เรียนรู้วีถีคนดอยผ่านอาหาร’อาข่า’

เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของคนกรุงกับอาหารที่ไม่คุ้นตา รสชาติไม่เหมือนใคร ที่มาจากวัตถุดิบพื้นถิ่นตามฤดูกาลของคนบนพื้นที่สูง เมื่อกรรณิการ์ วุ้ยยื้อ สาวกรุงที่เป็นสะใภ้อาข่า ซึ่งคลุกคลีกับครอบครัวอาข่ามากว่า 10 ปี สัมผัสอาหารพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่มีการส่งต่อภูมิปัญญาอาหารจากรุ่นสู่รุ่น แถมอร่อยและดีต่อสุขภาพ  จุดประกายให้เธอเปิดร้านอาหารอาข่าในกรุงเทพฯ  เพื่อถ่ายทอดวิถีคนบนพื้นที่สูงผ่านอาหาร

กรรณิการ์ วุ้ยยื้อ เล่าว่า ทุกครั้งที่ได้ไปบ้านสามีที่บ้านดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เธอจะเจริญอาหารเป็นพิเศษ เพราะอาหารอาข่าเป็นอาหารที่รสจัดจ้าน ถูกปาก และดีต่อสุขภาพ  จึงมีไอเดียมาเปิดร้านอาหารอาข่าในกรุงเทพฯ ที่ร้าน ME THAI สาขาพระราม 9 ซอย 41 เดิมเป็นร้านกาแฟที่เธอและสามีทำร่วมกัน โดยกาแฟที่ใช้ก็เป็นกาแฟปลูกเองและทำเองทุกขั้นตอนจากสวนที่บ้าน เมื่อตั้งใจจะทำอาหารเธอจึงได้ไปเรียนรู้วิธีการทำอาหารอาข่าและศึกษาเรื่องราวของอาหารอาข่ามาเป็นอย่างดี  การทำอาหารจะรักษาแก่นหลักของอาหารอาข่าไว้อย่างครบถ้วนนั่นคือการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นและการปรุงแบบเรียบง่าย หลายเมนูสามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอาข่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุดคือต้องเป็นการทานอาหารร่วมกันหลายๆคน 

สะใภ้อาข่า บอกด้วยว่า “ห่อจาจามะ” ภาษาอาข่าแปลว่า กินข้าวด้วยกัน คือ การชวนมากินอาหารอาข่าด้วยกัน ตามรูปแบบการกินอาหารของชาวอาข่าที่มักจะนั่งตั้งวงกินข้าวด้วยกันทั้งครอบครัวหรืออาจจะมีคนในละแวกบ้านมาร่วมแจมด้วย ซึ่งอาหารอาข่าก็สามารถสะท้อนได้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอาข่าได้เป็นอย่างดี โดยดูได้จากรูปแบบการปรุงอาหารที่เรียบง่ายเน้นวัตถุดิบที่ปลูกได้บนภูเขาสูง และอาหารอาข่าจะใช้วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรให้ความเผ็ดร้อนเพื่อสร้างอบอุ่นให้กับร่างกายเนื่องจากบนดอยจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี

“ ห่อจาจามะเป็นการรับประทานอาหารอาข่าแบบดั้งเดิมที่นำวัตถุดิบพื้นถิ่นตามฤดูกาลที่ปลูกไว้ทานในครัวเรือนมาปรุงอาหาร อาทิ รากหอมชู ผักเริญ ผักแฉกู่ ที่สำคัญยังมีถั่วเน่าฝีมือแม่ที่เป็นสูตรเฉพาะของที่บ้านอีกด้วย โดยผักจะถูกขนส่งด้วยรถเย็นตรงจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ อาหารอาข่าจะเป็นอาหารที่ผ่านการปรุงแบบง่ายๆด้วยการต้มหรือผัด รวมถึงอาหารที่ผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารแบบดั้งเดิม เช่น ถั่วเน่า ผักดอง และหมูรมเตาฟืน ส่วนการปรุงจะไม่ใช้น้ำปลามะนาวหรือน้ำตาล แต่จะใช้รสชาติเปรี้ยวหวานจากผักที่นำมาปรุงอาหาร และจะใช้พริกกับเกลือเป็นเครื่องปรุงหลักเท่านั้น “ กรรณิการ์ บอก

ส่วนรสชาติอาหารอาข่านั้น กรรณิการ์ เล่าว่า  คนที่ได้มาลองทานอาหารอาข่ามักถูกใจ แม้รสชาติจะแปลกไปจากอาหารที่เคยทาน แต่ก็เป็นความแปลกที่รู้สึกชอบ เมนูที่ถูกใจหลายคนเป็นพิเศษ คือ น้ำพริกแมคคาเดเมีย และลาบคั่วดอย ตนดีใจมากที่มีคนเปิดใจให้กับอาหารอาข่า หลายคนมาทานซ้ำอยู่หลายครั้ง บางคนพาเพื่อนๆ หรือครอบครัวมาทานด้วย ความตั้งใจในอนาคตอยากทำให้ทุกคนได้รู้จักคนอาข่าและอาหารอาข่ามากขึ้นเหมือนกับตนที่หลงรักในรสชาติอาหารและวิถีชีวิตของชาวอาข่า

ผู้สนใจอาหารอาข่าดั้งเดิมแท้ๆ และอยากมาร่วม “ห่อจาจามะ” สามารโทรจองล่วงหน้า 1 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 082-156-2945 โดยจะรับเป็นโต๊ะกรุ๊ปละ 4 – 10 คน  เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสรสชาติอาหารบนดอยที่หลากหลายเมนูอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยกันเหมือนอย่างคำว่า “ห่อจาจามะ” พร้อมฟังเรื่องราวความที่มาของวัตถุดิบและการแนะนำเมนูอาหารที่น่าสนใจจากเจ้าของร้าน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  FB : ME THAI และ IG : methai_official

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา สัมผัสอัตลักษณ์บ้านสบคำ

อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ถือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทั้งลาว ไทลื้อ ไทใหญ่ ไทยวน พม่า  เมี่ยน ม้ง ลั้วะ อาข่า ลาหู่ โดยเฉพาะในชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ต.เวียง อ.เชียงแสน  เป็นชุมชนตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย

'ใจถึงธรรมะ' ท่องแดนพุทธภูมิ (2)

มาจาริกแสวงบุญตามเส้นทางพุทธภูมิพาเดินทางข้ามด่านชายแดนเนปาล เพื่อไปบ้านเกิดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เมืองลุมพินี เรามีเวลาอยู่ที่อุทยานลุมพินีวันสถาน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหลายชั่วโมง

ดนตรีภาษาสากล ถักทอมิตรภาพไทย-รัสเซีย

คณะนักร้องประสานเสียงเพลงพื้นบ้าน Pyatnitsky ซึ่งรวบรวมนักแสดงมากฝีมือ ทั้งนักร้อง นักเต้นรำ และนักดนตรีชั้นยอดจากภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย  จัดการแสดงเพลงรัสเซียในรูปแบบศิลปะดั้งเดิมสุดไพเราะ งดงามตระการตา ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย