ผวา!สายพันธุ์XE-XJ โผล่แล้วในหนุ่มไรเดอร์ จับตาแพร่เร็ว-หลบภูมิ

ผวาอีก! สธ.พบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XE ในไทย 1 ราย ใกล้เคียงสายพันธุ์ผสม XJ    อีก 1 ราย โผล่ในหนุ่มขับรถส่งของออนไลน์ แพทย์ชี้เหตุอาชีพพบคนหลากหลาย ติดเชื้อแล้วเกิดการกลายพันธุ์ไฮบริดเชื้อผสมพันธุ์ในตัวเอง ขณะที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ระบุน้องใหม่ XE องค์การอนามัยโลกจับตา แพร่เร็ว รุนแรง หลบภูมิหรือไม่ ด้าน "อนุทิน" ยอมรับสงกรานต์โควิดไฟลามทุ่ง ขณะที่เชียงใหม่คุมไม่อยู่ติดเชื้อพุ่งดับเพิ่มต่อเนื่อง

เมื่อวันจันทร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24,892 ราย ติดเชื้อในประเทศ 24,826 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 24,638 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 188 ราย มาจากเรือนจำ 20  ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 46 ราย

โดยหายป่วยเพิ่มขึ้น 27,254 ราย อยู่ระหว่างรักษา  256,667 ราย อาการหนัก 1,858 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 769 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 97 ราย เป็นชาย 53  ราย หญิง 44 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 72 ราย มีโรคเรื้อรัง  22 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย

ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 3,736,487 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 3,454,308 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 25,512 ราย สำหรับ 10  จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,321 ราย  ชลบุรี 1,448 ราย นนทบุรี 1,127 ราย นครศรีธรรมราช 955 ราย สมุทรปราการ 907 ราย สมุทรสาคร  805 ราย ขอนแก่น 666 ราย สงขลา 581 ราย ราชบุรี  573 ราย และร้อยเอ็ด 567 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกระบุถึงเชื้อโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย  BA.1 ผสมกับ BA.2 เรียกว่า XE และล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานพบในประเทศไทยแล้ว 1 รายว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 เกือบ 2,000 ราย พบว่าเป็นเชื้อเดลตาเพียง 3 ราย นอกนั้นเป็นเชื้อโอมิครอน สอดคล้องกับอัตราส่วนการติดเชื้อในภาพรวมที่เป็นเชื้อโอมิครอนร้อยละ 99.8 คือแทบไม่มีสายพันธุ์อื่นหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้การจำแนกสายพันธุ์ย่อยโอมิครอนที่พบในประเทศไทยเป็น BA.1 ร้อยละ 7.8 และ BA.2 อีก ร้อยละ 92.2 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มี BA.3 ในประเทศไทย

 “โดยสายพันธุ์ย่อย BA.2 มีความเร็วในการแพร่เชื้อมากขึ้น ดังนั้นวันนี้เราจึงมีโอกาสติดเชื้อง่ายและไวขึ้น   อย่างไรก็ตามในประเทศอังกฤษพบว่า XE เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบว่าแพร่เร็วเพิ่มขึ้น 10% ทำให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้จับตาว่าแพร่เร็ว รุนแรง หลบภูมิหรือไม่ ขณะนี้จึงอย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกิดเหตุ” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า สำหรับการกลายพันธุ์ของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นธรรมชาติของไวรัส สำหรับเชื้อโอมิครอนที่มีการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยด้วยกัน แต่มีรหัสพันธุกรรมที่ต่างกันออกไป แม้ว่าจะเป็นการผสมในสายพันธุ์ย่อยเดียวกัน และพบเจอในต่างประเทศกัน เช่น XE เป็นการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.1 กับ BA.2 หรือ  XF ผสมระหว่างเดลตากับ BA.1 หรือ XG, XH  หรือ XJ ที่เป็นการผสมระหว่าง BA.1 กับ BA.2 ทั้งนี้ ตามที่ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่าพบสายพันธุ์ XE ในประเทศไทย  1 ราย ก็ถือว่าเป็นการเข้าได้กับ XE ส่วนรายละเอียดจะต้องถามจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ตรวจพบ ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจพบว่ามี 1 ราย ใกล้เคียงและมีโอกาสจะเป็นพันธุ์ผสม XJ ที่เป็น BA.1 ผสมกับ BA.2  เหมือนกัน โดยสายพันธุ์นี้พบมากที่ประเทศฟินแลนด์

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายไทยอายุ 34  ปี อาชีพพนักงานขนส่งระบบออนไลน์ ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม  2 เข็ม ซึ่งด้วยอาชีพที่มีความเสี่ยงในการพบคนมากและหลากหลาย จึงมีโอกาสติดเชื้อแล้วเกิดการกลายพันธุ์ไฮบริด คือเชื้อผสมพันธุ์ในตัวเอง มากกว่าคนในกลุ่มอาชีพอื่น  โดยผู้ป่วยคนนี้ตรวจพบเชื้อวันที่ 22 ก.พ.65 ที่ รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. แต่สุดท้ายจะเป็น XE หรือ XJ ยังต้องรอการวิเคราะห์ยืนยันข้อมูล​

 “ขณะนี้หายดีแล้ว โดยตอนที่ติดเชื้อก็ไม่มีอาการป่วยอะไร ดังนั้นการจะระบุว่าสายพันธุ์ใดมีอาการอะไรให้สังเกต  จะต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ จึงจะระบุได้ว่ามีเปอร์เซ็นต์ของอาการอะไรมากกว่า เช่น อาจมีไข้น้อยกว่านิดหน่อย หรือเจ็บคอมากกว่านิดหน่อย แต่คงไม่สามารถนำมาใช้แยกอาการกับสายพันธุ์ได้ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ราย แต่ข้อมูลยังไม่พอ เพราะตัวอย่างเพิ่งส่งมาวันที่ 3 เมษายน แต่จากข้อมูลเบื้องต้นมีโอกาสที่จะเป็นรีคอมบิแนนต์ (recombinant) พบร้อยละ 60 จึงยังสรุปไม่ได้ ต้องรอรายละเอียดก่อนสรุปต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก Prayut-Chan-o-cha  ระบุช่วงหนึ่งว่า "ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาสำหรับทุกคน ทุกครอบครัว ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง

ผมขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้ผู้ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ ได้เคร่งครัดตามมาตรการ VUCA ตามที่ ศบค.แนะนำ เพื่อให้ทุกคนปลอดโรคและเป็นสงกรานต์แห่งความสุขครับ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีนายตีแยรี  มาตู (H.E. Mr.Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสส่งมอบ รวมจำนวน 3,268,620 โดส

ด้านนายอนุทินระบุว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จึงจะเร่งเข้าไปฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีเชิงรุก ไม่ต้องรอให้มาหาที่สถานบริการพยาบาล แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเด็กเล็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ขณะนี้พบว่าติดเชื้อจำนวนมาก จึงอยากฝากให้พ่อแม่และผู้ปกครองงดพาเด็กเล็กไปโรงพยาบาล  เพราะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคหลายอย่าง

เมื่อถามถึงการประเมินยอดติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์จะพุ่งขึ้นเหมือนปี 64 หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า  เราต้องควบคุมในสิ่งที่ควรควบคุม ทั้งการควบคุมไม่ให้เจ็บป่วยหนัก และควบคุมไม่ให้เกิดการเสียชีวิต ขณะนี้กำลังประกาศให้โควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น เป็นสิ่งที่แพทย์เสนอ ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ เพราะรัฐบาลมีความกังวล แต่เมื่อแพทย์ให้คำอธิบายในเชิงหลักวิชาการรองรับไว้แล้ว เราเชื่อตามนั้น เพราะเห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้จะมีผู้ติดเชื้อแต่หากมียารักษาโรค และสถานพยาบาลรองรับกรณีเกิดการเจ็บป่วยหนัก ถือว่าโควิด-19  เป็นโรคโรคหนึ่ง เราต้องกล้าก้าวข้ามตรงนี้ไป 

 “ยอมรับว่าการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่กระทรวงสาธารณสุขยังเชื่อมั่นว่า วัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนไปแล้วจะทำหน้าที่ของมันได้ เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการ บางคนสามารถรับประทานยารักษาตามอาการและหายเองได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว” นายอนุทินระบุ 

ที่ จ.เชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า​ ในการประชุมติดตามสถานการณ์และมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงติดตามใกล้ชิดกับตัวเลขติดเชื้อ​ที่ขยับเพิ่มทุกวัน ล่าสุดทั้งผลยืนยัน (RT-PCR)  415 ราย และผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (ATK) 4,117 ราย รวมพุ่งเกิน 4,532 ราย เป็นสถิติ​สูงสุด​อีก​ เป็นครั้งแรกที่เกิน​ 4,500 ราย และคาดว่าแนวโน้ม​ก็ยังสูง​ อีกทั้งมีเสียชีวิต​เพิ่มอีก​ 4​ รายมาสองวันติด​ ช่วงสงกรานต์​นี้เป็นด่านสำคัญ​ว่าจะหยุดการติดเชื้อ​ได้เพียงใด​ เพราะสายพันธุ์​​โอมิครอนติดต่อกันง่ายแม้จะไม่รุนแรง และล่าสุดมีการกลายพันธุ์​เป็น​ XE​ เข้ามาอีก จึงต้องเน้นย้ำการร่วมมือกันปฏิบัติ​ตนตามแนวทางเฝ้าระวังป้องกันให้จริงจัง​.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง