‘ซูเปอร์บอร์ด’กระตุกกสทช. ค้านควบรวม‘TRUE-DTAC’

กรรมการ กตป.ยื่นหนังสือถึง "กสทช." คัดค้านการอนุมัติรวบรวมกิจการ "TRUE-DTAC" ห่วงทำให้ประชาชนเสียค่าบริการเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการให้บริการต่ำลง แนะให้นำประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การควบรวมปี 53 กลับมาใช้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) หรือซูเปอร์บอร์ด กสทช. เข้ายื่นหนังสือถึงรักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรักษาการเลขาธิการ กสทช. ผ่าน พล.ต.ต.เลิศศักดิ์ วิทยาพันธุ์ เลขานุการ กสทช. โดยเรียกร้องยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561

พร้อมทั้งขอให้นำประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กลับมาใช้ในกรณีพิจารณาการรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และขอให้ กสทช.มีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นสูงสุดกับผู้ใช้บริการและประชาชน

นายณภัทรกล่าวว่า ประเด็นของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่กำลังจะมีการควบรวมกิจการกันนั้น ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจหลักที่เป็นโครงสร้างการสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้าน อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี

โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรงคือ การมีอำนาจเหนือตลาด การใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่เอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการต่ำลง และกดดันผู้ประกอบการรายเล็ก แต่การกระทำของ กสทช.ที่ผ่านมา กลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น

 “อยากให้ กสทช.ทบทวนถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการพิจารณาการควบรวมของทรูและดีแทค เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาท่านกำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้ง พ.ร.บ.กสทช.และรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงมาตรา 157 ซึ่งในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ”

นายณภัทรย้ำว่า การยื่นหนังสือต่อ กสทช.ครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ กสทช. ได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ที่มีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้น หากไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถูกต้องตามหลักการและครอบคลุม สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค และกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศที่แสดงถึงหลักการที่ขัดแย้งกับการแข่งขันเสรี

เขายังเรียกร้องให้ กสทช.เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการสถาบันการศึกษา สภาคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันศึกษาถึงข้อมูล วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการแข่งขันและผลที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจของ กสทช. กรณีการขอควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC และเห็นว่าการพิจารณาอนุญาตควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC ควรต้องรอให้คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

 “การทำงานของ กสทช.ชุดนี้ จะต้องรอคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้ว รอแค่กระบวนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก็สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันที เพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่รออยู่ เพียงแต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อย่าทำผิดกฎหมาย และท่านต้องสื่อสารให้สาธารณะรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ และมีประเด็นย่อยในกระบวนการทำงานของ กสทช. ที่มีหลักการกฎหมายที่เขียนไว้ว่า ท่านต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ว่ากรณีนี้ กระบวนการรับฟังสาธารณะ ท่านเชิญแต่โอเปอเรเตอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไป ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ มาตรา 28 เขียนไว้เป็นบทบัญญัติสำคัญเลยว่า ท่านต้องทำเช่นนี้ แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมท่านถึงไม่ทำ ทำให้พวกเราเกิดความไม่มั่นใจ กังวลใจ เรื่องเช่นนี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านได้ตระหนักถึงผลส่วนรวมของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนหรือไม่” นายณภัทรกล่าว

สำหรับหนังสือของนายณภัทรระบุตอนหนึ่งว่า กรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ทรู’ กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ดีแทค’ จะควบรวมกิจการกัน ซึ่งจะผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างยิ่ง กล่าวคือค่าบริการจะสูง โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการต่ำ และผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่นในอดีตที่มีการใช้อีมี่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง