รัฐบาลเดินหน้า ปูพรมฉีดวัคซีน ไทยการ์ดเริ่มตก

ไทยยังพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 655 ราย เสียชีวิต 12 คน “ไตรศุลี” ยันรัฐบาลยังเดินหน้าแผนฉีดวัคซีนตามปกติแม้ลดชั้นโควิด-19 แล้ว กรมอนามัยโพลเผยการ์ดคนไทยเริ่มตก “อนุชา” ตีปี๊บคุมฝีดาษลิงอยู่

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 655 ราย หายป่วยเพิ่ม 1,032 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 7,694 ราย โดยมีอาการหนัก 524 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 267 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 12 ราย มาจาก กทม. 1 ราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 ราย,
 ภาคกลางและภาคตะวันตก 2 ราย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ ศบค.ได้มีมติยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 รัฐบาลได้จัดเตรียมแนวทางบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาโรค รวมถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนไว้รองรับอย่างชัดเจน โดยการให้วัคซีนป้องกันโรคนั้น ยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายเดิม คือ ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนและผู้รับเข็มกระตุ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณวัคซีนมีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งวัคซีนคงคลังที่สามารถจัดสรรได้ทันที และวัคซีนที่ทำสัญญาไว้แล้วรอการส่งมอบจากผู้ผลิตในระยะต่อไป

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า โครงสร้างการบริหารจัดการวัคซีน ในระยะที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะมี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ให้คำแนะนำการใช้วัคซีน จะดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ 2.การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งทั้งสองส่วนยังดำเนินงานเช่นเดียวกับช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 3.การจัดหาและการกระจายวัคซีนโควิด-19 จากเดิมที่ดำเนินการโดย ศบค.  จะเปลี่ยนไปอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป

สำหรับแผนการให้วัคซีนประชาชนในเดือน ต.ค.2565 มีทั้งสิ้น 7 ล้านโดส ประกอบด้วยเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องการรับเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 ล้านโดส 2.ผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 แสนโดส 3.เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 1 ล้านโดส และเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ที่ต้องการรับเข็ม 1 จำนวน 5 แสนโดส และ 4.ผู้ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและต้องการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 4 หมื่นโดส

“วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มสำหรับหรับเด็กที่มีอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี สธ.จะได้รับมอบจากผู้ผลิตประมาณกลางเดือน ต.ค. จากนั้นจะกระจายผ่านระบบสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม.กำหนด นอกจากนี้จะประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริการฉีดให้กับศูนย์เด็กเล็ก โดยดำเนินการภายใต้การกำกับของแพทย์” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย และโฆษกกรมอนามัย กล่าวว่า จากผลสำรวจอนามัยโพลตั้งแต่วันที่ 1-19 ก.ย.2565 พบว่าทุกพฤติกรรมมีแนวโน้มลดลงจากเดือนสิงหาคมคือ การสวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่ปิดหรือคนรวมตัวกันหนาแน่น จาก 94.8% เป็น 93.6%,  การล้างมือ จาก 88.6% เป็น 87.5% และการเว้นระยะห่าง จาก 87.3% เป็น 86.3% สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จาก 82.6% เป็น 80.4% ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า มาตรการที่มีความจำเป็น และควรทำต่อไปในระยะเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ได้แก่ การเฝ้าระวังพฤติกรรมการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง 25.57% รองลงมาคือ การจัดสถานที่ ให้มีอุปกรณ์ล้างมืออย่างเพียงพอ มีการเว้นระยะห่าง และมีการระบายอากาศที่ดี 22.47% มีการทำความสะอาด และการจัดการด้านสุขาภิบาลสถานที่ต่างๆ 20.22%

“แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้การดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ประชาชนยังคงต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ และใส่ใจอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสี่ยงสูง กลุ่ม 608 และผู้ที่มีโรคประจำตัว ยังคงต้องหมั่นล้างมือเป็นประจำเมื่อสัมผัสสิ่งของ  สวมหน้ากากหากอยู่ในที่ปิดหรือคนรวมตัวกันหนาแน่น” นพ.เอกชัยระบุ

ในขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ทั้งในประเทศและทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรค สธ.ได้เสนอปรับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษวานร จากเดิมเฝ้าระวังในระดับกระทรวง ปรับลงเหลือเพียงระดับกรม

นายอนุชากล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง กรมควบคุมโรคพบว่าการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรในช่วงแพร่ระบาดสูงสุดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1,000 รายต่อวัน แต่ขณะนี้เหลือเฉลี่ย 580 รายต่อวัน โดยไทยพบผู้ป่วยฝีดาษวานร รวม 8 ราย ในเวลา 4 เดือน เฉลี่ยเดือนละ 2 ราย โดย 3 ใน 7 ราย มีประวัติแสดงอาการก่อนเดินทางกลับมาที่ไทย ซึ่งการติดต่อมีปัจจัยหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่พบการแพร่เชื้อต่อแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย และผลการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2565 จึงเสนอปรับลดระดับศูนย์ EOC โรคฝีดาษวานร จากระดับกระทรวงกลับมาเป็นระดับกรมตามเดิม

“โรคฝีดาษวานรยังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยหากพบผู้ป่วยต้องสงสัย จำเป็นต้องรายงานและมีการสอบสวนโรค จึงขอให้พี่น้องประชาชน โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยังคงติดตามและรายงานผู้ป่วยฝีดาษวานรต่อไป” นายอนุชากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะตอกย้ำแนวปฏิบัติจัดระเบียบสังคม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะวางแนวปฏิบัติคณะทำงานบูรณาการมหาดไทย – ตำรวจ ขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้กระทำผิด ชี้ความมั่นคงคือหัวใจเมื่อประชาชนเชื่อมั่น สังคมปลอดภัยแล้วเศรษฐกิจจะตามมา