คลังคาด‘จีดีพี’ ปี2566โต3.8% ‘ท่องเที่ยว’ดัน

“บิ๊กตู่” ปลื้มสัญญาณการลงทุนสดใส ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่พุ่ง เช่นเดียวกับยอดส่งเสริมการลงทุน “คลัง”  คาดปีกระต่ายจีดีพีโต 3.8% อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นตัวร้อนแรง สวนทางส่งออกโตแผ่ว 0.4% แต่ยังไม่มีสัญญาณติดลบ ยันเงินเฟ้อทยอยลดกลับเข้ากรอบ 1-3%

เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลด้านการลงทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยยอดธุรกิจตั้งใหม่ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน การออกบัตรส่งเสริมที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกให้นักลงทุนไทยและต่างชาติตลอดปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมาก เป็นสัญญาณชี้การลงทุนใหม่ในระยะต่อไป ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและการมีงานทำของประชาชนในระยะยาว

“นายกฯ พอใจยอดธุรกิจตั้งใหม่และการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น  สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งการลงทุนใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะนำไปสู่การจ้างงาน การมีรายได้ และกำลังการใช้จ่ายของประชาชนในระยะยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่นายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญ” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2565 ทั้งสิ้น 76,488 ราย เพิ่มขึ้น 3,530 ราย หรือ 5% มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ 429,828.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200,020.30 ล้านบาท หรือ 87.04% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนปี 2566 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดว่ายอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จะอยู่ที่ 72,000-77,000 ราย ใกล้เคียงปี 2565 ตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3-4% จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ

“โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างชาติที่เข้ามายังบีโอไอตลอดปี 2565 มีทั้งสิ้น 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เงินลงทุน 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เทียบกับปี 2564”

วันเดียวกัน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังคงการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 (จีดีพี) จะขยายตัวที่ระดับ 3.8% โดยมีช่วงที่ 3.3-4.3% เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 27.5 ล้านคน ขยายตัว 147% จากปีก่อน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 228.5% จากปีก่อน และอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้า คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ติดลบ 0.1% ถึง 0.9% โดยตัวเลขการส่งออกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ค่อนข้างเยอะ เพราะเริ่มส่งสัญญาณขยายตัวชะลอลงตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวลง

“ถามว่าส่งออกมีโอกาสติดลบไหม ก็มี  ซึ่งอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ลบ 0.1% ถึง 0.9% แต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ทิศทางที่จะเป็นลบยังไม่มี แต่หากการส่งออกติดลบมากกว่าคาดการณ์ ก็จะมีส่วนทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ ณ เดือน ม.ค.2566 ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ซึ่งถือว่ามีโอกาสดีขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4/2565 ที่เพิ่งประกาศออกมาปรับตัวดีขึ้น” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวอีกว่า ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3-4% ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยบทบาทนโยบายการคลังจะยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยมาตรการช้อปดีมีคืนนั้น คาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจากการใช้จ่ายราว 5 หมื่นล้านบาท มีผลต่อเศรษฐกิจ 0.15% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.6% โดยมีช่วงคาดการณ์ 3.1-4.1% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น

สำหรับเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3% โดยเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้ เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดยปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะทรงตัวที่ระดับ 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2565 ที่ ติดลบ 10.9% ขณะเดียวกัน คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก โดยเกินดุลที่ระดับ 3.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 0.5% ของจีดีพี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0-1% ของจีดีพี เนื่องจากการท่องเที่ยวที่กลับมา ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเป็นบวกนี้จะมีส่วนทำให้เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนด้วย โดยปีนี้คาดว่าเงินบาทจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 7% จากปีก่อนหน้า

นายพรชัยกล่าวอีกว่า ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป รวมถึงความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิต รวมถึงสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง