ธปท.การันตีศก.โต3.3% ชี้เงินเฟ้อพ้นวิกฤตปี66

“แบงก์ชาติ” มั่นใจเศรษฐกิจไทยโต 3.3% ปีหน้าแตะ 3.8% พร้อมคาดเงินเฟ้อไทยคลี่คลายได้กลางปี 66 แจงบาทอ่อนยวบเหตุดอลลาร์แข็ง ไม่ได้ขาดเสถียรภาพ ยันทุนสำรองปึ้ก พร้อมดูแลหากผันผวนแรง แต่ไม่ฝืนตลาด

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และขยายตัว 3.8% ในปี 2566 ขณะเดียวกันคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทย คาดว่าจะคลี่คลายในปี 2566 โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อที่ 1-3% ได้ในกลางปีหน้า ส่วนปี 2565 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 6.3% และปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.6%

 “สิ่งที่ ธปท.กังวล คือเงินเฟ้อพื้นฐาน ตัวนี้สำคัญ เพราะสะท้อนเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเห็นตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานมันวิ่งขึ้น และวิ่งขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น โดยรวมปีนี้คาดเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.6% และปีหน้าที่ 2.4% โดย ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นตัวสะท้อนเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และติดมากแค่ไหน” นายเศรษฐพุฒิระบุ

สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน จะต้องดำเนินการ 3 ด้าน คือ 1.หนี้ครัวเรือน ต้องลดสู่ระดับยั่งยืน 2.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเงินช่วย facilitate ให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องเร่งผลักดานคือ จัด taxonomy พัฒนาและเปิดเผยข้อมูล และสร้างมาตรการแรงจูงใจ 3.โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล โดยเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Digital payment เช่น Cross-border payment, PromptBiz และ dStatement

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนมาจากเป็นเพราะดอลลาร์แข็งค่า โดยไม่ได้มาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายเงินไหลออก ปัจจุบันดอลลาร์แข็งค่าแล้ว 17-18% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า 12% และการอ่อนค่าของไทยโดยรวมไม่ได้ผิดเพี้ยนจากภูมิภาค ทั้งนี้ยืนยันว่าค่าเงินบาทที่ไปถึง 38 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้เกิดจากการขาดเสถียรภาพ โดยเสถียรภาพของไทยอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ทุนสำรองเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่ในระดับสูง อันดับ 12 ของโลก

 “ยืนยันไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนทุนสำรองที่ลดลง มาจากดอลลาร์แข็งค่า โดย ธปท.นอกจากถือเงินดอลลาร์แล้วยังถือเงินสกุลอื่นๆ ด้วย แต่ถามว่า ธปท.เข้าไปดูแลค่าเงินหรือไม่ ยอมรับว่า มีเมื่อเห็นความผันผวนแรงเกินไป แต่ไม่ได้เข้าไปเพื่อฝืนทิศทางตลาด เพราะเรารู้ว่าทำไม่ได้ ค่าเงินบาทมาจากดอลลาร์แข็ง เราคอนโทรลไม่ได้ และเราเคยมีบทเรียนจากปี 40 ที่ไปฝืนตลาดมากจะมีความเสี่ยงมากมาย” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น โดยยืนยันว่าดำเนินการไม่ช้าเกินไป เพราะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และยืนยันว่าไม่น้อยเกินไป เพราะยังมีกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องดูแลด้วยมาตรการเฉพาะจุด

ทางด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทราบถึงความเคลื่อนไหวของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ หลังจากตลาดมีความกังวลต่อกรณีวันที่ 3 ต.ค.65 คณะผู้ว่าการเฟดได้มีการประชุมแบบปิด เพื่อทบทวนและตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและดอกเบี้ยมาตรฐานก่อนการประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 พ.ย. 65 โดยผลของความกังวลดังกล่าวส่งผลให้วานนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 31 จุด และฟื้นตัวกลับมาบวกเกือบ 20 จุดในภาคเช้าของวันที่ 4 ต.ค. หลังจากที่ผลการประชุมคณะผู้ว่าการเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ย

ขณะนี้เป็นระยะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการฟื้นตัว รัฐบาลได้ติดตามในทุกปัจจัยที่อาจจะกระทบการฟื้นตัวดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากภาคเศรษฐกิจจริง หรือตลาดเงินตลาดทุน  ซึ่งในส่วนของตลาดเงินและตลาดทุนนี้ กระทรวงการคลังได้ประสานกับ ธปท. ในการติดตามปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุน และมีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง