ขึ้นดีเซลเฉียด33บ./ลิตร

สุดอั้น กบน.ปรับขึ้นราคาดีเซลลิตรละ 1  บาท อยู่ที่ 32.94 บาท แย้มแอลพีจีจ่อปรับ 1 มิ.ย.นี้อีก 15 บาท เป็น 363 บาท/ถัง 15 กก. "สบน." แจงไม่มีหน้าที่ช่วยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้เงินเติมสภาพคล่อง  3 หมื่นล้านบาท พร้อมกางตัวเลขหนี้สาธารณะสิ้นปีงบ  65 อยู่ที่ 61.46% การันตีรัฐบาลยังมีช่องกู้เงินพิเศษได้ แต่ต้องดูเหตุผลและความจำเป็นเท่านั้น

เมื่อวันจันทร์ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศขึ้น 1 บาท/ลิตร จาก 31.94 บาท/ลิตร เป็น  32.94 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.65 เป็นต้นไป โดยรัฐยังเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิน  35 บาท/ลิตร ตามเพดานที่กำหนดไว้ 

โดยการปรับขึ้นอัตราดีเซลครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังผันผวนต่อเนื่อง จากหลายปัจจัยที่เกิดกับประเทศขนาดใหญ่ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนอยู่ที่  149.49 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าอยู่ที่ 138 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่ลดลง ประกอบกับประเทศจีนเตรียมการเปิดประเทศ

 “ที่ประชุมได้ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบช่วงสัปดาห์หน้าจะยังคงมีราคาสูง หากไม่มีปัจจัยที่มีนัยสำคัญเกิดขึ้น การปรับราคาดังกล่าวจึงเป็นการทยอยปรับขึ้น  เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากนัก ซึ่งวันที่ 6 มิ.ย.65 กบน.จะพิจารณาทบทวนราคาดีเซลประจำสัปดาห์อีกครั้ง โดยจะคำนึงถึงราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นปัจจัยหลัก และฐานะกองทุนเป็นองค์ประกอบ และหลังจากเดือน มิ.ย.นโยบายจะเป็นอย่างไรต้องมาพิจารณาหารือกันอีกครั้ง” นายวิศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุน ณ วันที่ 29  พ.ค.65 ติดลบ 81,395 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 45,968 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 35,427 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นการปรับอัตราดีเซลขึ้นครั้งนี้ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนประมาณ 60 ล้านบาท/วัน คิดเป็น 1,800 ล้านบาท/เดือน ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กองทุนสามารถดูแลราคาขายปลีกดีเซลในประเทศได้นานขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาอุดหนุนราคาน้ำมันเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้สถาบันการเงินได้นำปัจจัยต่างๆ รวมถึงการปรับขึ้นราคาดีเซลแต่ละครั้งที่มีส่วนเสริมสภาพคล่องกองทุนให้ดีขึ้น ช่วยลดภาระการชดเชยของกองทุน เป็นข้อมูลด้านบวกในการวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยง รวมถึงเงื่อนไขและรายละเอียดการกู้ที่สถาบันการเงินจะนำไปประกอบการพิจารณา 

นอกจากนี้ วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป ราคาก๊าซหุงต้ม  (แอลพีจี) ยังทยอยปรับขึ้นอีกกิโลกรัม (กก.) ละ 1 บาท  ส่งผลให้ราคาแอลพีจีขนาดถัง 15 กก. จะปรับขึ้น 15  บาท ไปอยู่ที่ 363 บาท/ถัง 15 กก. จากเดือน พ.ค.อยู่ที่ 348 บาท/ถัง 15 กก. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.ที่อยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก.

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.ไม่มีหน้าที่หรือบทบาทในการดำเนินการกู้เงินให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการขออนุมัติกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  (สกนช.) เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  รักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องดำเนินการกู้เงินเองทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หน้าที่เดียวของ สบน.เกี่ยวกับการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคือ บรรจุแผนการกู้เงินใส่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งได้มีการบรรจุลงไปในแผนเรียบร้อยแล้ว โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565  หากทุกหน่วยงานสามารถกู้เงินได้ตามแผน สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ 61.46% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 62.76% เนื่องจากมีการปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงมา แต่ก็เป็นไปได้ที่หนี้จะลดลงกว่าคาดการณ์ เพราะหน่วยงานอาจจะกู้เงินไม่ได้ตามแผน ส่วนปีงบประมาณ 2566 คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ระดับ 62.47% ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น ไม่ได้ขึ้นแบบเร่งตัว เนื่องจากไม่มีกฎหมายกู้เงินพิเศษใหญ่ๆ ออกมาแล้ว

"ยืนยันว่ารัฐบาลยังมีช่องว่างในการกู้เงินได้และ สบน.มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เสมอ แต่การกู้เงินโดยการออกกฎหมายพิเศษนั้น หากจะดำเนินการถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาในหลายมิติ ดูทั้งความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต และที่สำคัญที่สุดคือ เหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไร โดย พ.ร.ก.กู้เงินพิเศษนั้นจะต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะเลือกดำเนินการ ต้องพิจารณาอย่างแน่ใจแล้วว่าเงินทุกแหล่งที่มีไม่เพียงพอแล้วจึงจะสามารถออกกฎหมายพิเศษได้ ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศไทยในช่วง 5 ปีจากนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ตามนโยบายของคลังก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประเทศในอนาคต" นางแพตริเซียกล่าว

นางแพตริเซียกล่าวอีกว่า หากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่สามารถกู้เงินได้ ก็ยังมีช่องทางที่กฎหมายกำหนดให้สามารถทำได้คือ รัฐบาลจัดงบประมาณชดเชยโดยสำนักงบประมาณ ซึ่งในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสำนักงบประมาณวางแผนจะชดเชยอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง