ดรามาถอดแมสก์นายกฯฉุนคิดดีแล้ว

ยอดติดเชื้อโควิดรายใหม่  2,313 ราย เสียชีวิต 16 คน “สธ.” เฝ้าระวังโอมิครอน BA.5 ชี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งยีนเหมือนเดลตา คาดอีกไม่นานระบาดทั่วโลกรวมไทย “บิ๊กตู่” ฉุนถูกซักประกาศผ่อนคลายถอดแมสก์ ลั่นคิดรอบคอบแล้ว บอกอย่าให้มีปัญหาทุกเรื่อง “รมว.ศธ.” ห่วงเด็กเล็กกลุ่มเปราะบางยังไม่ได้รับวัคซีน ชี้โรงเรียนสอนในสถานที่ปิดยังให้ นร.สวมหน้ากาก เว้นกิจกรรมที่โล่งแจ้ง

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,313 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,309 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,309 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 4 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,489 ราย อยู่ระหว่างรักษา 22,458 ราย อาการหนัก 602 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 284 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 16 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 4 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13 ราย มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,509,541 ราย ยอดหายป่วยสะสม 4,456,524 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,559 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 547,386,723 ราย เสียชีวิตสะสม 6,347,567 ราย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (Variant of Concern: VOC) เหลือเพียงสายพันธุ์เดียวคือโอมิครอน ที่ระบาดเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแทบไม่มีสายพันธุ์อื่น ไม่ว่าจะเป็นเบตา อัลฟา หรือเดลตาแล้ว โดยโอมิครอนก็ยังไม่ได้แตกรูปแบบหรือเปลี่ยนแปลงกลายเป็นตัวใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดกลุ่มโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตาว่าเป็น VOC lineages under monitoring หรือ VOC-LUM ซึ่งมีแนวโน้มทำให้มีการแพร่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ หรือสามารถติดเชื้อได้แม้ว่าฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ขณะนี้มีอยู่ 5-6 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา เช่น BA.2.12.1, BA.2.9.1, BA.2.11, BA.2.13 ซึ่ง BA.4 BA.5 รวมอยู่ในนั้นด้วย ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.12.1 ที่มีเป็นข่าวในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ก็เริ่มลดลง ซึ่งประเทศไทยก็พบประปราย

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับ BA.4 และ BA.5 พบมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งยีนที่ L425R ซึ่งเหมือนที่พบในเดลตามาก่อน จากหลักการจึงคาดว่าจะมีผลและมีความอันตรายต่อปอดมากขึ้น จึงมีความวิตกกังวลมากขึ้น เนื่องจากโอมิครอนเดิมก็แพร่เร็วอยู่แล้ว และหากมีความรุนแรงของเดลตาก็น่าจะมีปัญหาขึ้นได้ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นการสันนิษฐานจากตำแหน่งพันธุกรรมอยู่ อย่างไรก็ตาม BA.4 และ BA.5 มีตำแหน่งพันธุกรรมบางจุดที่ต่างกัน แต่ไม่ได้ส่งผลในเรื่องของความรุนแรงที่มากขึ้น

“สถานการณ์ทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกพบว่า BA.5 น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า BA.4 เพราะพบการติดเชื้อในสัดส่วนที่มากขึ้น โดย BA.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 25 ส่วน BA.4 ลดจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 9 ฉะนั้นภาพรวมของโลกมี BA.4 ลดลง ขณะที่ BA.5 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอีกไม่นานก็จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย” นพ.ศุภกิจกล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า สำหรับการพบ BA.4 และ BA.5 นั้น ในประเทศไทยรายแรกในกลางเดือนเม.ย.2565 ข้อมูลตรวจสายพันธุ์ ระหว่างวันที่ 18-22 มิ.ย. ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจทั้งหมด 396 ตัวอย่าง สัดส่วนที่พบสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 พบมากในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ร้อยละ 72.7 พบในประเทศ ร้อยละ 27.3 ฉะนั้นต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ ถึงจะเห็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์ฯ จะสุ่มตรวจสายพันธุ์ในผู้เดินทางเข้าประเทศ ชายแดน ผู้ที่มีอาการรุนแรง และคลัสเตอร์แปลกๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 12/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย. 65 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังตามข้อกำหนดฯ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และคำสั่ง ศบค.ที่ 13/2565 ลงวันที่ 23 มิ.ย.65 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.65 เป็นต้นไป ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ทั้งนี้ สาระสำคัญคือการผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหลังถูกถามเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า อ่านกันหรือยังว่าทุกอย่างเขียนไว้อย่างไร อยากให้สื่อไปทำความเข้าใจกันก่อนแล้วค่อยมาถามว่าออกมาเพื่อความมุ่งหมายอะไร และอะไรคือสาระสำคัญ แล้วมาตรการที่ว่ามีปัญหาอย่างไร ออกมาเพื่อใคร

“ผมเชื่อว่ารอบคอบแล้วถึงได้ประกาศออกมา เพราะเป็นเรื่องของความเดือดร้อนและความจำเป็น อย่าให้มีปัญหาทุกเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ฝากถึงประชาชนพิจารณาใช้ประโยชน์ด้านสุขอนามัยของการสวมหน้ากากอนามัย แม้ให้ผ่อนคลายสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจมีผลแล้ว การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของ สธ. ก็ยังคงมีประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่และการรับเชื้อ

ขณะที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้สั่งการและประสานไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม. ได้ทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ ประกาศดังกล่าวแล้วรวมทั้งให้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนได้ทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า แม้จะผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย แต่ในส่วนของสถานศึกษายังให้ยึดแนวปฏิบัติของ สธ. ซึ่งหากจัดการเรียนการสอนในสถานที่ปิด ก็ยังจำเป็นจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ แต่หากมีการจัดกิจรรมในที่โล่งแจ้ง ก็สามารถผ่อนปรนการสวมหน้ากากได้ ทั้งนี้ ตนยังเป็นห่วงเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้

ด้าน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส แจ้งว่า แม้มีการประกาศผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร หลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปัจจุบันได้คลี่คลายและมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารส่วนรวม รถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงกำหนดให้มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการใช้บริการ

ที่ จ.ขอนแก่น แม้จะมีประกาศไม่บังคับการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังสวมใส่หน้ากากอนามัยกันอยู่ โดย น.ส.วัลยา ภูงาม อายุ 35 ปี ชาว จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเพื่อความปลอดภัยยังคงขอสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างนี้ต่อไป ทั้งในพื้นที่โล่ง พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ปิด เนื่องจากยังคงเน้นหนักในเรื่องของการรักษาสุขภาพและปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง และเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในเดือน ก.ค.ตามที่รัฐบาลกำหนด

 “ครอบครัวเราอยู่ด้วยกันหลายคน มีผู้สูงอายุหลายท่าน ที่ผ่านมาการปฏิบัติตัวในการป้องกันและเฝ้าระวังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกคนในบ้านได้ดำเนินการมาอย่างเข้มงวด ทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การตรวจคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ การล้างมือบ่อย รวมไปถึงการเว้นระยะห่างและการไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้นแม้วันนี้มาตรการต่างๆ จะผ่อนคลายลง ครอบครัวก็ยังคงชีวิตแบบวิถีใหม่นิวนอร์มอลอย่างเข้มงวดเช่นเดิม เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง” ชาวขอนแก่นระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง