โควิดระบาดระลอก6พีกสุดถึงสค.

ไทยติดเชื้อเพิ่ม 2,257 ราย ดับ 28 ราย ศบค.เตือนทำกิจกรรมคนหมู่มากในพื้นที่โล่งแจ้งต้องสวมแมสก์ “หมอยง” ชี้โควิดระบาดระลอกที่ 6 จากโอมิครอน BA.5 พุ่งหลายหมื่นคนมากกว่าระลอก 5 แน่ คาดพีกสูงปลาย ก.ค.ถึง ส.ค. แต่ยอดนอน รพ.และเสียชีวิตลดลงใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่ อย.ยันมียาโมลนูพิราเวียร์พอเพียงพอรักษา อย่าซื้อกินเองผ่านออนไลน์

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ไม่ประมาท แม้จะได้รับรายงานทางการแพทย์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สั่งเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขไทยในทุกด้าน ทั้งการรักษา ศักยภาพเตียง ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการเปิดเสรีการใช้ชีวิต โดยย้ำว่าการสวมใส่หน้ากากและการฉีดวัคซีนยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คนที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุควรสวมใส่หน้ากากตลอดเวลาขณะออกจากบ้านและเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย

รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,257 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,256 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 1 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 28 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 24,191 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,120 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 2,329,746 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 2,329,561 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 770 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.64-12 ก.ค.65 รวม 140,544,783 โดส

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า หลังการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ พบว่าการติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งช่วงวันหยุดยาวที่ประชาชนมีการเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยว หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่จังหวัดอื่นๆ มากขึ้น และแม้ที่ผ่านมาจะมีประกาศให้สามารถเลือกไม่สวมหน้ากากอนามัยได้ในพื้นที่เปิดโล่ง แต่หน้ากากอนามัยยังคงเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ ดังนั้นแม้จะเป็นการร่วมกิจกรรมในพื้นที่เปิดโล่ง เช่น ดูดนตรีสด ดูหนังกลางแปลง เชียร์กีฬา แต่หากเป็นการอยู่ร่วมกันจำนวนมาก การเว้นระยะห่างทำได้ยาก ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง

นอกจากนี้ ขอให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด การระบายอากาศไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามเกณฑ์ 3 เข็ม ผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 ระลอกที่ 6 ยังไม่ถึงจุดสูงสุด โดยการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้นับเป็นระลอกที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้และตลอดเดือนสิงหาคม ซึ่งเดือนหน้านักเรียน มหาวิทยาลัย จะเปิดเทอมหมด และจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม ทุกอย่างต้องเดินหน้า ด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียนแล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ

สำหรับจำนวนผู้ป่วย ถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลประมาณ 10% หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะเป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผู้ป่วยหลายหมื่นคน จะมีผู้เข้ารับการรักษาและแจ้งยอดให้กระทรวงสาธารณสุข อยู่ที่ 2,000 คน และมีการเสียชีวิต 20 คน ส่วนยอดผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ 5 แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่เพื่อลดอาการ  และถ้าติดเชื้อถึงแม้จะมีอาการน้อย ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ ควรจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาในทันทีให้เร็วที่สุดเพื่อลดการนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิต

ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การระบาดรอบนี้ น่าจะเป็นการระบาดรอบใหญ่ เหมือนช่วงเดือนมี.ค. ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1, BA.2 ตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้กำลังเพิ่มเป็นทวีคูณ และจากนี้ไปไม่นานจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ รวมทั้งผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ระบาดขณะนี้กำลังเปลี่ยนเป็น BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ติดต่อกันง่ายที่สุด และหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์เดิม ตัวเลขผู้ติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุขต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะรายงานเฉพาะผลตรวจ RT-PCR ขอให้ดูตัวเลขของผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ และผู้เสียชีวิตเป็นหลัก แนวโน้มกำลังเพิ่มขึ้นแน่นอน

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีการขายยาโมลนูพิราเวียร์ทางสื่อออนไลน์ว่า อย.ได้เร่งตรวจสอบการขายยาออนไลน์ทุกช่องทาง สั่งระงับโฆษณาและดำเนินคดีโฆษณาขายยาผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มตลาดร้านค้าออนไลน์แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นช่องทางที่ใช้ส่งต่อยาผิดกฎหมาย และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ลักลอบขายในทุกช่องทาง รวมถึงร่วมกับกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังการนำเข้ายาตามด่านต่างๆ เพื่อสกัดไม่ให้มีการนำเข้ายาผิดกฎหมายหรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง อย.เข้ามาในประเทศ

 “กระทรวงสาธารณสุขมีการสำรองยาโมลนูพิราเวียร์ที่เพียงพอสำหรับการรักษาโควิดในไทย แต่ที่สำคัญ ขอให้รับยาจากแหล่งที่ถูกต้องคือโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ได้รับจัดสรรยาจากภาครัฐ ไม่ควรซื้อยาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ โดยยาโมลนูพิราเวียร์เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์จะมีการประเมินอาการและสั่งจ่ายตามข้อบ่งใช้ตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีข้อควรระวัง โดยเฉพาะห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และต้องมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา หากสั่งซื้อทางออนไลน์มากินเองอาจได้รับยาปลอม ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา ไม่สามารถใช้ยาโมลนูพิราเวียร์รักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกต่อไป” นพ.ไพศาล ระบุ

ส่วนกรณี รพ.เอกชนแห่งหนึ่งย่านคลองหลวง ที่มีการโฆษณาแพ็กเกจยารักษาโควิดนั้น อย.ลงพื้นที่ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวได้มีการโฆษณาแพ็กเกจรักษาโรคโควิด-19 หลายรูปแบบให้ผู้ป่วยเลือกรับบริการ บางแพ็กเกจมีการโฆษณาด้วยข้อความว่าจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยด้วย ซึ่งไม่มีการขออนุญาต กรณีนี้ทาง สบส.ได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง