รู้ตัวการโกงยา จ่อรวบยกแก๊ง จับซ่อมบัสทิพย์

“ภูมิธรรม” ย้ำสิ้นเดือนนี้ออกหมายจับขบวนการทุจริตยา รพ.ทหารผ่านศึก ไม่ชัวร์ทำกันมาเป็นสิบปี แต่ถ้าสอบถึงใครก็ตามนั้น “บิ๊กเต่า” เผยดำเนินคดีกลุ่มเเรกภายใน 1-2 สัปดาห์นี้   ย้ำ “ไม่มีมวยล้มต้มคนดู” ด้าน ป.ป.ช.ร่วม ป.ป.ท.-ปปป.จับกุม 7 เจ้าหน้าที่ กทม. จัดจ้างซ่อมรถบัสทิพย์ สูญ 2.8 ล้าน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาทหารผ่านศึก ถึงความคืบหน้าการสืบสวนกรณีคดีทุจริตยาโรงพยาบาลทหารผ่านศึกว่า ได้ตั้งกรรมการสอบ และได้เรียกผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมาคุย ซึ่งการสอบสวนขั้นต้นถือว่าคืบหน้าไปด้วยดี ขณะนี้กำลังตรวจสอบผู้ที่อยู่ในเครือข่าย ว่าป่วยเป็นโรคนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งก็มีการจ่ายยาให้ อีกทั้งมีผู้ป่วยเบาหวาน แต่พอไปตรวจเลือดแล้วก็พบว่าไม่ได้เป็น ส่วนที่ป่วยจริงๆ ก็มี ตอนนี้สอบปากคำไปเกือบ 150 คนแล้ว และมีการไปสอบเพิ่มเติมที่ จ.ลพบุรีและสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีรายชื่อเครือข่ายปรากฏอยู่

นอกจากนี้ ยังมีคนที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อแต่อาสามาให้ข้อมูลอีกกว่า 30 ราย นี่เป็นเฉพาะจุดแรกที่เริ่มสอบสวน ซึ่งได้เชิญให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาร่วมตรวจสอบ เพราะเราต้องดูเรื่องเส้นทางการเงินด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะสามารถออกหมายจับได้ เพราะตอนนี้พบเครือข่ายและผู้เกี่ยวข้องแล้ว  แต่ขอให้ชัดเจนออกหมายจับก่อน ค่อยว่ากัน ขณะเดียวกันเราก็สอบต่อด้วยอีกทางว่าหมดเครือข่ายนี้หรือยัง หรือมีต่อ เพราะเราพบหลายจุด ซึ่งอาจจะอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ก็จะขอเวลาดำเนินการ

เมื่อถามว่า หากรอจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม จะมีการทำลายพยานหลักฐานหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้พักงานเจ้าหน้าที่บางส่วน นายภูมิธรรมกล่าวว่า เดี๋ยวรอ เพราะมีหลายหน่วย พร้อมยืนยันว่าหลักฐานทำลายไม่ได้ เพราะเราเข้าไปกำชับเข้มงวดในการตรวจสอบอยู่แล้ว อีกทั้งหลักฐานที่เราได้มาก็พอสมควร กำลังหารายละเอียดให้ครบถ้วน จึงขอไม่เปิดเผยรายละเอียดมากกว่านี้ เพราะอยู่ในกระบวนการ

ส่วนกรณีขบวนการทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว การตรวจสอบจะย้อนหลังไปถึงผู้ที่เกษียณไปแล้วหรือไม่นั้น นายภูมิธรรมกล่าวว่า เขาทำมา 10 ปีแล้วจริงหรือไม่ ตอบไม่ได้ แต่เราพบ ณ ขณะนี้ ก็ต้องทำให้ชัดเจนก่อน ส่วนถ้าสอบแล้วต่อไปถึงไหนเราก็ต้องไปตรงนั้น เพราะความผิดมันขึ้นอยู่กับอายุความและความเป็นจริง

 “ถ้าความเป็นจริงมันถึง เราก็ต้องเอาให้ถึง และผมได้พูดในที่ประชุมว่าเราเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อทหารหาญที่สละชีพและทุพพลภาพจากการสู้รบเพื่อปกป้องประเทศชาติ  แทนที่เงินเหล่านี้จะไปช่วยพวกเขาได้มากขึ้น กลับถูกเบียดบัดไป” นายภูมิธรรมกล่าว และยอมรับว่า ระบบที่มีการจัดวางใหม่ อาจจะกระทบต่อการบริการประชาชนบ้าง แต่โรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลรัฐที่ทันสมัย อย่างเช่นโรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช เขาก็ใช้กันได้ แม้ประชาชนจะได้รับผลกระทบบ้าง

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) เปิดเผยว่า ภายหลังสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ตอนนี้กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สรุปรายละเอียดและส่งผลการสืบสวนสอบสวนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งภายหลัง ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบแล้วได้ส่งเรื่องกับมาให้ บก.ปปป. ให้สืบสวนสอบสวนต่อให้ถึงที่สุด พร้อมย้ำว่า คดีทุจริตยาและเวชภัณฑ์โรงพยาบาลทหารผ่านศึกนี้ จะไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน เนื่องจากมีแผนประทุษกรรมชัดเจน โดยขณะนี้ทราบเเล้วใครเป็นผู้บงการ และใครเป็นผู้สั่งการ

ส่วนในกรณีของผู้ป่วยในวันที่ 13 มี.ค. จะมีการหารือเพื่อจำแนกผู้เกี่ยวข้องออกเป็นกลุ่ม คือ 1.ผู้ที่มีเจตนากระทำความผิดและให้การสนับสนุนขบวนการทุจริตยาและเวชภัณฑ์ 2.ผู้ที่ถูกล่อลวงให้กระทำความผิด 3.ผู้บงการ 4.เหยื่อที่ถูกหลอก โดยตำรวจจะดำเนินการตามกฎหมายกลุ่มที่ 1 ก่อนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้

ด้านนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า วันที่ 13 มี.ค. ทาง ป.ป.ท.จะมีการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อนำคดีดังกล่าวมาถอดบทเรียน และขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ว่ามีการทำผิดแบบเดียวกันหรือไม่ และเป็นการป้องกันการทุจริตในอนาคต พร้อมเตรียมนำหมายเลขบัตรประชาชนทั้ง 13 หลัก ของคนไข้ไปตรวจสอบและสกัดกั้นการรับยาแบบหมุนเวียน รวมถึงเป็นการทดสอบสุขภาพรายบุคคลว่าป่วยจริงหรือไม่ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาที่เบิกไปก่อนหน้านี้จริงหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายมากกว่า 2,000 ล้านบาท และผลคดีนี้ยังก่อเหตุร่วมกันทุจริตยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลอื่นอีกหลายที่ ซึ่งขณะนี้จะถูกขยายผลหลังจากคดีของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกเสร็จสิ้น    ส่วนกรณียา เบื้องต้นชัดเจนแล้วว่ายามีการถูกนำไปขายต่อในธุรกิจยาเถื่อน และมีการโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งต้นทุน 0% แต่รับกำไร 100% นอกจากนี้จากการตรวจสอบเส้นเงิน มีการโยงใยไปถึงหัวหน้าขบวนการด้วย

วันเดียวกัน นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ   เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ และนายไพโรจน์ นิยมเดชา ผู้อำนวยการสืบสวนกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติการข่าว 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท.และ บก.ปปป. ปฏิบัติการจับกุมเจ้าหน้าที่สังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จัดจ้างซ่อมรถโดยสารเป็นเท็จ มูลค่าความเสียหาย 2,790,928 บาท จำนวน 7 ราย ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร

กระทำการดังต่อไปนี้ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ (1) รับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ (2) รับรองเป็นหลักฐานว่าได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง (3) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจดหรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ (4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริง อันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

คดีนี้สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการจ้างเหมาซ่อมแซมรถโดยสารปรับอากาศ ขนาด 45-50 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน ในหน่วยงานราชการสังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการตรวจสอบเอกสาร พบว่ามีการเบิกฎีกาจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าว ในห้วงระหว่างปี พ.ศ.2565-2566 โดยไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง จำนวน 11 ครั้ง มีกลุ่มของผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุขออนุมัติจ้างซ่อม และทำการปลอมใบเสนอราคาของบริษัทซ่อมรถ ทั้ง 5 คัน เพื่อจัดทำเอกสารใบเสนอราคากลางในการจ้างซ่อม แล้วดำเนินการอนุมัติงบประมาณ  

สตง.จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ท.ดำเนินการ และมีการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ในห้วงระหว่างปี พ.ศ.2565-2567 มีการจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าว โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริงอีก จำนวน 12 ครั้ง และกรุงเทพมหานครได้ตรวจพบการกระทำลักษณะเดียวกันอีก จำนวน 5 ครั้ง รวมจำนวนเงินที่กลุ่มผู้ต้องหาทำการเบิกจ่ายค่าซ่อมรถ โดยไม่มีการซ่อมจริง 28 ครั้ง หรือจำนวน 28 ฎีกาของการเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นเงินที่มีการทุจริตทั้งสิ้น 2,790,928 บาท 

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้ง 7 คน จึงรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2568 ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้ขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.1 บก.ปปป. และมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดตามกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง