สมศักดิ์ยืนยัน กม.อุ้มทรมาน 22ก.พ.ใช้แน่!

“สมศักดิ์” ยัน 22 ก.พ.บังคับใช้ กม.ป้องกันทรมานฯ ตามกำหนด ยกเว้นมาตรา 22-25 ที่ขยายออกไปอีก 7 เดือน อัยการระบุพร้อมดำเนินการ แม้ยังติดขัดเรื่องอุปกรณ์สนับสนุน แต่ก็จะบริหารจัดการให้ได้ “นักวิชาการ” เตรียมแถลงค้าน พ.ร.ก.ยื้อเวลาของตำรวจ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่า กฎหมายยังมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.นี้ โดยไม่มีการเลื่อนบังคับใช้ทั้งฉบับ แต่เป็นเพียงการเลื่อนบังคับใช้แค่ 4 มาตราเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ จึงมีหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 ซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้องทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ความพร้อมของบุคลากร และมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า ได้มีการหารือร่วมกันทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ซึ่งได้ข้อยุติยอมให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายแค่ 7 เดือน และให้เลื่อนใช้แค่ 4 มาตรา จากที่ขอมา 8 มาตรา ยธ.จึงจัดทำพระราชกำหนดเพื่อขยายกำหนดเวลาบังคับใช้ 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2566 โดยมาตรา 22 คือ การบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง, มาตรา 23 การบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม เช่น ชื่อ นามสกุล อัตลักษณ์, มาตรา 24 ญาติ ทนายขอเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวได้ และมาตรา 25 ข้อยกเว้นการเปิดเผยข้อมูล เช่น ละเมิดสิทธิส่วนตัว

“กฎหมายฉบับนี้ได้ถูกผลักดันตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็สะดุดมาโดยตลอด จนมาถึงยุคผมเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้เสนอกฎหมายนี้เข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 และเสนอกฎหมายเข้าสภา เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 จนทุกฝ่ายเห็นชอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 และกำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผมต้องการยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้โปร่งใส เท่าเทียม ไม่มีการกลั่นแกล้งกันได้อีกต่อไป เพราะทุกขั้นตอนจากนี้ต้องมีการบันทึกภาพทั้งหมด โดยผมรู้สึกภูมิใจ ที่มีหลายฝ่ายชื่นชมกฎหมายฉบับนี้ ถึงขั้นมีนักวิชาการด้านกฎหมายยกให้ว่าเป็นการช่วยปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยในรอบ 100 ปี ก็ทำให้ผมรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวว่า น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อสส.มีนโยบายที่ให้ยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชน ใช้กฎหมายในการคุ้มครองสังคม อัยการต้องยกระดับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ดีให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้เตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการทรมานการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยได้มีการเตรียมการตั้งแต่ก่อนกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในส่วนของสำนักงาน อสส.ตามคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 1642/2565 ลงวันที่ 22 ก.ย.65 ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมยกร่างระเบียบในการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าว ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการของพนักงานอัยการ จนนำไปสู่การประกาศใช้ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566

นายโกศลวัฒน์กล่าวอีกว่า สำนักงาน อสส.ยังได้จัดโครงการสัมมนาการดำเนินการของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เพื่อให้พนักงานอัยการได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการนำกฎหมายใหม่นี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างถูกต้อง ระดมสมองวางแผนในการทำให้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการดูแลสังคมตามนโยบาย อสส. แม้กฎหมายนี้จะต้องมีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานในการบันทึกภาพถ่าย และยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่กฎหมายประกาศใช้ แต่สำนักงาน อสส.ก็พร้อมบริหารการจัดการความยุติธรรมให้กฎหมายมีประสิทธิภาพได้ในทันที พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกมาตรา

ขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการได้นัดหมายที่จะแถลงข่าวคัดค้าน! การออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายซ้อมทรมาน-อุ้มหายฯ ในวันจันทร์ที่ 20 ก.พ.2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจะนำแถลงโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายศราวุฒิ ประทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง