'แบตฯขนาดเล็ก'อาวุธลับทะลวง ไทยเปลี่ยนผ่านใข้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

การเปลี่ยนแบต มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ได้ออกนโยบาย 30@30 เพื่อผลักดันไทยก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ด้วยการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub) โดยตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว คือ ที่มาของตัวเลขนโยบาย 30@30 โดยมาตรการส่งเสริมในช่วงแรกเน้นไปที่ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)

ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นเป้าหมาย ไม่ได้มีเพียงรถยนต์ โดยสารเท่านั้น แต่ยังมีรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจักรยานยนต์ทั้งหมด 20 ล้านคัน หากมีการเปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้า ก็จะช่วยลดมลพิษและตอบสนองต่อนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลได้อย่างดี  แต่การเปลี่ยนมาเป็นการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ติดปัญหาตรงที่ต้องเสียเวลาชาร์จนานกว่าการเติมน้ำมัน  หรือครั้งละประมาณ 30 นาที  โจทย์จึงมีอยู่ว่า ทำอย่างไรถึงจะมีสถานีที่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ และแบตฯดังกล่าว ยังสามารถใชได้กับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของทุกบริษัท ซึ่งหากแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะนำไปสู่การเกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้รถมอเตร์ไซค์สันดาป ไปสู่การใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั้งประเทศได้

แบตแบบสับเปลี่ยนได้ ที่สวทช.และหลายมหาวิทยาลัยร่วมกันพัฒนาให้ใช้กับมอเตอร์ไซค์ทุกบริษัท

ปัญหาดังกล่าวกลายเป็น Pain point ที่ทำให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้นำไปขบคิด จนเกิดเป็น “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก”ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันยานยนต์ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย  สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย  นอกจากนั้น ยังมีบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ  รวมตัวกันกลายเป็น “ภาคีเครือข่าย” โดยมีเป้าหมายหลักร่วมกัน เพื่อลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร

ตู้สำหรับให้มอเตอร์ไซค์สับเปลี่ยนแบตอย่างรวดเร็ว

ในการเปิดตัว เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในการผลักดันแบตฯมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในงาน International Energy Storage Forum 2024 – TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4ซึ่งมีนายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน  โดยนายศุภชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี  ได้มีนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เเละมีมาตรการส่งเสริม EV มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ โดยทางรัฐบาลและกระทรวง อว. ได้ประกาศนโยบาย “อว. for EV” มีเเนวทางดำเนินการใน 3 เสาหลัก คือ 1. EV-HRD พัฒนาบุคลากรด้าน EV  2. EV-Transformation เปลี่ยนผ่านหน่วยงานใน อว. ให้นำร่องใช้รถ EV แทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และ3. EV-Innovation ผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรมEV ในประเทศ

ศุภชัย ใจสมุทร กล่าวเปิดงาน

“เป้าหมายการพัฒนาก็เพื่อให้เกิดระบบยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะไม่โตเท่า รถEV หากเราไม่ก้าวข้ามปัญหาเรื่องแบต “นายศุภชัยกล่าว

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก  กล่าวว่า  การเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยไม่ต้องรอการชาร์จ มีข้อจำกัดตรงที่รถแต่ละยี่ห้อจะใช้แบตเตอรี่ไม่เหมือนกัน และเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้แบตเตอรี่ที่ผลิตออกมา สามารถใช้งานข้ามรุ่นได้ ซึ่งจากปัญหานี้นำไปสู่การออกแบบแบตเตอรี่มอเตอร์ไซต์ที่สามารถใช้กับรถยี่ห้่อใดก็ได้  เราจึงต้องหาทางลดข้อจำกัดการเปลี่ยนแบต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้มอเตอร์ไซค์เครื่องสันดาปมาเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ได้ภายใน 3ปีทั้งประเทศ  จึงเป็นที่มา ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เมื่อปี 2564 ซึ่งโครงการนี้เสร็จสิ้นสำเร็จไปเมื่อต้นปีนี้ โดยหนึ่งในผลลัพธ์หลักที่ได้คือ ข้อกำหนดของคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ที่ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า200 ราย

“โจทย์ที่เราไปคิดพัฒนาแบตฯ คือ ทำอย่างไรถึงจะให้การเปลี่ยนแบตฯมอเตอร์ไซค์ เหมือนเราใช้ถ่าน AA พอหมดก็เปลี่ยนตัวใหม่เข้าไป   ไอเดียนี้จุดประกาศ ทำให้เกิดการขยายผลไปถึงการดึงผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มารวมตัวกันภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันพัฒนา ครอบคลุมทั้งประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร ก่อให้เกิดตลาดและการพึ่งพาในประเทศ ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล และเราจะไม่ได้หยุดที่จักรยานยนต์เท่านั้น แต่จะขยายผลไปถึงยานยนต์ขนาดเล็กอื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้  เรายังตั้งเป้าที่จะขยายไปยังตลาดประเทศอาเซียนอีกด้วย ” ดร.พิมพากล่าว

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค)  กล่าวว่า การดึงภาคีเครือข่าย มาร่วมกันในโครงการนี้ ก็เพื่อผลักดันให้เกิดแบตฯ ที่สามารถสับเปลี่ยนใส่ได้กับรถมอเตอร์ไซค์ทุกยี่ห้อ เพราะแต่เดิมยังมีข้อจำกัดอย่างด้าน เช่น ปัญหาเรื่องราคาแบต เพราะแต่ละบริษัทมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน  ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้แบตมีราคาสูงเกินไปจนผู้ใช้ไม่โอเค  ปัญหาเหล่านี้ จะได้รับการแก้ปัญหาโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านอื่นๆ ที่พบในการทดสอบแบตที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเรามีรถทดสอบ 15 คัน เป็นการศึกษาปัญหารอบด้าน  และร่วมกันลดอุปสรรคต่างๆ


“ในแง่ผู้ใช้งาน มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะใช้แบตเตอรี่ครั้งละ2ก้อน ก้อนหนึ่งวิงได้ 50 กม.รวมกันแล้ว ได้ 100 กม. ส่วนอายุแบตฯ ก็ไม่ต้องกังวล ถ้าแบตหมดอายุ ก็จะมีการสว็อปออกไป   หมุนเวียนเอาแบตฯแบตฯใหม่เช้ามา ดังนั้น ผู้ใช้จึงจ่ายเพียงค่าไฟฟ้าพลังงานในแบตฯเท่านั้น เหมือนเราซื้อแก๊ส เราก็จะได้ถังใหม่ และจ่ายแค่ค่าแก๊สเท่านั้น “ดร.สุมิตรากล่าว.

ด้าน นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวง อก. ได้มีการดำเนินการหลักได้เเก่ 1. การจัดทำมาตรฐาน: มุ่งรองรับการตรวจสอบ รับรอง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย  2. การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว บริหารและกำจัดซากแบตเตอรี่รถยนต์อย่างเหมาะสม 3. การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน: สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

“เราหวังว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ตัวอย่างที่ชัดเจน  คือ จะทำให้เกิดการเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีตัวเลือกที่หลากหลายและราคาที่แข่งขันได้ 2. การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของไทย และ3. การขยายสถานีชาร์จ  ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความกังวลเรื่องระยะทางและกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า”นายดนัยณัฏฐ์ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'

เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล  โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ