ลุ้นศบค.เคาะมาตรการเพิ่ม

ศบค.ชุดใหญ่เตรียมเคาะมาตรการเพิ่ม พร้อมกางแผนบริหารแรงงานต่างด้าว หารือไฟเซอร์ซื้อแพกซ์โลวิด “บิ๊กตู่” พอใจฉีดวัคซีนครบก่อนกำหนด ชาวบ้านชายแดนใต้เข้ารับวัคซีนแล้วหลังทำความเข้าใจไม่มีผลต่อชีวิต

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล​เปิดเผยว่า​ ในวันที่ 12 พ.ย. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะเป็นประธานการประชุม ศบค.ครั้งที่ 18/2564 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขจะรายงานสถานการณ์และคาดการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ, ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิดฯ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบค.ส่วนหน้า) รายงานผลการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่, รายงานผลการดำเนินการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานจะรายงานการดำเนินโครงการ แฟคทอรีแซนด์บ็อกซ์ ในระยะที่ 2

สำหรับวาระเพื่อพิจารณา ได้แก่ แผนการให้บริการวัคซีน โดย ศปก.สาธารณสุข, พิจารณามาตรการควบคุมโรคและปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรและพิจารณาแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวเข้าราชอาณาจักรของกระทรวงแรงงาน นอกจากนั้นมีการนำเสนอผลการดำเนินงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ของสำนักงานและศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ด้วย พร้อมทั้งมีการนำเสนอประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของศบค.ในวาระต่างๆ อาทิ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37), คำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 19/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, คำสั่ง ศบค.ที่ 20/2564 เรื่องแนวทางตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 18)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์พอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้เดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนได้ 100 ล้านโดสในปลาย พ.ย.นี้ ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 1 เดือน กรมควบคุมโรคยังเร่งกระจายวัคซีนในสต๊อกทั่วประเทศโดยได้จัดส่งไปเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ถึง 11 ล้านโดส เพื่อเร่งให้ทุกพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยหลายพื้นที่ มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังกว่าร้อยละ 80 แล้ว เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” รายงานการฉีดวัคซีนสะสม ณ วันที่ 11 พ.ย. เวลา 12.18 น. จำนวน 83,217,981 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็ม 1 ฉีดสะสม จำนวน 44,777,147 ราย, เข็ม 2 ฉีดสะสม จำนวน 35,758,836 ราย, เข็ม 3 ฉีดสะสม จำนวน 2,678,171 ราย และเข็ม 4 ฉีดสะสม จำนวน 3,827 ราย

นายธนกรยังกล่าวว่า ขณะที่ภาพรวมจำนวนการฉีดวัคซีนนักเรียนรายภาค ณ วันที่ 9 พ.ย. จากจำนวนนักเรียนที่ประสงค์ฉีดวัคซีน 3,866,840 คน โดยมีนักเรียนได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,346,723 คน คิดเป็น 86.55% และนักเรียนได้รับวัคซีนเข็ม 2 จำนวน 419,079 คน คิดเป็น 10.84% ต้องขอบคุณสำหรับการได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง นักเรียนที่สมัครใจเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โรงเรียนมีความปลอดภัย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการจัดหายาสำหรับรักษาโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการพิจารณาในการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว ทั้งในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1.3 พันล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ อยู่ภายใต้งบประมาณดังกล่าวดังกล่าวด้วย โดยจัดสรรงบประมาณให้กรมการแพทย์ จำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำมาใช้ได้ในช่วง ธ.ค.2564 หรือม.ค.2565 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมหารือกรณียาแพกซ์โลวิดร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 12 พ.ย.นี้

จากผลการทดสอบยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด พบประสิทธิผลช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโควิดสายพันธุ์ไหน และยังไม่พบว่ามีอาการข้างเคียงรุนแรง โดยยาโมลนูพิราเวียร์ช่วยลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 50% ขณะที่ยาแพกซ์โลวิดลดอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลง 89% ในส่วนสถานการณ์ยาในปัจจุบัน ณ วันที่ 4 พ.ย.พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ คงเหลือ 21 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์คงเหลือกว่า 7 หมื่นเม็ด เพียงพอต่อความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วย สำหรับชุดตรวจ ATK องค์การเภสัชกรรมจะเปิดช่องทางการจำหน่ายเพิ่มเติมในระบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gpoplanet.com อีกครั้งวันที่ 12 พ.ย.นี้ เวลา 08.00 น. ราคาชุดละ 40 บาท

ทางด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,496 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,244 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,942 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 302 ราย, มาจากเรือนจำ 240 ราย, เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7,452 ราย อยู่ระหว่างรักษา 96,450 ราย อาการหนัก 1,846 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 425 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 57 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 27 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 42 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ในจ.นครศรีธรรมราช 9 ราย

มีรายงานว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัดคือ จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และ จ.สตูล พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,358 คน เสียชีวิต 8 คน, จ.สงขลา 496 คน เสียชีวิต 2 คน, จ.ปัตตานี 355 คน เสียชีวิต 3 คน, จ.ยะลา 275 คน เสียชีวิต 1 คน, จ.นราธิวาส 190 คน เสียชีวิต 1 คน และ จ.สตูล 92 คน เสียชีวิต 1 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตทุกคนไม่ได้รับวัคซีน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานแพทย์ชนบท ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับวัคซีนโควิดเต็มพื้นที่ แต่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงมาจากประชาชนจำนวนหนึ่งประมาณร้อยละ 25-30 ไม่ประสงค์รับวัคซีน ซึ่งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้เสียชีวิตจากกลุ่มยังไม่ได้รับวัคซีนและมีโรคประจำตัว บางโรงพยาบาลมีผู้ขอรับวัคซีนวันละ 4-5 คน จึงมีแผนของสาธารณสุขทำงานบูรณาการกับทุกฝ่าย เดินเคาะประตูบ้านบริการฉีดวัคซีน

มีรายงานว่า ชาวบ้านได้พาครอบครัวทยอยไปฉีดวัคซีนตาม รพ.สต. โดยก่อนหน้านี้หลายคนได้รับข่าวสารที่ผิดๆ ว่าฉีดวัคซีน 3 ปีจะเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาด้านนายอำเภอทุกอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่ ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน เคาะประตูทุกบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านไปรับวัคซีน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกอำเภอ ชาวบ้านต้องฉีดวัคซีนครอบคลุม 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยืนยัน 11 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21 ราย

ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศให้ 15 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (Red Zone) ได้แก่ ชุมชนป่าแพ่ง-วังสิงห์คำ, ชุมชนบ้านอุ่นอารีย์, ชุมชนป่าเป้า, ชุมชนเชียงยืน (บางส่วน), ชุมชนศรีมงคล (บางส่วน), ชุมชนพัฒนาบ้านกู่เต้า, ชุมชนช้างคลาน, ชุมชนการเคหะหนองหอย 1, ชุมชนการเคหะหนองหอย 2, ชุมชนการเคหะเชียงใหม่, ชุมชนสามัคคีพัฒนา, ชุมชนเอราวัณ, ชุมชนศรีวิชัย, ชุมชนคูปู่ลุน และชุมชนโลกโมฬี เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-24 พ.ย. 2564 หลังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง​.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ๊งอิ๊ง' ดูไว้! นักการเมืองต้องรักษาสัจจะเหมือน 'อภิสิทธิ์' เคยหาเสียงไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร กล่าวในงานอีเวนต์ ”10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10“ ว่า พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถูกตั้งรัฐบาลผสม