"บีทีเอส" โต้กลับกรุงเทพธนาคม ชี้ทำบริษัทเสียหาย ย้ำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท โวยแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่ฝ่ายเดียวราว 4 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัทหรือ BTSC) แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า กรณีที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนถึงข้อมูลและประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคมจะยื่นต่อศาลปกครองเกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่บริษัทฟ้องให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือน มิ.ย.2564 ถึงเดือน ต.ค. 2565 เป็นจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มีข้อความบางส่วนอ้างว่า "เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ" พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTSC "เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัท (กล่าวคือกรุงเทพธนาคม) ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ เป็นคดีนี้"
บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัทต่อสาธารณชน ว่าบริษัทไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก
“ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียง บริษัทมีความจำเป็นต้องอธิบายให้สาธารณชนรับทราบถึงความถูกต้องในการดำเนินการของบริษัทเกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยขอชี้แจงว่าบริษัทเป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบัญญัติของภาครัฐ และเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่ากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายสุรพงษ์ ระบุ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า บริษัทเราได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างและการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน มีการหารือระหว่างทีมกฎหมายของบริษัท และกรุงเทพธนาคมก่อนลงนามสัญญาอย่างรอบคอบ ดังนั้นการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นไปโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
สำหรับการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา บริษัทต้องการเพียงให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างไว้เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้ฟ้องเรียกร้องค่าจ้างครั้งที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งเป็นยอดค้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.2562 จนถึงวันที่ 1 ก.ค.2564 โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีนี้ให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน แต่คดียังไม่สิ้นสุด มีการอุทธรณ์และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด โดยส่งเงินค้างชำระส่วนนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อ 22 พ.ย. 2565 บริษัทได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 20 พ.ย.2565 เนื่องจากบริษัทได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชำระเงินแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งมีวงเงินในการฟ้องคดีที่ 2 ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างจ่ายกับบริษัท และได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้วรวมจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท
"หนี้ค่าจ้างเดินรถในขณะนี้ก็ยังเพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 500-600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทก็จะต้องรวบรวมและดูสัญญาว่าจะครบกำหนดเมื่อไหร่ หากยังไม่ได้รับชำระก็จะต้องฟ้องไปยังศาลปกครองเพิ่มเติมอีก เพราะที่ผ่านมากรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถแบบนานๆ จ่ายที สะสมเงินจากการเก็บค่าโดยสารและทยอยจ่ายมาเป็นก้อนประมาณหลักร้อยล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระหนี้เก่าที่ติดค้าง อีกทั้งขณะนี้ยังเกิดหนี้ใหม่จากค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่บริษัทต้องเรียกเก็บอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ตอนนี้มีหนี้ที่บริษัทแบกรับอยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท" นายสุรพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องการเพียงให้ภาครัฐชำระหนี้คืน แต่กลับถูกกล่าวหาถึงการสมรู้ร่วมคิดกระทำความผิดในการเข้าทำสัญญา ซึ่งบริษัทยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ การที่ภาครัฐออกมาระบุว่าสัญญาที่ทำร่วมกับเอกชนขัดต่อข้อกฎหมาย ก็คงต้องถามถึงภาครัฐด้วยว่าจะให้เอกชนคู่สัญญาทำอย่างไรต่อ จะมีคำสั่งให้หยุดเดินรถหรือไม่ และที่ผ่านมาบริษัทก็ให้บริการรถไฟฟ้าทำตามสัญญาและระเบียบข้อกำหนดมาตลอด ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นบริษัทก็แบกรับ โดยประชาชนและสถาบันทางการเงินเชื่อมั่น จึงได้มีการระดมทุนเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม