
ในสังคมที่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีผลต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และศูนย์วิจัยด้านการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดสัมมนา ในหัวข้อ “พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล: ความเสี่ยง และโอกาสทางธุรกิจ ตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขัน และความเป็นธรรม”เพื่อเผยแพร่ผลสำรวจเกี่ยวกับ แนวโน้มการลงทุนของ SMEs, การค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปี 2568 เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทย ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและเติบโตได้ในระยะยาว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีความสำคัญเนื่องจาก ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้อัตราการพึ่งพิงเพิ่มขึ้น เพราะผู้สูงอายุมีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เลย ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดลดลงอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ประชากรไทยเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประชากรศาสตร์ที่สำคัญ
ในมุมมองทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่า อยู่อันดับ 2 ในอาเซียน แต่ข้อมูลในปี 2567 หลายแหล่งประเมินว่า สิงคโปร์อาจจะตกลงมาอยู่อันดับ 2 และไทยหล่นไปอยู่ที่อันดับ 3 หากไทยยังคงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 3% ขณะที่ประเทศอื่นเติบโตถึง 5% ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ไทยอาจเสียความสามารถในการแข่งขันและอาจตกไปอยู่ในอันดับท้ายของอาเซียน ดังนั้นหนึ่งในแนวทางที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจดิจิทัลที่ไทยควรมุ่งเน้น เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีสัดส่วนประมาณ 13-15% ของ GDP แต่ไทยยังเป็นเพียงผู้ใช้งานมากกว่าผู้สร้าง
การก้าวสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ อธิการบดีฯ กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องยกระดับเป็นผู้ใช้งานที่ความชาญฉลาด ทำให้เป็นจุดเด่นขึ้นให้ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่นักลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้ความสนใจ ประชากรของมาเลเซียกว่า 50% เข้าใจเรื่อง ICT และ 10% เป็นผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีผู้เข้าใจ ICT เพียง 10% และมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 1% ทำให้บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น NVIDIA เลือกลงทุนในประเทศอื่นมากกว่าไทย
“ไทยยังมีโอกาสพัฒนาได้หากมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้พัฒนาหลักสูตร AI สำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี ภายใต้โครงการ AIUTCC และสนับสนุนโปรแกรมการเรียนรู้ที่จำเป็น นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจดิจิทัลยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากไทยสามารถพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นระบบ ประเทศก็จะสามารถแข่งขันในเวทีโลกและก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างมั่นคง” อธิการบดีฯ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะขยายตัวเป็นสามเท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และแตะ 24 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2025 หรือ 21% ของ GDP โลก เศรษฐกิจดิจิทัลสร้างประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยง โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เทคโนโลยี 5G และระบบดาวเทียม เชื่อมโลกเข้าด้วยกันและเปิดโอกาสทางธุรกิจมหาศาล แต่ยังมีความท้าทายเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี สงครามการค้ารอบใหม่อาจส่งผลต่อความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจดิจิทัล AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานแต่ก็บริโภคพลังงานสูง ระบบความร่วมมือด้านข้อมูลช่วยผลักดันนวัตกรรมและสร้างระบบนิเวศอัจฉริยะที่ยั่งยืน ขณะที่ ความมั่นคงทางดิจิทัลและการเสริมพลังชุมชน เป็นกุญแจสำคัญในการปรับตัวและเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

เศรษฐกิจดิจิทัลและความท้าทายทางเทคโนโลยีในอนาคต คณบดีฯ กล่าวว่าหากภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รัฐ การศึกษา และแรงงานไม่พร้อม ประเทศไทยอาจสูญเสียโอกาสและล้าหลังอีกครั้งหลังติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน จุดกังวลหลักคือ SMEs ภาคการศึกษา และแรงงาน ที่เผชิญปัญหาด้านการแข่งขันและความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI อาจขยายช่องว่างเศรษฐกิจ แม้ AI ราคาถูกจากจีนช่วยลดการผูกขาดบางส่วน ช่วงปี 2568-2570 เศรษฐกิจดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจากการแข่งขันเทคโนโลยีของ G-8 โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ห่วงโซ่อุปทานและภาคการผลิตจะถูกแบ่งแยกมากขึ้น แม้การบูรณาการจะเป็นประโยชน์ แต่ความขัดแย้งอาจผลักดันให้สองมหาอำนาจพัฒนาเทคโนโลยีแบบพึ่งพาตนเอง เทคโนโลยีขั้นสูงถูกใช้มากขึ้นในด้านความมั่นคง การสอดแนม และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการลงทุนด้านกลาโหม ซึ่งอาจกระทบสันติภาพโลก
คณบดี ฯ ได้เผยผลสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนของธุรกิจ SME โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 400 ธุรกิจ ครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม, การผลิต, การค้าภายในประเทศ, การค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SME ขนาดย่อยและขนาดเล็กกว่า 50% มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มแย่ลง ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะดีขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคเกษตร การผลิต และการค้าภายในประเทศ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มถดถอย

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการลงทุนของ SME ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล ยังไม่ได้รับความสนใจมากนักจากผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทางการเงินถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกประเภทมากที่สุด แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีความสำคัญ แต่ในปี 2568 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนลงทุน เนื่องจากขาดแคลนเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ บางส่วนยังไม่วางแผนเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่กลุ่มธุรกิจค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีในอนาคต
“นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลควรมุ่งเพิ่ม GDP และสร้างความยั่งยืนระยะยาว โดยให้รัฐสนับสนุนภาคเอกชนในการสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการเป็นผู้ให้บริการ พร้อมยกระดับการแข่งขัน ปรับปรุงคุณภาพชีวิต และเตรียมรับผลกระทบจาก AI และหุ่นยนต์ ประเทศไทยควรเลิกยุทธศาสตร์ค่าแรงต่ำ เพราะไม่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและปัญหาแรงงานขาดแคลน ควรเน้นพัฒนาแรงงานที่มีผลิตภาพสูง ลงทุนในนวัตกรรม ความโปร่งใส เสถียรภาพทางการเมือง และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พร้อมลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในอนาคต” คณบดีฯ กล่าว
ด้านนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยี สารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดแรงงาน ซึ่งหลายตำแหน่งถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและ AI ทำให้การผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเร่งปรับตัว ภาคการศึกษาจำเป็นต้องพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตรให้สอดคล้องกับทักษะที่ตลาดต้องการ เพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล

นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ก็เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) และการหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคลและองค์กร ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พยายามออกมาตรการป้องกันเพื่อรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้อย่างเต็มที่ ขณะที่ภาคธนาคารเองก็เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การยืนยันตัวตนหลายชั้น และระบบแจ้งเตือนธุรกรรมที่ผิดปกติ เพื่อปกป้องข้อมูลและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยไซเบอร์ที่ซับซ้อนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการเก็บภาษีต่างๆ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งในทุกๆวิกฤตมีโอกาส เริ่มจากการเข้าใจเทรนด์อนาคต จากผลสำรวจของ Accenture Life Trends 2025 มี 5 เทรนด์หลัก คือ 1.ต้นทุนความลังเล ( Cost of Hesitations) ความลังเลกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล เพราะทุกการตัดสินใจอาจพลาดได้ เนื่องการหลอกลวงทางออนไลน์มีจำนวนมาก ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญขององค์กร 2.กับดักของพ่อแม่ (The Parent Trap) ยุคที่พ่อแม่ และผู้ปกครองต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี จึงต้องมีการปกป้องการเข้าถึงข้อมูลต่างๆของบุตรหลาน
3.เศรษฐศาสตร์แห่งความใจร้อน (Impatience Economy) จากเมื่อก่อนที่ต้องดูรีวิวเพื่อตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ ปัจจุบันการเชื่อรีวิวค่อนข้างยาก และต้องการความรวดเร็ว เพราะทุกคนต้องการความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 4.ศักดิ์ศรีของการทำงาน (The Dignity of Work) องค์กรต้องใส่ใจและยืดหยุ่นการทำงานของพนักงาน เพราะปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ต้องการความเข้าใจและสมดุลในการทำงาน เพื่อให้พนักงานรู้สึกมีความหมายและเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งผลงานก็จะออกมาดีด้วย และ5.การคืนสู่ชีวิตแบบสัมผัสได้ (Social Rewilding) การสร้างประสบการณ์ที่มีความหมาย เพราะมีคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องการสัมผัสสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากโซเชียล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีป้า เปิดงาน Thailand Digital IP Forum 2025 สุดยิ่งใหญ่ เร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย AI พร้อมยกระดับความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
ดีป้า จัดใหญ่งาน Thailand Digital IP Forum 2025: Cracking IP Challenges in the AI-Driven World กิจกรรมสัมมนาที่มุ่งเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าและ
นายกฯ ผวานักท่องเที่ยวหนี ถกฝ่ายมั่นคงฟื้นเชื่อมั่น พึ่งAIช่วยสื่อสารคนจีน
นายกฯ ผวาตรุษจีนนักท่องเที่ยวหาย ถกฝ่ายมั่นคง เร่งสยบข่าวลือเมืองไทยน่ากลัว จ่อใช้ AI อัดคลิปภาษาจีน ฟื้นเชื่อมั่น
นายกฯ อิ๊งค์บอกนายกฯ สิงคโปร์เตรียมไปเยือนเพื่อสานสัมพันธ์ 60 ปีให้เพิ่มขึ้น
นายกฯอิ๊งค์ ต้อนรับนายกฯ สิงคโปร์ พร้อมแถลงข่าวร่วมเปิดศักราชความสัมพันธ์ 60 ปี ผลักดันการลงทุนสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อมโยงอาเซียน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่งคั่งร่วมกัน