ติดเชื้อพุ่ง7.2หมื่นดับ74 โวเจอแจกจบช่วยผู้ป่วย

ไทยติดเชื้อ 2.2 หมื่นราย  ผล ATK พุ่ง 4.9 หมื่นคน ดับนิวไฮ 74 ราย แนวโน้มสูงขึ้น ตั้งเป้าฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ-โรคเรื้อรังให้ได้ 70% ก่อน สธ.จ่อปรับระบบแจ้งยอดเสียชีวิตโควิด พบ 10-30% ดับจากโรคอื่น "เจอ แจก จบ" ช่วยผู้ป่วย กทม.เกือบ 8 พันคน ลดสายตกค้าง 1330

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 มีนาคม เวลา 12.30 น. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,984 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,885 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 22,722 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 163 ราย, มาจากเรือนจำ 52 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 47 ราย เป็นผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก จำนวน 49,494 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,111,857 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 24,161 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,868,011 ราย อยู่ระหว่างรักษา 220,334 ราย อาการหนัก 1,238 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 420 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 74 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขนิวไฮในระลอกนี้ เป็นชาย 40 ราย หญิง 34 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 54 ราย มีโรคเรื้อรัง 16 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 23,512 ราย

พญ.สุมนีกล่าวว่า ได้มีการแจ้งผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันที่ 9 มี.ค. ที่ได้เห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น แบ่งเป็น  4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะขาขึ้น เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่ต้องมีการควบคุมลดการระบาดให้ได้มากที่สุด, ระยะที่ 2 ระยะคงที่ เป็นระยะที่ผู้ติดเชื้อจำนวนทรงตัว, ระยะที่ 3 ระยะลดลงต่อเนื่อง และระยะที่ 4 ออกจากการเป็นโรคระบาดสู่โรคประจำถิ่น ตรงนี้ต้องพิจารณาการได้รับวัคซีน การครองเตียง อัตราการเสียชีวิต รวมถึงการจัดทำแผนรองรับ และแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรการ โดยมาตรการรองรับแต่ละระยะนั้นจะต้องปรับได้ตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพราะเราอยู่กับโควิด-19 มา 2 ปีกว่า มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ดังนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมีการจัดการมาตรการให้ครอบคลุมทุกแง่มุมในการเปลี่ยนผ่านไปยังโรคประจำถิ่นได้อย่างราบรื่น

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ในประเทศพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบยังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และมีผู้ป่วย 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน วันนี้ยอด 74 ราย ถือเป็นนิวไฮ ซึ่งต้องศึกษาผู้เสียชีวิตทุกวัน การระบาดรอบล่าสุดอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.20% ของผู้ติดเชื้อ ส่วนผู้ติดเชื้อรายวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแบบทรงตัว จึงขอเตือนให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น

 นอกจากนี้ ขอให้นำผู้มีความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและโรคเรื้อรังไปรับวัคซีนเข็มที่ 1, 2 และ 3 โดยคนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 3 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เลย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ชุดเล็ก ได้พูดคุยกันถึงการรณรงค์เร่งรัดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ตั้งเป้าการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุก่อนเทศกาลสงกรานต์ให้ครอบคลุม 70% โดยกำหนดให้สัปดาห์ที่ 21-31 มี.ค. เป็นสัปดาห์ของการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าว จึงขอความร่วมมือประชาชน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ทำแผนเชิงรุกกับกระทรวงมหาดไทย และเร่งสำรวจผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับวัคซีนโดยเร็ว  เพราะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก 

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น มีแผนดำเนินการที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยอัตราความรุนแรงของโรคจะต้องสามารถควบคุมได้ มีสถานพยาบาลที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด และการได้รับวัคซีนครบถ้วน รวมทั้งวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรคได้

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ​นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีผู้เสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นว่า ต้องดูสาเหตุของการเสียชีวิตตามที่กำหนดว่ามีโรคร่วมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคร่วมนั้นจะระบุสาเหตุการเสียชีวิตอย่างไร ซึ่งมีการคุยกันว่าควรดูที่อาการเป็นหลัก เช่น ผู้ติดเชื้อต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ เชื้อลงปอดชัดเจน ถือว่าโรคโควิดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงองค์ประกอบที่ทำให้เสียชีวิต เช่นกรณีผู้ป่วยติดเตียงเดิมอาการหนักอยู่แล้ว แต่ติดเชื้อโควิดจากคนใกล้ชิดในภายหลัง ต้องแยกการติดเชื้อลักษณะดังกล่าวออกมา ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตปัจจุบัน พบว่ามีประมาณ 10-30% ที่สาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับโควิด เนื่องจากอาการของโควิดน้อย บางกรณีตรวจพบโควิดหลังจากเสียชีวิตแล้ว หรือการเก็บตัวอย่างเชื้อจากร่างผู้เสียชีวิต

ส่วนการเพิ่มบริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบนั้น ขณะนี้ผู้ติดเชื้อให้ความร่วมมืออย่างดีและสนใจเข้ารับบริการมากขึ้น โดยกรมการแพทย์ได้ประสานโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมให้บริการด้วยแห่งละ 200-300 รายต่อวัน ทำให้ปัญหาผู้ติดเชื้อของสายด่วน 1330 ลดลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง และหากโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องทำให้คนเข้าใจที่จะอยู่กับโรค พร้อมกับเร่งฉีดวัคซีน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักที่บ้าน “เจอ แจก จบ” ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 และได้ให้โรงพยาบาลใน 14 จังหวัดรอบ กทม. เพิ่มกำลังการบริการในคลินิกโรคทางเดินหายใจแบบผู้ป่วยนอก เจอ แจก จบ ด้วย เพื่อช่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการสีเขียวในพื้นที่ กทม.ที่ยังตกค้างจำนวนมาก รองรับได้วันละ 18,000 คน โดยตั้งแต่วันที่ 4-8 มี.ค.ที่ผ่าน มีโรงพยาบาลให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 21 แห่งเป็น 50 แห่ง ผู้ติดเชื้อเข้ารับบริการรวม 7,839 ราย 64% เป็นผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง รองลงมา 16% เป็นสิทธิประกันสังคม มีการจ่ายยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 50%, ยาฟาวิพิราเวียร์ 28% และยาฟ้าทะลายโจร 22% ซึ่งภาพรวมประชาชนมีความพึงพอใจในการรับบริการ และช่วยลดการโทร.เข้าสายด่วน 1330 จากวันละ 70,000 สาย เหลือ 50,000 สาย ทำให้มีสายตกค้างลดลง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นว่า ได้เตรียมวางไกด์ไลน์แนวทางการรักษา ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ จากเดิมรักษาผู้ป่วยแบบแอดมิต เป็นการรักษาแบบ Home Isolation  จนมาเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD ซึ่งในอนาคต หากโรคไม่รุนแรง อาจมีการปรับแนวทางการรักษาเป็น OPD เหมือนไข้หวัดใหญ่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง