สธ.นำร่อง8จว. จับตา‘โควิด19’ ยุคโรคเฝ้าระวัง

“บิ๊กตู่” ขอบคุณทุกภาคส่วนในภารกิจ 477 วันที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ย้ำยังต้องใส่หน้ากาก รณรงค์ฉีดวัคซีนต่อ “กรมควบคุมโรค” ปรับรายงานตัวเลขเป็นสัปดาห์เริ่ม 3 ต.ค. หมอโสภณเคาะ  8 จังหวัดนำร่องเกาะติดโควิดต่อเนื่อง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กระทรวงคมนาคม หน่วยงานทั้งภาครัฐ  เอกชน และประชาชนจิตอาสาทุกๆ คน ที่ได้ร่วมกันปฏิบัติงานให้บริการกระจายวัคซีนให้ประชาชน 3.3 ล้านคน รวมวัคซีนกว่า 6.5 ล้านโดส ตลอดเวลา 477 วันที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ซึ่งได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.

“นายกฯ ชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคนจากทุกหน่วยงานที่ได้เข้ามาร่วมกันปฏิบัติงานที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เพราะเป็นหน่วยที่กระจายวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์วัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีนครอบคลุม เกิดภูมิต้านทานอย่างทั่วถึง สามารถผ่านพ้นวิกฤต ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิต ธุรกิจกลับมาประกอบการได้เข้าใกล้ภาวะปกติ” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่รัฐบาลได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และมาตรการทางสังคมต่างๆ ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังแนะนำประชาชนสวมหน้ากากอนามัย และใช้แอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน และผู้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ก็ขอให้เข้ารับเข็มกระตุ้น โดยจุดบริการวัคซีนนั้นสามารถติดต่อรับวัคซีนในสถานบริการใกล้บ้าน ซึ่ง สธ.ได้กระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาล สถานพยาบาลเครือข่ายทุกจังหวัด โดยประชาชนเข้ารับวัคซีนได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ สถาบันโรคผิวหนังยังได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนสำหรับบุคคลอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งรูปแบบจองคิวฉีดล่วงหน้าได้ที่ https://covid19.iod.go.th/vaccine และลงทะเบียน ณ จุดฉีด (Walk in) ณ ห้องประชุมชั้น 20 สถาบันโรคผิวหนัง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยให้บริการในวันเสาร์ ที่ 1, 8, 29 ต.ค.65 เวลา 09.00-15.00 น. (ยกเว้นวันเสาร์ที่ 15 และ 22 ต.ค. งดบริการเนื่องจากเป็นวันหยุดยาว)

ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่โรคโควิด-19 ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดให้มีการรายงานโรคเป็นรายสัปดาห์ โดยเริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 3 ต.ค.2565

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังลดระดับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังว่า จะทำมาตรการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ในประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง โดยจะติดตามข้อมูลในจังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดที่เสี่ยงโรคจะแพร่ระบาด จังหวัดที่มีชุมชนแรงงานต่างด้าว เบื้องต้นเลือกออกมาได้ 8 จังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ ในภูมิภาคละ 2 จังหวัด แต่อาจมีการติดตามข้อมูลในจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อม หรือจังหวัดที่เห็นความสำคัญอาจทำคู่ขนานกันไป คาดว่าอาจเก็บข้อมูลเข้มข้นไปจนถึงปลายปี 2565 เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

นพ.โสภณยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนแน่นอน โดยระบบเฝ้าระวังที่ สธ.กำหนดไว้เดิม 3 ระบบที่ทุกจังหวัดต้องมี คือ 1.ติดตามผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 2.การระบาดในชุมชน และ 3.เฝ้าระวังสายพันธุ์ แต่ส่วนนี้ก็จะเพิ่มเป็นระบบที่ 4 เพื่อให้ระบบที่มีเข้มข้นมากขึ้น

"8 จังหวัดนี้จะเป็นเหมือนสัญญาณเตือน หากมีโอกาสเกิดการระบาดในระยะข้างหน้า รวมถึงเฝ้าระวังเชื้อว่าจะเป็นสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ระบบเฝ้าระวังสมบูรณ์มากขึ้น โดยการติดตามข้อมูลโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังจะสรุปข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ และหากมีการติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์ที่สูงก็อาจยกระดับมาตรการได้” นพ.โสภณกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ปาฐกถาพิเศษ 1 ชม. พูดเรื่องธุรกิจอสังหาฯ ในฐานะนายกฯ รับสับสนนิดหน่อย

“เศรษฐา” ร่ายยาวเกือบ 1 ชม. เหน็บบางคนนั่งทางในบนหอคอย ลองลงมามือเปื้อนดินตีนเปื้อนโคลนบ้าง โวคนไทยโชคดีที่มีนายกฯ Pro Business พ้อ รมว.คลัง ไม่มีอำนาจลดดอกเบี้ย ทั้งที่แพงโคตร ลั่นไม่เคยเลียรองเท้าบูธ ขอคืนพื้นที่ทหาร

รัฐบาลช่วย SME ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ

รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SME ไทย ผ่านการจัดงานมหกรรมทรัพย์หลักประกันทางธุรกิจ