ห้ามใช้‘สนามหลวง’ ‘ชัชชาติ’เปิดชุมนุม7พื้นที่/รับปชช.เบื่อรุนแรง!

ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ 7 แห่ง ม็อบล้มเจ้าผิดหวัง ไร้สนามหลวง "ชัชชาติ" ทำม็อบสามนิ้วสะดุ้งแล้วสะดุ้งอีก ชุมนุมต้องรับผิดชอบทรัพย์สินทางราชการด้วย แบ่งใช้พื้นที่กับคนอื่น ให้แค่ 4 ทุ่ม ลดไปม็อบบนถนน เพราะบรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว ประชาชนเบื่อการทะเลาะ ความรุนแรง

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครเรื่อง จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 จัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยมีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

1.สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ 1.1 ลานคนเมือง เขตพระนคร          1.2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง 1.3 ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา (ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36) เขตจตุจักร 1.4 ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง เขตพระโขนง 1.5 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 1.6 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ 1.7 สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน

โดยผู้จัดการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะในสถานที่ตามประกาศนี้ ต้องแจ้งการใช้สถานที่ต่อสำนักงานเขตพื้นที่ ตามแบบหนังสือแจ้งใช้สถานที่จัดการชุมนุมสาธารณะแนบท้ายประกาศนี้ พร้อมทั้งเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ก่อนจัดการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อที่สำนักงานเขตพื้นที่จะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะทราบ และมีเวลาเตรียมการเพื่ออำนวยความสะดวกและความ

ปลอดภัยในการใช้พื้นที่ให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมตามความเหมาะสม

ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการไม่ให้เกิดความเสียหาย และหากทรัพย์สินของทางราชการมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทุกประการ

นายชัชชาติเผยว่า เนื่องจากเป็นประกาศครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ให้ ก็คงมีเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน มี CCTV เก็บข้อมูล แต่มาตรการความมั่นคงตำรวจจะเป็นคนมาดูแล ในส่วนของการทำผิดกฎหมายต่างๆ เรื่องความรุนแรง การใช้อาวุธ เนื้อหาในการชุมนุม ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ กทม.เองไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้

"ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ลดการลงไปใช้พื้นที่ถนน ทำให้การจัดการดูแลความปลอดภัยดีขึ้น และสรุปที่ประชุมทุกคนก็เห็นด้วยแต่คงไม่ได้ให้พื้นที่ทั้งหมด อาจจะให้แค่ร้อยละ 60 ของพื้นที่ เพราะต้องแบ่งให้กับผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก ในขณะเดียวกัน เป็นจุดที่หากเกิดกรณีฉุกเฉิน จะเป็นจุดที่รองรับคนได้ เราพยายามทำทุกอย่างเต็มความสามารถ ขอความร่วมมือประชาชน ให้ทำตามกรอบของกฎหมาย การแสดงออกเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรไปละเมิดสิทธิของคนอื่น และ กทม.เองก็พร้อมจะช่วยเหลือ"

เมื่อถามถึงกรณีที่มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มอาจจะไม่ได้อยู่สถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนท้องถนนแทน นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องค่อยๆ ดูกันไป เราต้องพยายามควบคุม ซึ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่เราต้องพยายามชี้แจง เรียนตรงๆ ว่าบรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว เราทุกคนอยากฟังความคิดที่แตกต่างคืออะไร ถ้าเราทำให้เกิดเรื่องอื่น  สุดท้ายการแสดงความคิดเห็นจะไม่ได้แสดงความเห็น กลายเป็นทะเลาะเรื่องอื่นแทน ดังนั้นอย่าเปลี่ยนการแสดงความคิดเห็นสาธารณะเป็นอย่างอื่น

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันเดียวกันนี้ นายชัชชาติให้สัมภาษณ์ว่า เป็นครั้งแรกที่ กทม.ประกาศพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จึงมีการกำหนดคนไม่ให้แออัดมากเกินไป โดยกำหนดพื้นที่ 1 คนต่อ 3 ตารางเมตร (ตร.ม.) และไม่อยากให้เกินเวลา 22.00 น. การมาชุมนุมให้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ ไม่ให้เกิดความรุนแรง                 

"ประชาชนเบื่อการทะเลาะ ความรุนแรง ไม่ได้ทำให้มีคนมาร่วมมากขึ้น แต่การชุมนุมที่มีเหตุผลแสดงปัญหา คุยด้วยเหตุผล จะมีแนวร่วมมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นความรุนแรงจะได้คนอีกกลุ่มหนึ่ง"

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนกลุ่มทะลุแก๊สนั้น อย่าไปตัดสินใครก่อน เราเตรียมพร้อมทุกเหตุการณ์ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทาง กทม.ให้เกียรติทุกคน จึงกล้าประกาศพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ ผู้มาใช้จะเคารพสถานที่และเคารพประชาชน

 “เมืองไทยต้องเดินหน้าด้วยการคิดบวก อย่าไปคิดว่าทะลุแก๊สจะทำโน่นทำนี่ ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้สร้างสรรค์ ฝากทุกคนมาแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างมีความสุข สนุก เคารพซึ่งกันและกัน สุดท้ายมันจะไปได้เรื่อยๆ ในพื้นที่ที่มีพลัง ให้เรามาแสดงความเห็น หาคำตอบร่วมกัน เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น” นายชัชชาติกล่าว

ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายชัชชาติกล่าวให้โอวาทแก่ข้าราชการบรรจุใหม่ว่า พวกเราเป็นกำลังสำคัญของกทม. ต้องขอฝากในมือพวกเรา พร้อมตั้งคำถามกับบุคลากรว่า "เปลี่ยนอะไร สำคัญที่สุด?" จากนั้นได้หยิบยกเนื้อหาจากหนังสือ Think Again ของ Adam Grant มาอธิบายว่า สอนให้เราลองคิดใหม่ตลอด หลายคนค้างอยู่บนภูเขาแห่งความโง่ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้กันต่อไป

 “ผมก็ยอมรับว่าโง่หลายเรื่อง แต่ก็จะต้องเรียนรู้ต่อไป ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนทำให้สุดท้ายจะรู้จริง เราอย่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ 'ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน' เพราะจะทำให้เราอยู่ในโลกทัศน์เดิมๆ และทำให้ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า อย่างโซเชียลมีเดียทำให้เราโง่ขึ้น เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันกับเรา วงจรการคิดใหม่เริ่มจากการถ่อมตน สงสัย อยากรู้อยากเห็น หาความรู้เพิ่มและค้นพบ ให้ถ่อมตนต่อความรู้ที่มี ยำเกรงต่อความไม่รู้ ถือเป็นสิ่งที่ตนคิดตลอด เจอใครก็ยกมือไหว้ถามตลอด เพราะมีคนที่รู้มากกว่าเราเยอะ

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า การทำงาน กทม.ไม่ควรเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน หากมีการทุจริตจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด และไล่ออก "ผมจะไม่ทำกับพวกเราเหมือนคนในครอบครัว กทม.ดูแลกันเหมือนทีมดีแล้ว เพราะบริษัทควรเป็นเหมือนทีมกีฬาที่ต้องทำงานเป็นทีม"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิด 7 จุดให้ชุมนุมครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มล้มล้างสถาบันอย่างมาก ที่ผิดหวังไม่มีการระบุสนามหลวงให้เป็นที่ชุมนุมด้วย

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กทม.ประกาศให้ 7 พื้นที่ม็อบจัดชุมนุมได้ หากเกิดการชุมนุมขึ้นนอกพื้นที่ทั้งเจ็ดแล้วไซร้ กทม.ไม่ดำเนินการเอาผิดระวังจะโดน ปอ.157 นะครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง