
7 พ.ค.2568-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ความว่า สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต่อกรณีโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยพูดถึงมีแนวคิดเพิ่มการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบคล้ายรถกอล์ฟ/รถรางไฟฟ้าขนาดเล็กบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ และลดผลกระทบพื้นที่ให้มากที่สุด และกล่าวถึงการท่องเที่ยวคล้ายนั่งรถซาฟารีโซนที่มีช้างป่าออกมา ในอนาคตคิดว่าต้องทำแบบซาฟารี คือให้ขึ้นรถไปเที่ยว (https://shorturl.asia/IBli7 และ https://shorturl.asia/6DRzC)
จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถึงแม้จะระบุว่าเป็นเพียงแค่แนวคิด แต่เป็นการตอกย้ำสิ่งที่นักอนุรักษ์เป็นห่วงและกังวลมาตลอดคือหากมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะไม่จบแค่การสร้างกระเช้าแต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน เพราะจุดท่องเที่ยวบนภูกระดึงแต่ละจุดมีระยะทางค่อนข้างไกล
ความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นจากการมีกระเช้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งบนภูกระดึงและพื้นที่โดยรอบได้นานเพียงใด เมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นจากความสะดวกในการขึ้นลง และการรบกวนระบบนิเวศในพื้นที่ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะสามารถจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศได้หรือไม่
อีกทั้งอุทยานแห่งชาติภูกระดึงนอกจากจะเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองของไทย ในปี 2566 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน เพราะพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว ด้วยความพิเศษของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน (http://news.dnp.go.th/news/24845)
ดังนั้นการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และสัตว์ป่าเป็นตัวตั้ง อาจนำไปสู่สถานภาพของพื้นที่ที่ลดคุณค่าลงตามที่ได้นำเรียนข้างต้น จนอาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติ นำไปสู่การเพิกถอนเพื่อเหตุผลแห่งการพัฒนาในที่สุด ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขอยืนยันคัดค้านโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง เพื่อคงคุณค่าการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ต่อไป
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังโพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยของนายศศิน เฉลิมลาภ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ระบุว่า ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking trail ที่ดีที่สุดของประเทศ เมื่อประเมินจากระยะทางที่ไม่ไกลมาก แทบไม่มีอันตรายอะไรถ้าไม่เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท การจัดการที่ลงตัว มีค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวไม่แพง รวมถึงเมื่อขึ้นไปแล้วมีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย เรียกว่าคุ้มค่าเดินขึ้นและเดินเที่ยว
.
สิ่งที่ว่ามาทำให้ภูเขาลูกนี้ทำหน้าที่มอบความรักธรรมชาติ ให้เราได้ซึมซับความงามทั้งจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง รวมถึงการเรียนรู้ที่บังเกิดขึ้นมากมายระหว่างความอดทนตอนเดินขึ้น สถานที่แบบนี้ในไทยมีที่เดียวคือ “ภูกระดึง” ส่วนที่อื่นๆ มีถนนขึ้นถึง หรือเดินไกลเกินไป เดินไปถึงแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก
.
ดังนั้น เมื่อมีกระเช้า ความท้าทายให้ไปถึงเรื่องที่ว่ามา ย่อมสู้ความสบายเย้ายวนจากการขึ้นกระเช้าไม่ได้
.
คนจะเดินขึ้นก็คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย
.
พวกที่เลือกเดินจึงเป็นคนที่รักธรรมชาติมากมายอยู่แล้ว คนที่ขึ้นกระเช้าไปก็ไม่ได้ซึมซับอะไร ไม่ต่างจากการขับรถขึ้นภูเรือ ดอยอินทนนท์ หรือภูเขาอื่นๆ ที่กลับมาแล้วไม่มีความหมายอะไร ภูกระดึงทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมากว่า 50 ปี ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงปัจจุบัน
.
การมีกระเช้าหมายถึงเราเลิกใช้ฟังก์ชันนี้ของภูกระดึงแล้ว จะเทียบไปคงเหมือนเปลี่ยนวัด โบสถ์ วิหาร เป็นบอร์ดนิทรรศการพุทธศาสนา
.
นี่คือเรื่องที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกทิ้งคุณค่าจากสิ่งนี้ไปหรือไม่
.
อ่านบทความฉบับเต็ม กระเช้าภูกระดึง โจทย์ที่ต้องตัดสินใจของประเทศไทย 3 ข้อ https://shorturl.asia/Mv5df
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อเสนอแก้ไขปัญหา 'ทับลาน' มูลนิธิสืบฯยัน ไม่ควรเหมารวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน
เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ข้อความ ระบุว่า เปิดข้อเสนอการแก้ไขปัญหาแนวเขตและที่ดินในพื้นที่ อช.ทับลาน โดยมีการแบ่งรูปแบบพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
อิตาลีขายนายกฯ ‘กระเช้าภูกระดึง’
"เศรษฐา" ขับรถ 3 ชั่วโมง ไปหาบริษัทยักษ์ใหญ่อิตาลีที่เสนอขายสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึง