คลอดแผนรับปลดโควิด1ตุลา

สธ.ออกประกาศปลดโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายตั้งแต่ 1 ตุลา.นี้เป็นต้นไป พร้อมกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 23 ก.ย.นี้  ศบค.เตรียมพิจารณาแนวปฏิบัติรองรับ  ขณะที่ "อนุทิน" เผยผลประชุม คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ ปรับมาตรการยกเลิกตรวจ ATK-แสดงเอกสารรับวัคซีนเข้าไทย ส่วนการสวมหน้ากากอนามัยให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ซึ่งได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ก.ย.65 ประกอบด้วย 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 พ.ศ.2565 และ 2.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับจะมีผลยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย แล้วกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป

โดยการยกเลิกโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายนี้ เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง การแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในต่างประเทศก็มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง มีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น จึงสมควรปรับมาตรการทางกฎหมายให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในประเทศและสถานการณ์ปัจจุบัน

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ติดตามและดำเนินการตามแผนงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นระยะ ซึ่งรวมถึงการจัดทำกรอบนโยบาย แนวปฏิบัติภายหลังโควิด-19 ปรับสู่การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แนวปฏิบัติของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เมื่อเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 23 ก.ย.65 นี้ จะได้พิจารณาอนุมัติแนวดำเนินการต่างๆ ซึ่งได้เตรียมไว้เพื่อไปสู่ในทางปฏิบัติต่อไป

"ภายหลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งด้านกฎหมาย กลไกการจัดการในภาพรวม การดำเนินการด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ และการสื่อสารให้สังคมเกิดความเข้าใจ โดยมีเป้าหมายคือประชาชนอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีการพิจารณาในที่ประชุม ศบค. วันที่ 23 ก.ย. นี้" น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การประกาศลดระดับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข มีการผ่อนคลายทางนโยบายที่สอดคล้องกับที่ ครม. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกโควิด-19 ออกจากกลุ่มโรคต้องห้าม หลังจากที่ถูกกำหนดให้เป็นโรคต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โดยประกาศจะมีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เข้าไทยไม่ต้องตรวจเอทีเค

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2565 ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั้งทั่วโลกและไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยที่ประชุมเห็นชอบ 2 เรื่อง ได้แก่ 

1.เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566) โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน เฝ้าระวังและควบคุมโรค ด้านการแพทย์และรักษาพยาบาล ด้านการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ และข้อมูลสารสนเทศ และด้านบริหารจัดการ กฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป และให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความพร้อม

2.เห็นชอบมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยในส่วนของนักเดินทาง ก่อนเข้าประเทศยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจ ATK ยกเว้นโรคไข้เหลืองที่ยังดำเนินการตามปกติ, ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยยังคงการเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่, ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ให้ปฏิบัติตาม DMHT (เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจ ATK) อย่างเคร่งครัด 5 วัน และให้คำแนะนำแก่ประชาชนให้มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ โดยเตรียมเสนอ ศบค.และ ครม. จากนั้นมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ส่วนเรื่องการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย เน้นให้เหมาะสมกับบริบทของกิจกรรม ออกกำลังกายกลางแจ้งไม่ต้องสวม แต่ในส่วนกิจกรรมอื่นๆ ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบแผนบริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิดในเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการได้กลาง ต.ค.2565 ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน แต่แนะนำให้เด็กทุกคนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว และรับทราบแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ในเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับวัคซีนแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น และรับทราบแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย การดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อโควิดใน รพ. หลังการระบาดใหญ่ ซึ่ง สธ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรองรับ เพื่อให้ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิการรักษาเช่นเดียวกับโรคทั่วไป ทั้งการเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านไวรัสตามแนวทางการรักษาล่าสุด รวมถึงการแยกกักผู้ป่วยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระยะต่อไป

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

 “สถานการณ์โรคโควิดมีแนวโน้มดีขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตมีลดลงต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากกว่า 82% และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีนให้ครบเพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติมากที่สุด” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ให้กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน เพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางก่อนการสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) โดยขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 3,400 ราย โดย LAAB สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์หลายตัว กลุ่มเป้าหมายระยะแรก ได้แก่ ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต), ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก โดยกำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ

 “กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld เพื่อการรักษาผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดโควิด-19 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นอกจากนี้ วันที่ 20 กันยายน 2565 European Medicines Agency’s (EMA) ของยุโรป อนุมัติให้ Evusheld ใช้ในการรักษาผู้โควิด-19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ส่วนประเทศไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่งติดเชื้อระยะแรกและมีความเสี่ยงสูงตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” นพ.โสภณกล่าว

 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันพุธที่ 21 กันยายน ว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ (รักษาตัวในโรงพยาบาล) จำนวน 1,129 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,452,097 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 934 ราย หายป่วยสะสม 2,465,999 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 8,371 ราย โดยเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 598 ราย และเสียชีวิต 13 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 10,970 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ทั้งนี้ภาพรวมผู้ป่วยเฉลี่ยรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตมีทิศทางลดลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง