เฟ้นหา'ครีเอเตอร์'หนุนการเปลี่ยนแปลงสังคม

ครีเอเตอร์สร้างการเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของสังคมและวัฒนธรรม เพื่อปลุกคนรุ่นใหม่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถพิเศษ และแพชชันสร้างคอนเทนท์ออนไลน์กระตุ้นการใส่ใจการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่วัยเดียวกัน  พร้อมกับให้ความรู้กระป๋องอลูมิเนียมรีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วงเท่านั้น นำมาสู่การจัดเวทีประกวดคลิปสั้นโครงการ University Can Do : To Be a Creator โดยบริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC )  ร่วมกับ Aluminium Loop  มีนักศึกษาทั้งประเภททีมและประเภทเดี่ยวร่วมโปรเจ็ค พร้อมกิจกรรมเวิร์คชอปกับอินฟลูเอนเซอร์สายกรีนอย่าง ก้องกรีนกรีน และใบตอง มิสเอิร์ธไฟ มาให้คำแนะนำและความรู้คนรุ่นใหม่พัฒนาและแนะนำเทคนิคสร้างสรรค์คอนเทนท์สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดี

ล่าสุด จัดงานประกาศรางวัลโครงการ University Can Do : To Be a Creator ณ ห้องประชุมออดิทอเรี่ยม ชั้น 3 ซี อาเซียน พระราม 4  โดยกิติยา แสนทวีสุข ผอ.ฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด เป็นผู้มอบรางวัลให้เยาวชนที่ชนะเลิศ  พร้อมทีมคณะกรรมการตัดสิน อาทิ ธนบูรณ์ สมบูรณ์  ซีอีโอ  GREENERY และ วิลาวัณย์ ปานยัง ซีอีโอ บริษัท เอ็มเอ็มยู จำกัด หรือ Make More Unlimited  ภายในงานยังมีกิตติคุณ ศักดิ์สูง ผู้ประสานงานร่วมเครือข่ายเยาวชนระดับโลกเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำภูมิภาคเอเชีย ขึ้นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ที่ใฝ่ฝันเป็นครีเอเตอร์

กิติยา แสนทวีสุข กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักการดำเนินธุรกิจของบริษัท ตามนโยบาย TBC Sustainability Goals 2030 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และส่งเสริมยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โรงงานบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของเราเลือกใช้วัสดุอลูมิเนียมผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เพราะรีไซเคิลได้ ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมได้ครบวงจรภายในประเทศ  เรามีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนของอลูมิเนียมรีไซเคิลในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมใบใหม่จาก 70% เป็น 85% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งโครงการ University Can Do : To Be a Creator  ใช้พลังเยาวชนผ่ารช่องทางออนไลน์สร้างการรับรู้ของคนในวัยเดียวกัน เปลี่ยนภาพจำของการรีไซเคิลกระป๋อง ส่งสารกระป๋องอลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100%

“ การเป็นครีเอเตอร์ต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง คณะกรรมการพิจารณาตัดสินแต่ละทีมยากมาก เพราะทุกคนตั้งใจ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างมิติใหม่ในการสื่อสาร   เวทีนี้เป็นแค่ก้าวแรกและจะมีก้าวต่อไปแน่นอน เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่สร้างคอนเทนต์ดีๆ ต่อไป ผลงานที่คว้ารางวัลทั้งประเภทเดี่ยวและประเภททีมตอบโจทย์สื่อสารชวนคนมารีไซเคิลและให้ความรู้กระป๋องอลูมิเนียมมีค่ารีไซเคิลได้ทัังใบ มีคาแรกเตอร์ของดารา โครงเรื่องสร้างสรรค์ คุณภาพเสียงดี ตัดต่อดี บางทีมนำเทคโนโลยีเอไอเพิ่มความน่าสนใจ สื่อเป้าหมายได้ชัดเจน สะกดผู้ชมในโลกโซเชียลตั้งแต่ 5 วินาทีแรก ก่อนที่เนื้อหาพาให้คล้อยตามจนจบภายในเวลา 1 นาทีครึ่ง ทุกผลงานแสดงศักยภาพของวัยมหาวิทยาลัย และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่จำเป็นต้องเรียนสายนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ก็เป็นครีเอเตอร์หน้าใหม่ได้“ กิติยา กล่าว

จีจี้ – ชฎารัตน์ อับไพ นศ.ชั้นปีที่ 2 คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ราชภัฏนครราชสีมา  ทีม SNJ ตัวแม่มากู้โลก กล่าวว่า จากโจทย์ให้ทำคลิปสั้น ภายใต้หัวข้อ “กระป๋องอลูมิเนียม รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง” ท้าทายมาก เราต้องทำคลิปสั้นให้แปลกใหม่ สื่อสารโลกเผชิญภาวะโลกเดือด แต่กระป๋องอลูนิเนียมหนึ่งใบเป็นอัศวินจิ๋วช่วยสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ 100%  กระป๋องนี้ยังมีประโยชน์ทำขาเทียมได้ด้วย อยากสร้างความตระหนักพฤติกรรมบริโภคในแต่ละวัน เราดึงดูดให้คนดูคลิปด้วยการตั้งคำถามแต่แรก”รู้หรือไม่”   ทำให้คนชมสงสัย ก่อนใส่เนื้อหาเรื่องกระป๋องอลูมิเนียม สมาชิกในงานมาจากต่างมหาวิทยาลัย เราแบ่งงานกัน อัดเสียง  หาข้อมูล หาฟุตเทจ จนสำเร็จ

นินิว – อรปรียา รุ่งรัตน นศ.ชั้นปี 3 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีม SNJ บอกด้วยว่า เราใฝ่ฝันเป็นครีเอเตอร์ เพราะทุกวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางที่สื่อสารได้ดีที่สุด นอกจากเป็นอาชีพ เราอยากโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่เป็นกระบอกเสียงโลกเราไม่เหมือนเดิม ต้องช่วยกัน ส่วน สกายพงศ์โชติ นาสร้อย ระบุโครงการนี้เปิดโอกาสการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เมื่อได้รับการฝึกฝนจะใช้สื่อออนไลน์เกิดประโยชน์มากขึ้น

ด้าน จันทกานต์ ทองถิ่น นศ.มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ชนะเลิศประเภทเดี่ยว  กล่าวว่า คลิปสั้นใช้ธีมไปเที่ยวประเทศไทยพร้อมกับใช้กระป๋องอลูมิเนียมกัน  อยู่ภาคไหนก็รีไซเคิลได้ จุดเด่นใช้เพลงให้คนหยุดดูคลิป โดยตนแต่งเนื้อเพลง และใช้เอไอสร้างทำนอง ครีเอเตอร์เป็นพลังโซเชียลมีเดีย เป็นกระบอกเสียงให้คนในสังคม นอกจากเรื่องกระป๋อง ยังมีประเด็นขยะแฟชั่นที่อยากเล่าให้คนรุ่นใหม่ฟังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ปรบมือให้กับเหล่าผู้ที่ชนะรางวัลของโครงการ ดังนี้ รางวัลประเภทเดี่ยว รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท ได้แก่ จันทกานต์ ทองถิ่น จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ใครไม่ล่าเบลล่า โดยภัทรดา ผาเหลา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษาจำนวน 5,000 บาท ได้แก่ Let’s Green โดยปุณยนุช อริยะคุณาธร จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รางวัลประเภททีม

รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษาจำนวน 15,000 บาท ได้แก่ ทีม SNJ ตัวแม่มากู้โลก โดยชฎารัตน์ อับไพ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, อรปรียา รุ่งรัตน, พงศ์โชติ นาสร้อย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษาจำนวน 7,500 บาท ได้แก่ ทีม Titans and Troll โดย ธนกร พุฒแก้ว, จิรัชญา แสงอรุณ, ณภคนันท์ พรมสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ รางวัล The Most Popular ทุนการศึกษาจำนวน 5000 บาท ได้แก่ ทีม We are World โดยทัตพงศ์ ปิยะรัตนพิพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, อัสมา เกื้อหมาด จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ รสชริญ จิตรหลัง จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

ติดตามชมผลงานคลิปดีๆ ในช่องทางออนไลน์ของ Aluminium Loop ทั้ง Facebook, Instagram และ TikTok

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส. จับมือ ภาคีเครือข่าย เปลี่ยนขยะเป็นบุญฯ รีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียม เปลี่ยนเป็นมูลค่าสนับสนุนมูลนิธิขาเทียมฯ

วันนี้ (19 มี.ค. 66) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ”