ถกศบค.17มิ.ย. ลุ้นถอดแมสก์ ออกแนวปฏิบัติ

ไทยติดเชื้อ 2.2 พันราย ดับ 18 คน โฆษกรัฐบาลชี้รอฟัง ศบค.ชุดใหญ่เคาะแนวปฏิบัติถอดแมสก์ สธ.แนะประชาชนฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 3 เข็ม เป็นพื้นฐาน เข็มต่อไปกระตุ้นทุก 4 เดือน ลดโอกาสติดเชื้อ แนวโน้มฉีดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่

เมื่อ 15 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,263 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,258 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,258 ราย, จากเรือนจำ 1 ราย, จากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,109 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,581 ราย อาการหนัก 644 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 322 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 9 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,490,760 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,438,793 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,386 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการถอดหน้ากากอนามัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 เป็นประจำ ซึ่งมีการปรับมาตรการต่างๆ มากมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการเตรียมแนวปฏิบัติการถอดหน้ากาก ซึ่งต้องฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เพื่อความรอบคอบ คำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่าประชาชนจะได้แนวปฏิบัติในที่ประชุม ศบค. วันศุกร์ที่ 17 มิ.ย.นี้

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบคำแนะนำการให้วัคซีนโควิดเพิ่มเติมว่า ประชาชนทุกคนควรฉีดวัคซีนรวมเข็มกระตุ้นอย่างน้อย 3 เข็มเป็นพื้นฐาน ส่วนการฉีดหลังเข็ม 3 เนื่องจากวัคซีนทุกสูตรประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงในช่วง 3-4 เดือน

ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงลดลงไม่มาก จึงแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นหลังเข็ม 3 ได้ทุก 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงบุคลากรสาธารณสุข เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกปีหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถกำหนดได้ แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องฉีดทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่

สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว แต่เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี เพิ่งได้รับการฉีดเพียง 2 เข็ม จึงต้องรออีก 4 เดือน เพื่อพิจารณาข้อมูล ซึ่งการศึกษาของ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้ผลตรงกันว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ภูมิคุ้มกันสูงกว่าการฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ข้อดีคือมีระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์ ทำให้ฉีดได้เร็วกว่าไฟเซอร์ที่ต้องห่างกัน 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในเด็กอายุ 6-11 ปี แบบครึ่งโดส 0.25 มิลลิลิตร (50 ไมโครกรัม) ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ด้วย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนโควิดร่วมกับวัคซีนตัวอื่นในวันเดียวกันได้ หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ ยกเว้นวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์และวัคซีนเชื้อเป็นตัวอื่น (เช่น วัคซีน MMR, LAJE, Varicella, Hepatitis A และ Herpes Zoster) หากไม่สามารถฉีดพร้อมกันในวันเดียวกันได้ ให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 28 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง