิน นวมินทรมหาราช” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 256
งานรำลึก ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำ
อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการจิตรกรรมของไทย สร้างสรรค์ผลงานอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ศิลปินล้านนาผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะไว้มากมาย ด้วยการอุทิศตน มุ่งมั่น เสียสละ ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ รวมถึงชี้แนะแนวทางให้แก่เด็ก เยาวชน ครู อาจารย์ ศิลปินรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจในงานศิลปะตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่
สิ้น'นายหนังเคล้าน้อย' ศิลปินแห่งชาติ
25 ก.ย.2566 - นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้สุดเศร้า เมื่อได้รับแจ้งว่า นายเคล้า โรจนเมธากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช 2555 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยาย
จบดรามา! อารยธรรมทวารวดี 'พ่อทุกสถาบัน'
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่ทราบว่าใครเขียนนะครับ
ขึ้นทะเบียน 14 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมชาติ
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 มีดังนี้ 1.บ่อเกลือ 2 ตำนานนางผมหอม 3.ตำนานหลวงพ่อพระใส 4.แห่นกบุหรงซีงอ 5.นาเกลือ