พบสายพันธุ์BA.2.2เหมือนฮ่องกง

ไทยติดเชื้อ 2.2 หมื่นราย เอทีเคเป็นบวก 1.5 หมื่นราย ดับยังสูง 69 ราย จับตาประชุม  ศบค.ศุกร์ 18 มี.ค.นี้ ผ่อนคลายกิจการ-กิจกรรมเพื่อพร้อมเข้าสู่โรคประจำถิ่น สธ.เผย​ไทยพบเข้าข่าย​โควิดสายพันธุ์​ BA.2.2​ เหมือนฮ่องกง​ 4 ราย​ ไม่ฟันธงทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,130 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,034 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 21,767 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 267  ราย มาจากเรือนจำ 69 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 27 ราย เป็นผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวก  15,650 ราย

ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 3,206,950 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,508  ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน  2,957,288 ราย อยู่ระหว่างรักษา 225,889 ราย  อาการหนัก 1,353 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 453 ราย  เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 69 ราย เป็นชาย 42 ราย หญิง 27  ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 49 ราย มีโรคเรื้อรัง 18 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 23,778 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 458,522,738 ราย เสียชีวิตสะสม 6,066,047 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 14  มี.ค. ประกอบด้วย กทม. 3,060 ราย, นครศรีธรรมราช 1,268 ราย, ชลบุรี 1,117 ราย,  สมุทรปราการ 935 ราย, นนทบุรี 757 ราย,  สมุทรสาคร 666 ราย, พระนครศรีอยุธยา 609 ราย,  ปทุมธานี 588 ราย, นครปฐม 573 ราย, ราชบุรี  540 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันที่ 18 มี.ค. ศบค.ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบัน และหากเทียบความรุนแรงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเดือน ส.ค.64  กับ มี.ค.65 จะพบว่าเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมากที่สุดใกล้เคียงกัน แต่อัตราครองเตียงต่างกันมาก โดยในช่วง ส.ค.64  อยู่ที่ประมาณ 5,000 ราย แต่ มี.ค.65 อยู่ที่  900-1,000 ราย ทำให้อัตราครองเตียงในระบบสาธารณสุขยังไปได้อยู่ ดังนั้นวันที่ 18 มี.ค.จะมีการพิจารณาผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 18  มีนาคมนี้ โดยคาดว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเสนอปรับมาตรการต่างๆ ทั้งการควบคุม เฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งอาจมีการพิจารณาคลายล็อกกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเดินหน้าใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแผน เปลี่ยนจากการระบาด (Pandemic) เป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic approach) โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ (4 เดือน) หรือเรียกว่า 3 บวก 1 ดังนี้  ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.65) เรียกว่า  Combatting เป็นระยะต่อสู้ ต้องกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง โดยจะมีมาตรการต่างๆ ออกไป ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.65)  เรียกว่า Plateau คือการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น  ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.65) เรียกว่า Declining คือการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000-2,000 ราย และ ระยะที่ 4 (บวก 1) ตั้งแต่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งที่เราจะทำคือการปรับเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ เนื่องจากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ยังเน้นเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง  608 เพื่อปรับอัตราเสียชีวิตให้ลดลง และเน้นการรักษาในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์​การ​แพร่ระบาด​ของ​โรค​โควิด-19 กลายพันธุ์ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ทุกสัปดาห์ ขณะนี้ประเทศไทยได้ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (Whole Genome  Sequencing) โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจไปกว่า 2,000 ตัวอย่าง พบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนร้อยละ  99.7 ที่เหลือเป็นสายพันธุ์เดลตาบางส่วน โดยเป็นเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ร้อยละ 32.4 และสายพันธุ์ย่อย BA.2 เพิ่มจากร้อยละ 52 เป็นร้อยละ 68  โดยพบมากกว่าร้อยละ 50 ในทุกเขตสุขภาพ

นพ.ศุภกิจ​กล่าวว่า​ ส่วนข่าวที่ฮ่องกงพบสายพันธุ์ที่คาดว่าจะกลายพันธุ์มาจาก BA.2 เป็น BA.2.2 ที่พบว่ามีการกลายพันธุ์จุดสไปก์โปรตีน (Spike  Protein) I1221T โดยส่วนนี้ระบบข้อมูลจีเสด  (GISAID) ยังไม่ได้ระบุชื่อไว้ ซึ่งต้องรอเวลาอีก 2-3  วันน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องชื่อ เบื้องต้นพบในฮ่องกงและอังกฤษ ทั้งนี้ ฮ่องกงกำลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสายพันธุ์ BA.2.2 หรือไม่

"ต้องเรียนว่าการที่ฮ่องกงมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสายพันธุ์ใหม่ที่พบ เนื่องจากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ทั่วไปแพร่และติดเชื้อง่ายอยู่แล้ว เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว ก็อาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น"

นพ.ศุภกิจ​กล่าวเพิ่มเติมว่า​ ยังไม่ต้องวิตกกังวลเพราะยังไม่มีสัญญาณอะไรน่ากังวล สิ่งสำคัญคือต้องเฝ้าระวังเพื่อตอบคำถาม 3 ข้อ ว่าแพร่เร็วกว่าหรือไม่ รุนแรงมากขึ้นจนทำให้เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ และหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ ตรงนี้ต้องใช้ข้อมูลมากกว่านี้ หากการกลายพันธุ์ไม่ได้กระทบ 3 ส่วนนี้ก็อาจเป็นการกลายพันธุ์ทั่วไป ขอให้มั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์ฯ ทำการเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ส่วนที่ประเทศไทยกำลังวิเคราะห์ว่า มีผู้ติดเชื้ออาการใกล้เคียงสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 จำนวน 4 รายนั้น เป็นต่างชาติ 1 ราย ที่เหลืออีก 3 รายเป็นคนไทย  อาการป่วยไม่พบปัญหาอะไร และยังไม่ชัดว่าจะใช่หรือไม่  ขอให้รอผลวิเคราะห์ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง