ยันกัญชาไม่เป็นยาเสพติด

"ศุภชัย" แจงตัด ม.3 ไม่ทำกัญชากลับเป็นยาเสพติด เลขาธิการ อย.ยืนยันอีกเสียง สถานะ "กัญชา" ชัด ไม่เป็นยาเสพติด การจะให้กลับไปเป็นยาเสพติด คกก.ควบคุมยาเสพติดให้โทษ   อย.ต้องชงบอร์ด ป.ป.ส. ซึ่งไม่มีวาระเรื่องนี้

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ..... แถลงถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ว่า การพิจารณาในมาตรา 3 ซึ่งมีสื่อมวลชนบางแห่งได้นำเสนอข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยในมาตรา 3 มีใจความระบุว่า กัญชา ไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติด เป็นการเขียนขึ้นเพื่อย้ำว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่ในการพิจารณาในวันที่ 14 ธ.ค.นั้น ได้มีการลงมติกันว่าให้ตัดความในมาตรา 3 ทั้งหมด ซึ่งการตัดทั้งหมดแปลว่าความนี้จะไม่ปรากฏอยู่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ไม่ได้ทำให้กัญชาจะกลับไปเป็นยาเสพติด

"ดังนั้น การตัดมาตรา 3 ไม่ได้ทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ซึ่งความจริงแล้วกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนมิ.ย.2565 และปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2564 ความเป็นกัญชาจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้กลับไปเป็นยาเสพติด" นายศุภชัยกล่าว

ด้าน นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวขอบคุณสภาผู้แทนราษฎรว่า การรับพิจารณา พ.ร.บ.กัญชาฯ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจว่าจะให้การพัฒนากัญชา กัญชง เป็น platform ในการพัฒนาสมุนไพร และเป็นผลิตภัณฑ์เรือธง หรือ flagship product ที่จะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ สู่เวทีโลก

ต่อข้อถามถึงประเด็นความรีบร้อนในการปลดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น นพ.ประพนธ์ตอบว่า สธ.มีการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน เริ่มจากปี 62 ที่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นยา และใช้ศึกษาวิจัย ในขณะเดียวกันก็มีการทำงานคู่ขนาน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ที่ปลอดภัย พบว่า สารเมาหรือ THC ซึ่งเป็นสารที่ทางการแพทย์มีความกังวลว่าหากใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการสำรวจพืชกัญชาในขณะนั้นก็พบว่าสาร THC ในใบ ราก ต้น กิ่งก้านมีน้อยมาก และภูมิปัญญาไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ส่วนที่ไม่ใช้ดอกดูแลสุขภาพ จึงปลดส่วนที่ไม่ใช่ดอกและเมล็ดออกจากรายการยาเสพติด หลังจากนั้นเราก็ติดตามการดำเนินงานมาตลอด พบว่า การศึกษาวิจัยเราเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หากเทียบกับประเทศอื่นก็เป็นไปได้ช้า เพราะการขออนุญาตนำยาเสพติดมาทำวิจัยต้องขออนุญาตหลายกระบวนการ ทำให้เสียเวลามาก รวมถึงการปลูกของเกษตรกรก็ต้องมีความร่วมมือกับภาครัฐ ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต การใช้ยาก็มีระบบที่ต้องได้รับอนุญาตให้จ่ายยากัญชาได้ก่อน กว่าจะได้จ่ายยาก็ใช้เวลานาน

ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยืนยันว่า ปัจจุบันนี้กัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 ไม่มีชื่อกัญชาอยู่ พูดง่ายๆ ตั้งแต่ยอด ช่อดอก ใบ ลำต้น กิ่งก้าน จนถึงราก ไม่มีส่วนไหนเป็นยาเสพติด มีเพียงสารสกัด THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักที่ยังเป็นยาเสพติด ดังนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกัน

นพ.ไพศาลระบุว่า ถ้าจะให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ต้องมีการพิจารณาเห็นชอบและเสนอโดยคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษของ อย. และเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บอร์ด ป.ป.ส.) เป็นอำนาจสุดท้ายที่ต้องเห็นชอบก่อน แล้ว รมว.สธ.ถึงลงนาม

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้ สธ.เสนอบอร์ด ป.ป.ส. พิจารณาให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นพ.ไพศาลกล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ยืนยัน ตนทำงานตรงนี้และทำตามกฎหมาย จริงๆ จุดประสงค์ที่เราอยากได้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพราะเรื่องของการควบคุม การใช้ประโยชน์ ซึ่งสังคมห่วงใยเรื่องเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ตลอดจนสถานที่ วิธีการใช้ ทำอะไรได้บ้าง ล้วนอยู่ในกฎหมายนี้ ผู้ปฏิบัติงานก็จะเห็นทิศทางชัดเจน ตอนนี้ สธ.มีกฎหมายหลายฉบับดูแลอยู่ แต่ยังเน้นว่าอยากให้มี พ.ร.บ.ออกมา การที่ออกช้า เรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกำกับอยู่

ถามว่า คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษมีวาระการพิจารณากัญชากลับมาเป็นยาเสพติดหรือไม่ เลขาธิการ อย.ปฏิเสธว่า ไม่มี คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดฯ ที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน และตนเป็นเลขาฯ ไม่มีวาระนี้

ซักว่ากังวลหรือไม่ถ้าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ออก แต่ในเชิงนโยบายมีการปรับเปลี่ยนกัญชาอีก นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่กังวล แต่มีประเด็น คือถ้ากลับไปเป็นยาเสพติด ผลิตภัณฑ์สุขภาพบางอย่างจะออกไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง ปัจจุบัน อย.ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชาแล้วกว่า 2,200 รายการ เรื่องพวกนี้มีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย เรื่องกัญชา กัญชง ซึ่งใช้ได้ทุกส่วนในการทำผลิตภัณฑ์สุขภาพ

กรมแผนไทยเร่งทำระบบรายงานซื้อขายช่อดอกกัญชาในร้านที่มีใบอนุญาต ต้องอายุเกิน 20 ปี เสียบบัตรประชาชน เพื่อให้ได้ข้อมูลเรียลไทม์ในระบบ และแจ้งต่อ INCB ได้ คาดเริ่มใช้ได้ใน ม.ค. 66 เผยมีร้านอนุญาตแล้วกว่า 5,000 แห่ง ใน กทม. 2,000 แห่ง ตามย่านท่องเที่ยว

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงการควบคุมกำกับการใช้กัญชาในประเทศไทยว่า ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ กำลังจัดทำรายละเอียดขั้นตอนการใช้โปรแกรมการส่งต่อข้อมูลการขายดอกกัญชาแห้งในร้านค้าที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยกำหนดให้เจ้าของร้านต้องแจ้งปริมาณกัญชาที่ครอบครอง แหล่งข้อมูลที่ซื้อมาและขายไป โดยคนซื้อต้องมีอายุเกิน 20 ปี ต้องเสียบบัตรประชาชนเพื่อเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับระบบของกรม เพื่อให้กรมสามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบได้แบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (INCB) ซึ่งมีความห่วงกังวลเรื่องการควบคุมการขายช่อดอก ขณะที่ไทยเรายังไม่มีข้อมูลดังกล่าวแจ้งต่อ INCB

"เมื่อมีระบบดังกล่าวแล้ว ก็สามารถรายงานให้ทราบได้อย่างชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้หน่วยงานระหว่างประเทศ เรื่องการควบคุมจำหน่ายช่อดอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะนำระบบดังกล่าวมาใช้กับร้านค้าในไทย ใน ม.ค. 2566 ปัจจุบันได้รับการอนุญาตราวๆ 5,000 แห่ง เฉพาะ กทม. มีราวๆ 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในย่านการท่องเที่ยวหนาแน่น เช่น ทองหล่อ ถนนข้าวสาร เป็นต้น" นพ.ธงชัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง