
สัญญาณชัดเจนฝนปีนี้มาเร็ว เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สอดรับข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ฝน ONE MAP ทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปี 2568 ช่วงเดือนพฤษภาคม–กันยายน 2568 จะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก และฤดูฝนจะมาเร็ว คาดว่า กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนช่วงกลางเดือนนี้เป็นต้นไป ผลกระทบจากน้ำท่วมนั้นมีความรุนแรง จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมแนวทางป้องกันและรับมือน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 2554 น้ำท่วมใหญ่เชียงราย-เชียงใหม่ ปี 2567

ในการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการความร่วมมือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยนวัตกรรม(อว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายชยชัย แสงอินทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมคณะทำงานฯ เข้าร่วม ณ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เมื่อวันก่อน
ที่ประชุมนำเสนอแผนงานแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมและเป้าหมายสำคัญบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมน้ำแล้งใน 100 ตำบล ในพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด แน่นอนว่า จ.เชียงใหม่และเชียงรายที่เสียหายหนักจากวิกฤตน้ำท่วมปีที่แล้วอยู่ในลิสต์ แล้วยังมี จ.ลำพูน พะเยา น่าน กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ สงขลา พัทลุง และน่าน ลดจำนวนครัวเรือนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ลดรายจ่ายของภาครัฐในการบรรเทาทุกข์น้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ ขณะเดียวกันเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการในพื้นที่

ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รอง ผอ. สกสว. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ เป็นประเด็นท้าทายอย่างมาก สกสว.จึงจัดรายงานความคืบหน้าในการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของ มท. และแผนงานรองรับ รวมทั้งการสนับสนุนด้านนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมในระดับพื้นที่ของกระทรวง อว. โดย สกสว. จะเป็นโซ่ข้อกลางประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิชาการ โดยเฉพาะการสนับสนุนแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. เรื่อง “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด” ในปีงบประมาณ 2568 โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยขับเคลื่อน

สำหรับสถานการณ์และการคาดการณ์สถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เลขานุการคณะทำงานฯ และผู้อำนวยการแผนงานเป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ ววน. น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ไทยยังอยู่ในช่วงลานีญาที่มีค่าความเป็นกลาง ต้องเฝ้าระวัง จากการคาดการณ์รายฤดู แนวโน้มปีนี้จะมีฝนมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในพี้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ส่วนช่วงเดือนกรกฏาคมจะมีฝนตกมากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงเดือนสิงหาคมจะมีฝนมากในภาคกลางและใต้ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมฝนจะลงในภาคใต้ แต่ปีนี้ฝนจะตกเป็นจุดๆ และตกหนัก แนวโน้วน้ำท่วมใหญ่ไม่มี แต่จะท่วมเป็นกระจุกๆ
“ ทีมวิจัยศึกษา พบว่า ปีที่แล้วน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ นอกจากฝนตกมากแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความตื้นเขินของแม่น้ำและระดับการคาดการณ์น้ำในแม่น้ำเพื่อเตือนภัยที่ต้องทบทวน เพราะผิดหมด ทำให้การคาดการณ์ผิดเพื่อ ไม่สามารถเตือนภัยให้ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวเข้าใจ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ อย่างระดับน้ำปิงที่สะพานนวรัตน์ แนวทางแก้ปัญหาภายใน 2 ปีนี้ เราเสนอขุดลอกแม่น้ำปิง บำรุงรักษาร่องน้ำปิง และรื้อฝายเก่า เงินงบประมาณเพิ่งออกเดือนเมษายนที่ผ่านมา หวังว่าจะเสร็จก่อนหน้าฝนที่กำลังจะมาถึง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ “

รศ.ดร.สุจริต กล่าวต่อว่า จะแก้น้ำท่วมเชียงใหม่ เชียงรายอย่างยั่งยืน ต้องทำนายน้ำท่วมใหม่ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ นักวิจัยจะหาแนวทางจัดการน้ำและเตรียมพื้นที่ล่วงหน้าจากระบบเตือนภัย เพราะระบบเตือนภัยปัจจุบันเป็นภาพรวม ไม่ได้เตือนภัยลงระดับพื้นที่หรือซอยย่อย คลองย่อยไม่มีบอก อีกทั้งลักษณะฝนตกในปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน ความหลากหลายของฝนเป็นอีกปัจจัย ประกอบกับไทยมีสถานีวัดระดับน้ำขนาดเล็กเพียง 200 แห่ง เทียบกับญี่ปุ่นมี 20,000 แห่ง ข้อมูลตรวจวัดจึงมีข้อผิดพลาด ซึ่งนักวิจัยจะจัดระบบเตือนภัยน้ำท่วมใหม่ มีตารางเตือนภัยในพื้นที่ทันสมัยขึ้นจากการปรับปรุงมาตรวัดภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อลดความเสียหาย ส่วนเชียงรายจะขุดลอกแม่น้ำกกและลำน้ำสาย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันถ้าฝนมาเยอะเหมือนปีที่แล้ว ทีมวิจัยคาดน้ำท่วมซ้ำแน่นอน แต่ชาวบ้านจะรู้ทันภัยล่วงหน้า อพยพ ลดสูญเสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหายน้อยที่สุด ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะสร้างแบบพิมพ์เขียวของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการในระยะต่อไปในพื้นที่เทศบาลเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงราย และเมืองขอนแก่น ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีด้วย

นอกจาก 9 มาตรการรับมือฤดูฝนที่ สทนช.กำหนดแล้ว ผอ.แผนงานฯ น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง เน้นย้ำสภาพอากาศที่แปรปรวน การแกว่งของน้ำจากนี้ไปรุนแรง มาตรการทางโครงสร้างขนาดใหญ่ใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ เราไม่ปฏิเสธโครงการใหญ่ แต่ชาวบ้าน ชุมชนและท้องถิ่นในพื้นที่ควรเตรียมการดูแลภัยธรรมชาติอย่างมีข้อมูลความรู้และมีส่วนร่วม ต้องปกป้องตัวเอง เพิ่มความเข้มแข็งชุมชน จะรอพึ่งรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้
ขณะที่จังหวัดต้องมีแผนบูรณการเพื่อการจัดการน้ำอย่างมีเป้าหมาย ใช้น้ำที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการ ส่งเสริมเกษตรเพิ่มมูลค่าการใช้น้ำ ใช้ปั้มน้ำโซลาร์เซลล์ให้น้ำพืชแบบแม่นยำสูง ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ที่มีมูลค่าสูง ใช้งานวิจัยขยายผล โดย อว.จะช่วยสนับสนุนด้านวิชาการ ข้อมูล รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำในเขตเมืองและจัดทำแผนบูรณการน้ำของจังหวัด ให้ลดภัย ลดเสี่ยง พร้อมมีมาตราการสร้างรายได้เสริม โดยใช้นวัตกรรมเข้าช่วย
ทั้งนี้ นักวิจัยจะมีการติดตามงานเพื่อนำเสนอคณะทำงานฯ ทุก 3 เดือน โดยมีโครงการนำร่อง เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง ส่วนน้ำแล้ง มุ่งเน้น อบจ. อบต.พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก สร้างฝายขนาดเล็ก บ่อน้ำบาดาล โดยเฉพาะเพื่อน้ำประปา จัดทำระบบเชื่อมโยงกับทางน้ำที่มี เพื่อเพิ่มความสามารถเก็กกักน้ำ และทำแปลงผักในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม ประมาณ 100 โครงการ ในระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมี 45 จังหวัดที่เจอปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม โครงการฯ นี้คัดเลือกพื้นที่ 10 จังหวัดเชื่อมโยงกับลุ่มน้ำสำคัญ ในส่วนจังหวัดที่เหลือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยต้องขับเคลื่อนขยายผลต่อไป

ด้านนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ นักวิจัยที่ร่วมทำแผนพัฒนาจัดการน้ำระดับตำบลป้องกันน้ำท่วมที่ อบต.บ่อสวก จ.น่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านมีปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและแล้งซ้ำซาก เพราะสภาพพื้นที่นอกจากลำน้ำน่านแม่น้ำสายหลัก ยังมีลำน้ำสายย่อยๆ กระจายเต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันสภาพป่าเสื่อมโทรมและมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การยกระดับให้ตำบลและอปท. ลุกขึ้นมาจัดการน้ำช่วยบรรเทาปัญหาได้ ที่ผ่านมา ถูกจัดการโดยคนนอก ปัจจุบันกลไกจัดการน้ำติดตั้งในตำบล เราไปเติมความรู้ เพิ่มบทบาท อปท. ทำงานร่วมกัน จะเกิดโครงการเหมาะสมกับพื้นที่ ถ้าทุกตำบลมีระบบสารสนเทศน้ำตำบล จะนำไปสู่การวางแผนที่การจัดการน้ำและอาชีพมีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาตามเป้าหมายและตอบโจทย์นโยบายพัฒนาประเทศ
นักวิจัยกล่าวต่อว่า ที่บ่อสวกชาวบ้านและอบต.สำรวจแหล่งน้ำ รวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำ ทำผังน้ำ และเส้นทางน้ำ วิเคราะห์ข้อมูล GIS ปริมาณฝนและอุณหภูมิพื้นที่ ทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ พัฒนากลไกจัดการน้ำ นำไปสู่การปรับปรุงรูปแบบการผลิตสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำเกิดอาชีพหลังฤดูทำนา รวมกลุ่มปลูกพืชในพื้นที่ร่วม มีการประสานกับข้อมูลน้ำกรมอุตุนิยมวิทยา สสน. สทนช. และจะเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลการพยากรณ์น้ำท่วมกับ ปภ.
“ ระดับพื้นที่จัดทำฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นแนวทางสำคัญในการตัดยอดน้ำบนพื้นที่สูงสู่พื้นที่ราบและหน่วงน้ำ ดักน้ำ ไม่ให้มวลน้ำไหลลงสู่ลุ่มน้ำน่านเร็วเกินไป กรณีมีฝนตกหนักต่อเนื่อง นอกจากลดความรุนแรงของการไหลบ่าของน้ำที่รวดเร็วแล้ว ยังช่วยกักน้ำลงดินมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ปัจจุบันสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เสร็จแล้ว 100 ฝาย จากทั้งหมด 200 กว่าฝาย นอกจากนี้ จัดทำสถานีตรวจวัดน้ำฝนในพื้นที่ หากปริมาณน้ำเกินมาตรฐาน พร้อมอพยพหนีภัย สามารถจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากในพื้นที่ด้วยตนเอง และเชื่อมประสานหน่วยงานภายนอกสนับสนุน “ นายชิษนุวัฒน์ กล่าว
สำหรับน้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง ใน 10 จังหวัด กระทรวงอว. สนับสนุนทีมงานนักวิจัยท้องถิ่นและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่จาก 10 มหาวิทยาลัย จำนวน 200 คน นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากกว่า 15 เรื่อง หลักสูตรอบรมผลักดันองค์กรผู้ใช้น้ำ สร้างนายช่าง อบต.ที่วางแผนเรื่องน้ำ สร้างคน กระบวนการจัดทำแผนจัดการน้ำระดับจังหวัดระยะ 5 ปี ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเดินหน้าสนับสนุนสร้างแบบพิมพ์เขียวแก้น้ำท่วมระยะยาวในเมืองเชียงใหม่ เชียงราย และขอนแก่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลจัด 'Mobile War Room' จับตาน้ำท่วมเรียลไทม์ นำร่อง 'อยุธยา'
รัฐบาลจัด Mobile War Room รถเฝ้าระวังน้ำท่วมสนับสนุนงานในพื้นที่เสี่ยง นำร่อง จ.อยุธยา รู้ก่อน ปลอดภัยก่อน ลดความเสียหายให้ประชาชนได้
สกสว.กระตุก GDP ไทยด้วยกองทุนววน. หวังเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
สกสว.จัดเวทีชวนกระตุก GDP ไทยด้วยกองทุน ววน. “ศุภภาส” ชี้ ววน.เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน แข่งขันได้ในเวทีโลก ชี้นโยบายทรัมป์จะทำให้ไทยปรับตัว และวางยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อคว้าโอกาสและรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น