นายกฯย้อนถาม เลิกพรก.ฉุกเฉิน สธ.คุมไหวหรือ!

ติดเชื้อโควิด 1.7 พันราย ตาย 18 นายกฯ หนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลโควิดกับสมาชิกลุ่มน้ำโขง เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ไปให้ได้ เผยตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มส่งผลภาพรวม ศก.ดีขึ้น แจงขยาย พรก.ฉุกเฉินบูรณาการคนทำงาน ย้อนถามหากยกเลิก สธ.คุมไหวหรือไม่

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)  รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,784 ราย ติดเชื้อในประเทศ 1,783  ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,783 ราย  จากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,166 ราย  อยู่ระหว่างรักษา 20,911 ราย อาการหนัก 619 ราย  ใส่เครื่องช่วยหายใจ 299 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย  เป็นชาย 8 ราย หญิง 10 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 16  ราย มีโรคเรื้อรัง 2 ราย 

ขณะที่มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563  จำนวน 4,500,828 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี  2563 จำนวน 4,449,432 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,485 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 544,299,296 ราย  ผู้เสียชีวิตสะสม 6,340,727 ราย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สนับสนุนความร่วมมือกับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง (MBDS) ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี 5 ประเทศเข้าร่วมประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ได้แก่ กัมพูชา,  จีน, ลาว, ไทย และเวียดนาม เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์และมาตรการสำหรับการป้องกันควบคุมโควิด-19 เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ข้อคิดเห็น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศเรา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง จะทำให้สมาชิกสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานของไทยเฝ้าติดตามสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ แม้จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

นายธนกรกล่าวว่า กรมควบคุมโรคระบุว่า ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนข้อมูลขณะนี้มี 4 ประเทศ  (กัมพูชา, ลาว, ไทย และเวียดนาม) ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 จากระยะโรคระบาดใหญ่สู่โรคประจำถิ่น โดยมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เหมือนกัน คือการรณรงค์เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนเข็มกระตุ้นในประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต นำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยโดยยึดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจภายหลังเปิดประเทศว่า สิ่งที่จะฟื้นตัวคือเรื่องการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกวัน เราก็ต้องไปดูเรื่องของความแออัดของนักท่องเที่ยว การตรวจคนเข้าคนออกเมืองเพื่อหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งจะมีผลกับผู้ประกอบการ ห่วงโซ่ต่างๆ และเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการทั้งหมด ซึ่งเราก็พยายามให้คนเหล่านี้ได้กลับมามีอาชีพ  ให้ร้านอาหารกลับมาขายได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น เราคาดหวังอย่างนั้น จึงบอกว่าไม่อยากให้สถานการณ์กลับมาอีก เราเจอปัญหาโควิด-19 มา 2-3  ปีแล้ว แต่เราก็สามารถทำได้ดี หลายประเทศชื่นชม เราต้องรักษาตรงนี้ต่อ เพราะบางอย่างเราอาจจะต้องสงวนรักษาไว้ ข้อห้ามอะไรต่างๆ ก็ต้องมี ไม่เช่นนั้นจะกลับไปที่เก่าแล้วจะทำอย่างไรกันอีก เพราะก็เห็นแล้วว่าเสียหายมากมายแค่ไหน

"อยากให้มองว่าประเทศรอบบ้านเป็นอย่างไร เขามีมาตรการอะไรซึ่งเราทำมากกว่าเขา และประชาชนก็เดือดร้อน แล้วคิดว่านายกฯ ไม่เจ็บปวดหรือ ผมไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่เราพยายามทำอย่างเต็มที่ที่สามารถทำได้ โดยที่ไม่เป็นปัญหาและไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในอนาคต ก็พยายามที่สุดแล้ว จึงขอให้ช่วยกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเสนอให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินตอนนี้ประกาศไปถึงสิ้นเดือน ก.ค.65 ก็ต้องพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนทราบดีว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ไม่เพียงพอต่อการบูรณาการ เพราะต้องใช้คนทั้งหมดมาทำงาน ซึ่งมีผลมาถึงวันนี้ในเรื่องประสิทธิภาพ  ฉะนั้นต้องไปดูว่าจำเป็นอีกหรือไม่ ทั้งนี้หากจะยกเลิกไปก็เหลือแต่กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข จะทำไหวทุกอย่างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากน้อยเพียงใด  ตนไม่ได้อยากบังคับใครทั้งสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ