25 ปี สบศ.เปิดวัดพระแก้ววังหน้า หนุนเที่ยววัฒนธรรม

ครบรอบ 25 ปี สถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สถานศึกษาที่มีเป้าหมายสำคัญในการจัดการแสดงและการบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์และทัศนศิลป์ เพื่อสร้างคนร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ทำนุบำรุงและสร้างสรรค์ผลงานศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มีความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยที่ถูกต้อง เตรียมจัดการการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมยิ่งใหญ่ “ชุด วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” ณ ลานพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า)  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  ถ่ายทอดถึงประวัติความเป็นมาของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.)จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และแนวทางการพัฒนาสถาบันสู่อนาคตการเป็นสถาบันการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้กับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมชมช่วงเย็นวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2566

การแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยนักศึกษา สบศ.

ส่วนช่วงเช้า เวลา 07.00 น. การทำบุญตักบาตร พระภิกษุสงฆ์ 29 รูป ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้าและกรมพระราชวังสถานมงคลทุกพระองค์ และอุทิศกุศลแด่บุรพาจารย์ ณ บริเวณรอบพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส ที่สำคัญเชิญชวนร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบวรสถานสุทธาวาส  หรือ” วัดพระแก้ววังหน้า”  ตามปกติแล้วบวรสถานสุทธาวาสไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนเข้าไปชม เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ดังนั้น จึงเปิดเฉพาะเวลาที่มีพิธีสำคัญ เช่น พิธีครอบครู พิธีไหว้ครู เท่านั้น หรือต้องขออนุญาตเข้าชมเป็นกรณีไป แต่โอกาสพิเศษครบ 25 ปี จะเปิดให้เข้าชมตลอดทั้งวัน

ด้านในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ลงรักปิดทองปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่ บนบุษบกหาชมได้ยาก ชวนมากราบสักการะเสริมสิริมงคล ที่น่าสนใจจิตรกรรมฝาผนังเป็นจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4   เป็นผลงานครูช่างยุครัตนโกสินทร์เขียนเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า28 พระองค์ และตำนานพระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของไทยและเป็นพระพุทธรูปที่เคยเกือบจะมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้   ครบ 25 ปี มาสักการะพระประธาน จากนั้นมากราบบูชาพระพิฆเนศวร์ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ขอพรให้สมหวังและปัดเป่าเรื่องร้ายๆ  แล้วมาสักการะพระชัยมงคล ณ ศาลพระภูมิ ประจำสถานศึกษาแห่งนี้

สักการะพระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ 

เที่ยวชมวัดพระแก้ววังหน้าแล้ว มารับชมภาพยนตร์สั้น ชุด “วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” และองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ ศูนย์รักษ์ศิลป์ จำนวน 4 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 เวลา 10.00 น. ​รอบที่ 2 เวลา 11.00 น.  รอบที่ 3 เวลา 15.00 น. ​รอบที่ 4 เวลา16.00 น. ภาคค่ำ เวลา 18.30 น. รับชมการเสวนา“บอกเล่า นั่งคุย วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า”  ผู้ร่วมเสวนา นายสด แดงเอียด และ รศ.ณรงค์ชัย ปิฎกรัชต์ สองกรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พร้อมนายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ บรมครูผู้สืบสานศิลปะโขน-ละครของไทย ดำเนินรายการอย่างสนุกสนาน โดย ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์

สำหรับการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม “ชุด วันวาน วันนี้ ที่วังหน้า” ฝึกซ้อมและออกแบบการแสดงโดยผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินแห่งชาติ นำแสดงโดยนักเรียนนักศึกษา สบศ. อำนวยการฝึกซ้อมโดย ดร.นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดี สบศ. ออกแบบการแสดงและกำกับการแสดงโดย ผศ.พหลยุทธ กนิษฐบุตร รองอธิการบดี สบศ. และ ครูโจ้- สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา นักออกแบบท่าเต้นชั้นแนวหน้าของเมืองไทย

25 ปี สบศ. บอกเล่าวันวาน วันนี้ ที่วังหน้า

ดร.นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดี สบศ.  กล่าวว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เน้นการจัดการแสดงและการบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์และทัศนศิลป์ เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในมรดกของชาติ และนักท่องเที่ยวได้รับชมศิลปวัฒนธรรมไทย มรดกวัฒนธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

“  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในไทย จากการที่ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งมรดกโลกและมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องมิได้จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เช่น โบราณสถาน  การแสดงโขน และโนรา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีบทบาทในการสร้างรายได้ เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นการลงทุน การจ้างงาน และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เกิดการหมุนเวียนเงินภายในประเทศ “ ดร.นิภา กล่าว

นอกจากองค์ความรู้แล้ว อธิการบดี ระบุ สบศ. ยังมีทุนทางศิลปวัฒนธรรม  ทั้งด้านที่ตั้ง มีอาคารพร้อมสาธารณูปโภคสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยรอบพระอุโบสถบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า ทั้งโรงละคร หอศิลป์ นิทรรศการ ศูนย์รักษ์ศิลป์  และการจัดการแสดง แสง สี เสียง มีความพร้อมในด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมด้วยเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้

งานเฉลิมฉลองที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้แก่ประชาชนและชาวต่างชาติได้สัมผัสอย่างตระการตา แต่ยังเป็นการส่งต่อประวัติศาสตร์และความสำคัญของศิลปกรรมผ่านสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทรงคุณค่าแก่การเรียนรู้ไปในเวลาเดียวกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมหลักฐานเก่าแก่'วัดมหาธาตุ' งานสมโภช 338 ปี

วัดมหาธาตุฯ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม  ตั้งอยู่ติดสนามหลวง เขตพระนคร ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองสมโภชพระอาราม 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

ตามรอยขนหัวลุกใน'วังหน้า'

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เตรียมฉลองเทศกาลวันฮาโลวีนในรูปแบบชาวพิพิธภัณฑ์ ชวนเที่ยวชมตลาดอาร์ตทอยในสวน (Art Toys Market in the Garden) ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ เนื่องในเทศกาลผีนานาชาติ “พูด ผี-ปีศาจ” (Ghost Talks) วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 28- 29 ตุลาคม 2566

น้อมถวายความอาลัย เพจดัง เผยสิ้นเจ้านายองค์สุดท้ายในสายวังหน้า

เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา โพสต์ข้อความว่า สิ้นเจ้านายองค์สุดท้ายในสายวังหน้า 23 กรกฎาคม 2565 “หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี” สิ้นชีพิตักษัย สิริชันษา 100 ปี