'เดอะ ล้ง 1919  'กลับมาเปิดอีกครั้ง 174 ปี มรดกวัฒนธรรมไทย-จีน

ล้ง 1919 ตำนานจีนในไทย อายุ174ปี กลับมาเปิดอีกครั้ง

เส้นทางริมน้ำเจ้าพระยาเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองกรุง ที่น่าสนใจ เพราะมีทั้งวัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ร่องรอยในอดีตที่ยังหลงเหลือให้เข้าชม หนึ่งสถานที่ที่ต้องลองปักหมุดเดินทางมาสักครั้งคือ เดอะ ล้ง 1919 ท่าเรือประวัติศาสตร์ศูนย์รวมศิลปะไทย-จีนอันทรงคุณค่าริมน้ำเจ้าพระยา ศูนย์รวมสถาปัตยกรรมจีนโบราณและความศรัทธาของชาวไทย-จีน ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมกับเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 174 ปี เดอะ ล้ง 1919  เปิดให้สักการะขอพรในเดือนเกิดเจ้าแม่หม่าโจ้ว หรือเจ้าแม่ทับทิม ตลอดเดือนพฤษภาคมนี้ ทุกวันเวลา 08.00 – 18.00 น.

สำหรับ”ล้ง 1919″ ท่าเรือแห่งประวัติศาสตร์ไทย-จีน ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 174 ปี หากฉายภาพย้อนไปในอดีตช่วงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่นี้คือท่าเรือกลไฟ  ฮวย จุ่ง ล้ง  หนึ่งในท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่สุดซอยถนนเชียงใหม่ ฝั่งธนบุรี  ที่ก่อตั้งโดย พระยาพิศาล ศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตร  ที่มีเชื้อสายจีนได้มาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้สร้างท่าเรือแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) ที่มีรูปทรงอาคารแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน ให้เป็นท่าเรือค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญระหว่างไทย-จีน อีกทั้งยังเป็นด่านหน้าสำคัญที่ชาวต่างใช้ลงทะเบียนเข้าเมืองสยาม จนกลายเป็นโกดังใหญ่แหล่งเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมากมาย เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ

เจ้าแม่หม่าโจว์ ปางผู้ใหญ่

แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนผ่าน กิจการท่าเรือแห่งประเทศไทยเริ่มเข้ามามีบทบาททางการค้ามากขึ้น ท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง เข้าสู่สถานการณ์วิกฤติ เจ้าสัว ตัน ลิบ บ๊วย แห่งตระกูลหวั่งลี จึงได้เข้าเป็นเจ้าของท่าเรือแห่งนี้นับตั้ง พ.ศ.2462(ค.ศ.1919) เป็นต้นมา จากท่าเรือจึงเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารสำนักงานทำการค้าชาวจีน  และโกดังสินค้าข้าว  ช่วงระยะเวลานั้น ที่แห่งนี้จึงเป็นจุดก่อตัวของศิลปะ จากปลายพู่กันจีนของช่างชาวจีน ที่ได้บรรจงเขียนภาพวาดตกแต่งวงกบหน้าต่าง ประตูบ้าน  เพื่อความเป็นสิริมงคล จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนป ที่นี่ได้กลายเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของคนเฒ่าคนแก่ และคนในพื้นที่ ในปีเดียวกันนั้นเอง ฮวย จุ่งล้ง ก็ได้ถูกทิ้งไว้เหลือเพียง ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ประดิษฐานอยู่ภายใน และภาพประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้

ภายในศาลเจ้าแม่หม่าโจว้

ในปี พ.ศ.2559 ตระกูลหวั่งลี ได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมล้ง1919 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ล้ง 1919 ได้ถูกปิดตัวลงในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 หรือช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2565 บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย  ได้เข้ามาดำเนินการเช่าที่ดินริมน้ำประวัติศาสตร์เดอะ ล้ง 1919 และได้จัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม สืบสานการดูแลศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ภายใต้โครงการเดอะ ล้ง 1919 ริเวอร์ไซด์ เฮอริเทจ เดสติเนชั่น พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนวเฮอริเทจ เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวสถานที่ทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมที่สวยงามริมน้ำเจ้าพระยา

นักท่องเที่ยวหลั่งไหลสักการะเจ้าแม่หม่าโจว้

ล้ง 1919 จะประกอบด้วยตัวอาคาร 3 หลังเป็นตัวอาคารหมู่แบบ ซาน เหอ ย่วน ซึ่งเป็นการวางผังอาคารแบบจีนโบราณ รูปตัวยู หลังคาที่ยังคงรูปทรงเกือกม้าแบบจีนไว้อย่างงดงาม แม้ว่าจะต้องมีการซ่อมแซมในส่วนของกระเบื้องมุงหลังคา ในบางจุด ส่วนลานกลางแจ้ง ปูพื้นด้วยหินอับเฉา ที่ใช้ถ่วงเรือมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ปัจจุบันก็ยังคงสภาพเช่นเดิม ส่วนที่ยังแข็งแรงอย่างคาน ยังจะรูปแบบเดิมไว้ ที่นั่งระเบียงด้านหน้า ซึ่งแต่ก่อนได้ถูกใช้ให้เป็นครัวกลางแจ้ง สำหรับทำอาหาร เห็นได้จากร่องรอยการทำครัวที่ได้ถูกทิ้งไว้ เพราะอาคาร ซาน เหอ ย่วน ไม่มีการออกแบบของห้องครัวหรือห้องน้ำ  ห้องน้ำของพวกเขาคือการถ่ายใส่ถังและนำไปทิ้ง ที่นี่จึงทำรู้สึกได้ถึงบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี

จุดสักการะวางเครื่องไหว้บริเวณลานกว้างกลางล้ง1919

ส่วนที่เป็นจุดที่พิเศษของ ล้ง 1919 คือช่างฝีมือจิตรกรรมได้ใช้ปลายพู่กันวาดทับลวดลายภาพจิตรกรรม ซึ่งภาพจิตรกรรมเหล่านี้ได้ถูกค้นพบหลังจากที่ซ่อนอยู่ภายในปูนที่ถูกฉาบซ้ำกันไปมาอย่างยาวนานของคนในอดีต เป็นการซ่อนแบบประณีต รักษาลายเส้นภาพไว้ดังเดิม นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปาง ประกอบด้วย ปางจุ้ยบ๋วยเนี้ย หรือ ปางเด็กสาว ช่วงยังเป็นเด็กสาวองค์โม่เหนียง (หลงหนี่ว์) ตำนานเล่าว่าองค์ท่านชอบปฏิบัติธรรม ในตอนเช้าจะไปเก็บน้ำค้างมารักษาผู้คน จุดสังเกตคือ ใบหน้าจะอ่อนเยาว์กว่าปางอื่นๆ และประทับอยู่ด้านซ้ายมือ ผู้มาสักการะจะขอพรเรื่องการเดินทางให้ราบรื่น ไร้อุปสรรค และมีความรักที่สดชื่น

ภายในจุดสักการะเจ้าแม่หม่าโจว้ งดงาม

 ปางให่ตั้งหม่า หรือ ปางผู้ใหญ่ ในอดีตคือช่วงที่เป็นเซียนแล้วชื่อองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว จุดสังเกตคือ จะมีองค์ขนาดใหญ่ ประทับอยู่ตำแหน่งขวามือ นิยมขอพรเรื่องการค้าขาย เงินทอง ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองและปางเทียนโหวเซี่ยบ้อ หรือปางเทพ  ในอดีตคือตอนที่ได้ยกย่องเป็นองค์เทียนโหวเซี่ยบ้อ จุดสังเกตคือ สวมชุดจักรพรรดิ ลักษณะชุดสำหรับผู้ชาย โดยมีหมวกแบบฮ่องเต้ มีม่านมุกปิดบังครึ่งหน้าและจะต้องมีตราแผ่นป้ายที่บอกถึงตำแหน่งขององค์ท่านเรียกว่า ตาตั้ง ก๊กอิ่น หรือตราประทับแว่นแคว้นและบ่งบอกว่าคือจักรพรรดิ เขียนว่า เทียนโหวเซี่ยบ้อ และประทับอยู่ตรงกลาง ซึ่งเชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาจิตสูงนิยมขอพรเรื่องสุขภาพแข็งแรง รักษาทรัพย์ที่มีไว้ให้กับลูกหลานและการมีครอบครัวที่อบอุ่น มั่นคง และร่มเย็น

ถ่ายภาพชิคๆกับจิตรกรรมบนกำแพง

มีการกล่าวขานถึงฤทธานุภาพของเจ้าแม่หม่าโจ้วว่าเป็นเทพผู้อุปถัมภ์การเดินเรือทางทะเลอันเป็นเส้นทางการค้าขายในอดีต สามารถพยากรณ์ลมฟ้าอากาศและท้องทะเลได้ จนช่วยให้คนในหมู่บ้านหาปลาได้มาก เดินทางปลอดภัย ค้าขายร่ำรวย ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพที่เสริมมงคลด้านการค้าขาย ขึ้นชื่อในด้านความเมตตา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวไทยทั่วประเทศรวมทั้งชาวต่างชาติที่เดินทางมาไหว้ขอพรจำนวนมาก

เดินชมชั้นบนรอบตัวอาคารล้ง 1919

โดยการกราบไหว้เจ้าแม่หม่าโจ้วล้ง 1919 ได้จัดพื้นที่สักการะไว้ที่ชั้นล่างเป็นภาพองค์จำลอง ส่วนองค์จริงสามารถขึ้นไปรับชมได้ที่ชั้น 2 การไหวนั้นไม่ต้องบน หากพรที่ขอสัมฤทธิ์ผลก็เพียงแค่จัดของมาไหว้ขอบคุณเจ้าแม่เท่านั้น ซึ่งของไหว้ก็จะมี 3 ชนิดประกอบด้วย ส้ม หมายถึง ดิน, น้ำดื่ม หมายถึง น้ำ และ ธูปเทียน หมายถึง สวรรค์ โดยชาวจีนเชื่อว่าคำขอพรจะเป็นจริงได้เมื่อดินต่อน้ำ น้ำต่อฟ้า สวรรค์จะได้ยินคำขอพรของผู้ไหว้ ของ 3 สิ่งนี้จึงควรนำมาไหว้ขอบคุณเมื่อเราสมปรารถนา หากใครที่มีกำลังอาจจะจัดเพิ่มขนม สิ่วท้อ ซึ่งเป็นขนมมงคลจำลองผลไม้สวรรค์ หรือจัดอาม่าเพ้า ชุดทรงเทพเจ้าชุดใหญ่ที่ทำจากกระดาษมาไหว้เพิ่มก็ยิ่งเป็นสิริมงคล

ภาพจิตรกรรมศิลปะจีน 

ในบริเวณลานด้านหน้าติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่นั่งเล่น และนั่งทานอาหาร รับลมเย็นๆ นั่งชมเรือโดยสารแล่นผ่านเพลินๆ โดยมีรถฟู้ดทรัก อาหารหลากหลายเมนูไม่ว่าจะเป็นผัดไทย หมูปิ้ง ไก่ทอด หรือผลไม้ และเสื้อผ้าของที่ระลึกให้เลือกช้อปมากมาย นอกจากนี้ในโอกาสที่เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนเกิดของเจ้าแม่หม่าโจ้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเช่าบูชาเหรียญมหามงคลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ล้ง 1919 เทวาภิเษกโดยสมเด็จพระวันรัต วัดบวรฯ ทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่เหรียญที่ระลึกแบบเนื้อทอง เหรียญที่ระลึกแบบเนื้อเงิน เหรียญที่ระลึกแบบเนื้อทองแดง เหรียญที่ระลึกแบบเนื้อผงอีกด้วย สามารถติดตามข่าวสารได้ที่  Facebook: Lhong1919

ภาพจิตรกรรมบนกำแพงอาคารเก่าสุดคลาสสิค
บริเวณอาคารล้ง1919

ลิ้มรสอาหารจากรถฟู้ดทรักหลากหลายเมนู
รถฟู้ดทรัก สีสันสดใส
บรรยามเย็นนั่งเล่น กินข้าวชิวๆ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง