โวจ่ายชดเชยชาวนาแล้ว ชงสกัดพ่อค้าคนกลาง

“จุรินทร์” แจงกระทู้สดราคาข้าวขึ้นอยู่กับความชื้น ยันโอนเงินชดเชยเข้ากระเป๋าชาวนาแล้ว 2 งวด ปัดขัดแย้ง "สันติ" ชี้ประกันรายได้คือนโยบายรัฐบาล "โฆษก รบ." ย้ำ "บิ๊กตู่" สั่งช่วยเหลือชาวนาอย่างเหมาะสม ไม่บิดเบือนกลไกตลาด "หญิงหน่อย" ซัดนโยบายประกันราคาข้าวแก้ข้าวเปลือก กก. 5 บาทไม่ได้ ชงแผน 3 ระยะให้ รบ.ดำเนินการ "เลขาฯ ครป." เสนอรัฐรับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาสกัดพ่อค้าคนกลาง

ที่รัฐสภา วันที่ 11 พ.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังเปิดให้สมาชิกหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่แล้ว ได้เข้าสู่การพิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา โดยนายชวนแจ้งว่า วันนี้มีกระทู้ถามสดด้วยวาจาจำนวน 3 กระทู้ และมีรัฐมนตรีมาตอบครบทั้ง 3 กระทู้

ทั้งนี้ ในกระทู้เรื่องที่ 2 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ได้ถามปัญหาราคาข้าวต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ว่าขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำ จึงอยากทราบว่าเงินประกันรายได้ของชาวนาจะจ่ายได้เมื่อไหร่ จะได้วงเงินเท่าใด จะมีมาตรการระยะกลางและระยะยาวอย่างไร การที่รัฐบาลอ้างเรื่องข้าวชื้นทำให้ราคาข้าวตกต่ำ ถ้ารัฐบาลยังบริหารจัดการน้ำเช่นนี้แล้วโยนความผิดให้ชาวนาถือว่าไม่ยุติธรรม

นายจุรินทร์ชี้แจงว่า ต้องอธิบายเกี่ยวกับราคาข้าวที่มีความชื้นกับราคาข้าวแห้งที่ไม่มีความชื้นก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าชาวนาจะผลิตข้าวที่มีความชื้นเท่าไหร่มาขายในราคาเท่าข้าวแห้งก็ได้ ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีมาตรฐาน จะเอาราคาข้าวที่มีความชื้นมาเทียบกับราคาข้าวแห้งไม่ได้ ส่วนเรื่องเงินประกันรายได้ของชาวนาจะจ่ายให้ทั้งหมด 33 งวด โดยโอนเงินตรงเข้าบัญชีธนาคารของชาวนา ขณะนี้เงินงวดที่ 1 และ 2 จ่ายไปแล้ว เมื่อวันที่ 9-10 พ.ย.ที่ผ่านมา วงเงิน 13,000 ล้านบาท เกษตรกรส่วนใหญ่ได้เงินชดเชยเรียบร้อยและได้เงินส่วนต่างจำนวนมาก ส่วนการจ่ายเงินชดเชยงวดต่อๆ ไปจะจ่ายสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แต่จะจ่ายเท่าใดขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่เป็นจริงในขณะนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้

“เป้าหมายในระยะกลางและยาวเราวางยุทธศาสตร์ว่าจะลดต้นทุนการทำนาของเกษตรกรจาก 6,000 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ ภายใน 5 ปี พร้อมพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้มาตรฐาน เตี้ย สั้น ดก ดี เพื่อให้ชาวนาได้มีรายได้สูงขึ้น จะใช้ยุทธศาสตร์การตลาดนำ อย่างช้าในปี 2567 จะต้องมีข้าวพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น 12 พันธุ์ และวางเป้าหมายเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จาก 465 กิโลกรัม เป็น 500 กิโลกรัม”นายจุรินทร์กล่าว

รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ในส่วนที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ระบุโครงการประกันรายได้ทำให้เป็นภาระของรัฐบาลจนกระเป๋าฉีกนั้น ขอยืนยันไม่ได้มีปัญหาอะไรกับนายสันติ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องทำงานอยู่ร่วมกันในรัฐบาล นโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นนโยบายที่มีการตกลงจะดำเนินการตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมรัฐบาล และเมื่อเข้าร่วมรัฐบาลก็เห็นพ้องกันให้ดำเนินการ โครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่ดำเนินการ

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันดูแลพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเร่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ หารือวิเคราะห์แนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตร หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้เหมาะสม ต้องดูเรื่องความเป็นไปได้ของงบประมาณ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด เพื่อให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง โดยคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนและกรอบวงเงินงบประมาณอย่างรอบคอบและรัดกุม ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบ ให้ไทยมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เป้าหมายสำคัญ คือ เกษตรกรได้ประโยชน์ รัฐบาลสามารถลดภาระด้านงบประมาณ และงบประมาณประเทศถูกใช้อย่างคุ้มค่า

นายธนกรกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการประกันราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด ทั้งข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในรอบ 3 ปี (พ.ศ.2562-2564) ที่วาระการขออนุมัติผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบงบประมาณ อุดหนุนประกันรายได้ จ่ายส่วนต่างราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด รวมยอด 276,193 ล้านบาท ประกอบด้วย ข้าว 190,311 ล้านบาท, ยางพารา 37,821 ล้านบาท, ปาล์ม 22,186 ล้านบาท, มันสำปะหลัง 20,372 ล้านบาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,503 ล้านบาท นายกฯ ยังเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่เข้าสำรวจและดูแลเกษตรกรผู้เพาะปลูก เพื่อวางแผนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมการผลิต-การจัดจำหน่าย และการตลาดในประเทศและต่างประเทศ

“นายกฯ เห็นใจพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการประกันราคาข้าว รวมทั้งยังมีมาตรการคู่ขนาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชนและโรงสีข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนราคาให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ” โฆษกรัฐบาลระบุ

ส่วน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการช่วยเหลือกรณีราคาปุ๋ยสูงขึ้นว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในการช่วยเหลือ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาทั้งแบบเร่งและแผนระยะยาว โดยตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยช่วยเกษตรกร มีปุ๋ยเคมีเข้าร่วมโครงการ 84 สูตร รวม 4.5 ล้านกระสอบ มีการสั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรกว่า 2.2 ล้านกระสอบแล้ว สำหรับแผนระยะยาว คือการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) เป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดิน

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า ได้รับร้องเรียนจากชาวนาเรื่องราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำมากกว่าปีที่แล้ว เหลือ กก.ละแค่ 5-6 บาทเท่านั้น ปัญหานี้เป็นความทุกข์ซ้ำซากของชาวนา

อีกทั้งปีนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปุ๋ยราคาลูกละ 600 บาท กลายเป็น 1,200 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก นโยบายประกันราคาข้าวที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะระบบราคากลางได้เปิดช่องให้พ่อค้าคนกลางกดราคาข้าวถูกลงไปอีกเงินที่ได้รับชดเชยก็ไม่คุ้ม

ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยสรุปไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้นที่ข้าวกำลังเก็บเกี่ยวแล้วรัฐบาลต้องดึงข้าวออกจากระบบให้มากที่สุด รวมถึงการให้สินเชื่อกับโรงสีที่ซื้อข้าวกับชาวนาในราคาที่เป็นธรรม และควรรับซื้อข้าวเปลือกโดยตรงจากชาวนา รวมทั้งต้องเร่งเจรจากับประเทศผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ของโลกเพื่อเร่งระบายสต๊อกข้าวที่ล้นเกินในประเทศไทยให้เร็ว ส่วนระยะกลางต้องมีความตั้งใจจริงที่จะลดต้นทุนปัจจัยการผลิต และระยะยาวต้องเร่งจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงวิจัยพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ขอเสนอให้แก้ปัญหาทางโครงสร้างและยุติบทบาทพ่อค้าคนกลางลงไม่ให้มีอิทธิพลในตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจโรงสีขนาดใหญ่และพ่อค้าผู้กำหนดราคาซื้อขายข้าวสาร และเป็นตัวการสำคัญที่โรงสีนำมาคำนวณกลับเป็นราคาข้าวเปลือก ทำไมไม่ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรงในราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ไปซื้อจากร้านเจ้าสัวหรือ 5 เสือพ่อค้าข้าวแทน รวมทั้งควรตั้งโรงสีชาวนาตำบลละ 1 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงสีขนาดใหญ่ประจำตำบลที่สามารถสีข้าวเมล็ดเรียวได้ไม่แตกหัก โดยอาจทำเป็นระบบสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนทุกตำบล พร้อมตั้งยุ้งฉางตำบลแทนโกดังข้าวของนายทุน ขจัดพ่อค้าคนกลาง โดยให้รัฐจัดตั้งองค์กรกลางจัดสรรการตลาดและการจัดซื้อให้แทนพ่อค้าคนกลางที่ขูดรีด โดยส่งเสริมการขายตรงต่อผู้บริโภคกับชุมชนชาวนาหรือวิสาหกิจชุมชน และควรส่งเสริมชาวนาทำเกษตรแปรรูปตามความถนัดของแต่ละพื้นที่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง