สภาล่ม!สกัดฝ่ายค้านแก้รธน.

สภาล่มตามคาด! แก้รัฐธรรมนูญล่มปากอ่าว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเอาคืนฝ่ายค้าน ไม่กดบัตรแสดงตน ทำองค์ประชุมไม่ครบ เพื่อไทยโวยลั่น ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่สำเร็จ "ชวน" กรีด "ชลน่าน" สิ่งที่ทำวันนี้จะบันทึกว่าใครเข้าใจข้อบังคับกฎหมายอย่างไร ใครฉลาดมากฉลาดน้อยเพียงใด

เมื่อเวลา 12.25 น. วันที่ 25 มกราคม  2566 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....  ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเป็นผู้เสนอ   โดยสาระที่ขอแก้ไขคือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 ที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 อำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลือกนายกรัฐมนตรี

ก่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าว นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ลุกขึ้นหารือว่า การนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... นั้น ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเรื่องนี้ ส.ว.ไม่ทราบมาก่อนในการประชุมขอเลื่อนวาระการประชุมครั้งนี้ 

นายชวนชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้มีการประชุมของวิป 3 ฝ่าย โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  กล่าวในวันนั้นว่า ร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ จะมีสมาชิกอภิปรายยาว จึงขอเลื่อนวาระแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นก็เห็นด้วย อีกทั้งวันนี้เป็นการประชุมรัฐสภานัดพิเศษ ฉะนั้นจึงเป็นอำนาจประธานในการบรรจุวาระ ไม่ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแต่ประการใด และเรื่องนี้ก็ได้เรียนให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาทราบแล้ว ทั้งนี้ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องลงมติ แต่ถ้านายสมชายยังติดใจ ตนยินดีที่จะถามมติให้

จากนั้น นายสมชายยังยืนยันขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมฯ ข้อที่ 32 (1) สามสิบสอง ว่าการถอนร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ ออกจากระเบียบวาระโดยไม่ได้รับความยินยอมของที่ประชุมรัฐสภา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนลุกขึ้นมาสนับสนุนว่าเป็นอำนาจโดยชอบของนายชวนในการบรรจุวาระ จากนั้นเวลา 13.00 น. นายชวนกดออดเพื่อให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม ก่อนจะลงมติว่าเห็นควรจะรับญัตติของนายสมชายหรือไม่

ระหว่างรอให้สมาชิกแสดงตน นายจุลพันธ์ประท้วงว่าหากเดินหน้าลงมติต่อไป และถ้ามติที่ประชุมชี้ว่าสิ่งที่ประธานกระทำไม่ชอบจะเกิดสิ่งที่ตามมามหาศาล ที่ผ่านๆ มาการประชุมนัดพิเศษจะเป็นโมฆะ ดังนั้นจะเดินหน้าลงมติไม่ได้ เพราะจะเดินหน้าสู่ทางตัน

 ขณะที่นายชวนกล่าวว่า สมาชิกจะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ตาม แต่ช่วยทำให้องค์ประชุมครบ อย่าประชดโดยไม่กดบัตรแสดงตน เพราะถึงอย่างไรเรื่องนี้สมาชิกต้องให้ความเห็นอยู่ดี

 ต่อมา นพ.ชลน่านลุกขึ้นประท้วงนายชวนว่าทำผิดข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา เพราะวินิจฉัยญัตติที่ไม่ใช่ญัตติ จะเป็นการกระทำไม่ชอบในระบบรัฐสภาไทย และน่าอับอาย ถ้าประธานรัฐสภายังให้ลงมติ ตนและฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นญัตติที่ไม่ชอบ รัฐสภาไม่ควรกระทำเรื่องนี้ เราจะไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น การตรวจสอบองค์ประชุมสามารถทำได้ แต่วัตถุประสงค์เพียงต้องการล้มองค์ประชุมโดยใช้วิธีไม่ชอบ รวมทั้งจะขอกล่าวหานายชวนด้วยว่าให้ความร่วมมือด้วย

นายชวนชี้แจงว่า สิ่งที่ทำวันนี้จะบันทึกว่าใครเข้าใจข้อบังคับกฎหมายอย่างไร ใครฉลาดมากฉลาดน้อยเพียงใด เมื่อเป็นญัตติ ก็ต้องขอมติจากที่ประชุม ตนไม่เห็นด้วยที่ นพ.ชลน่านจะใช้วิธีไม่ร่วม ขอให้เสียบบัตรแสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม

 ทั้งนี้ นายชวนได้รอสมาชิกเสียบบัตรเป็นองค์ประชุมประมาณครึ่งชั่วโมง และกล่าวในตอนท้ายว่า ที่ตนพูดไม่ใช่ว่าจ้ำจี้จ้ำไช แต่ด้วยความปราถนาดีกับทุกคน ในฐานะที่เป็นนักการเมือง รู้ว่าการจะเป็นผู้แทนฯ ได้ยากเย็นเพียงใด ทราบดีว่าไม่มีใครลอยมาหรือนอนมา ยกเว้นพระนำหน้า แต่ทุกคนมาด้วยความเหนื่อยยาก ตนก็เหนื่อยยาก เป็นมา 16 สมัย ไม่เคยสบาย ต้องเอาชนะมาด้วยความยุติธรรม ในสมัยที่มีการใช้เงินกันมาก การไม่ซื้อเสียงและไม่โกงเลือกตั้งยิ่งเหนื่อย ดังนั้นเรามีโอกาสมาเป็นผู้แทนฯ ที่เหลืออยู่เพียงสั้นๆ จึงควรทำหน้าที่ให้ดี และขอขอบคุณสมาชิกที่มาร่วมประชุมในวันนี้ แต่ขณะนี้มีตัวเลขเพียง 275 ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงขอปิดการประชุมในเวลา 13.36 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศช่วงเสียบบัตรแสดงตน ปรากฏว่าโซนที่นั่งส.ว.มี ส.ว.อยู่ร่วมบางตา ส่วน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแม้จะอยู่ในห้องประชุมก็ตาม แต่มีคำสั่งไม่ให้กดบัตรแสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม จึงทำให้รัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 3 นับจากต้นปี 2566

ต่อมาพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แถลงถึงสถานการณ์ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่มครั้งล่าสุดว่า เป็นการปิดกั้นโดยสมาชิกรัฐสภาเพื่อไม่ให้ที่ประชุมได้พิจารณาญัตติเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอ

นายจุลพันธ์กล่าวว่า มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษ คือประธานสภาฯ ใช้อำนาจบรรจุวาระเข้ามา ตนในฐานะตัวแทนพรรคฝ่ายค้านเสนอ เพราะเกรงว่าหากดำเนินการตามระเบียบวาระเดิมอาจจะพิจารณาได้เสร็จไม่ทันเวลา โดยนายชวน ก็รับปากและได้นำหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแล้ว ไม่ใช่การเปลี่ยนระเบียบวาระตามที่มี ส.ว.อ้างในที่ประชุม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมี ส.ว.เสนอให้ถามมติว่าการถอนญัตติในระเบียบวาระเดิมออกไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับหรือไม่ ทั้งที่ไม่ใช่การถอน แต่เป็นการบรรจุวาระใหม่โดยใช้อำนาจโดยชอบของประธาน จึงไม่อาจลงมติในญัตติดังกล่าวได้ และหากประธานยังยืนยันจะลงมติจนมีผลออกมา อาจส่งผลกระทบให้กฎหมายอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมพิจารณาผ่านไปแล้วกลายเป็นโมฆะได้

 “พวกเราฝ่ายค้านในที่ประชุมรู้ว่า เจตนาจริงคือการเดินไปสู่สภาล่ม เพราะไม่มีความประสงค์จะเอาระเบียบวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งเสนอประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และกำหนดให้แคนดิเดตนายกฯ มาจาก ส.ส.”

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า สุดท้ายกลไกในการยื่นเสนอญัตติดังกล่าว สมาชิกกลับไม่แสดงตน โดยเฉพาะจากฝ่ายวุฒิสภาและฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค หากดูผ่านการถ่ายทอดจะเห็นได้ว่าเก้าอี้อีกฝั่งโล่ง เท่ากับเป็นการจงใจให้องค์ประชุมไม่ครบจนสภาล่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งไม่อาจยินยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไป

 “แม้จะพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้มีกติกาการเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่สุดท้ายถูกใช้กลไกของ ส.ว.ในวันนี้ทำให้การประชุมไม่สามารถเดินหน้าได้ ก็เป็นที่น่าเสียดาย” นายจุลพันธ์กล่าว 

ด้าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า นายชวนได้พยายามประนีประนอมทุกฝ่ายเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้ แต่เมื่อไม่สามารถไปต่อได้ และมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ก็จำเป็นต้องปิดการประชุม ส่วนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อที่สมาชิกวุฒิสภาพยายามจะเสนอเข้ามาพิจารณานั้น ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระ และมีหลายฝ่ายพยายามทักท้วง นายชวนจึงใช้อำนาจประธานในที่ประชุมให้ลงมติ แต่ในที่สุดองค์ประชุมก็ไม่ครบ

นพ.สุกิจกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายชวนได้เชิญวิปฝ่ายค้าน วิปรัฐบาล และรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลมาหารือ และได้ข้อสรุปตรงกันว่าระเบียบวาระจะเป็นไปตามที่ประธานบรรจุ คือให้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและได้ประสานไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว แต่วันนี้ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มขึ้น อาจจะเป็นความเข้าใจผิดของสมาชิกวุฒิสภาบางคนว่าเหตุใดจึงข้ามพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพไป

 “วันนี้ที่กฎหมายของรัฐบาลผ่าน เพราะฝ่ายค้านให้ความร่วมมือด้วยดี ซึ่งประธานสภาฯ ก็ย้ำอยู่แล้วว่าอย่าใช้วิธีการหนีปัญหา หากไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใด ก็ลงมติไม่เห็นด้วยได้ ส่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีฝ่ายไหนพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม สุดท้ายก็จะต้องนำกลับเข้ามาพิจารณาอีก” นพ.สุกิจ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อิ๊งค์' สุดปลื้มได้รับเกียรติสูงสุดจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโพสต์รูปภาพพบปะสมเด็จฮุนเซนที่ปีะเทศกัมพูชา พร้อมข้อความระบุว่าพรรคเพื่อไทยได้รับเกียรติสูงสุดจากสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี