
รุมคัดค้าน พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหาย "ปริญญา" ข้องใจข้ออ้างงบไม่พอซื้อกล้องบันทึกทั้งที่ ป.วิ.อาญาก็บังคับอยู่แล้ว ยันไม่ใช่เหตุุฉุกเฉิน ชี้เป็นภัยต่อประชาชน จี้เร่งนำเข้าสู่รัฐสภาก่อนสิ้น ก.พ. หวั่นลักไก่ยุบสภาหนี ย้อนถามพรรคใดจะเอาด้วย "สุรพงษ์" แนะ ครม.ออก พ.ร.ก.อีกฉบับยกเลิก พ.ร.ก.เลื่อนการบังคับใช้ ขู่ยื่นฟ้องศาล รธน.
เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.00 น. ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการรวมตัวแถลงข่าวกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 นำโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนายศราวุฒิ ปทุมราช ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
โดย ดร.ปริญญากล่าวว่า จากมติ ครม.ให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป 8 เดือน นำมาซึ่งปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงต้องแถลงข่าวเพื่อยืนยันในอำนาจทางนิติบัญญัติ การที่ฝ่ายบริหารดำเนินการด้วย พ.ร.ก. อย่างไรก็ต้องเสนอต่อสภา แต่สภากำลังจะหมดวาระอีกไม่นาน จึงมองได้ว่าเป็นการลักไก่หรือไม่
ดร.ปริญญาระบุว่า เดิมทีกฎหมายนี้ให้บังคับใช้ 22 ก.พ. แต่ พ.ร.ก.ชะลอการบังคับใช้เพิ่งมีผลเมื่อ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้ยกเว้นมาตรา 22-25 โดยเลื่อนไปถึง 1 ต.ค. ซึ่งมาตราดังกล่าวคือหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ว่าได้ เพราะถือเป็นเครื่องมือในการป้องกันสิทธิของประชาชน เช่น บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพและเสียงขณะควบคุมตัวจนกว่าจะถึงพนักงานสอบสวน แต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อ้างว่าต้องใช้กล้องบันทึกและงบประมาณไม่พอ ซึ่งตนมองว่าสามารถใช้กล้องโทรศัพท์มือถือแทนได้ อีกทั้งการเลื่อนมาตราเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัว น่าสงสัยมากว่าเลื่อนได้อย่างไร เพราะ วิ.อาญาก็บังคับไว้แล้วว่าต้องบันทึกข้อมูลดังกล่าว
"การบันทึกภาพเสียงขณะควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ก็ทำอยู่แล้ว และการบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม ปกติท่านไม่ทำหรือ ผมไม่เห็นว่าต้องฝึกอบรมอะไรกันมากมายเลย ถามว่า 120 วันที่ผ่านมาท่านทำอะไรอยู่ ผมไม่ได้ถามถึงแค่ ผบ.ตร.เท่านั้น ผมถามถึงนายกรัฐมนตรี นี่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินเลย ท่านออก พ.ร.ก.ออกมาเพราะความละเลย ไม่เอาใจใส่ของท่านเอง"
ดร.ปริญญากล่าวอีกว่า ปกติการออก พ.ร.ก.ไม่สามารถทำได้นอกจากกรณีเหตุฉุกเฉิน เร่งด่วน สุดวิสัย รักษาความปลอดภัยของสาธารณะ ซึ่งกรณีนี้การเลื่อนไม่ได้เข้าองค์ประกอบเลย การเลื่อน 4 มาตราต่างหากที่กระทบต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ขณะที่มาตรา 172 ระบุว่าต้องให้ ครม.เสนอ พ.ร.ก.ต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า ว่ารัฐสภาจะอนุมัติ พ.ร.ก.นั้นหรือไม่ แต่สมัยประชุมของสภาจะสิ้นสุด 28 ก.พ.นี้ จึงยังมีเวลาอีก 8 วัน ถ้าใน 8 วันนี้ท่านยังไม่เสนอต่อรัฐสภา ถือว่าท่านทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และยังสามารถเรียกประชุมสมัยวิสามัญได้เพื่ออนุมัติโดยเร็ว ตนเกรงว่า ครม.จะเตะถ่วงจนถึงวันที่จะยุบสภา เพราะหากไม่มีสภาการเลื่อนบังคับใช้จะทำได้โดยสะดวก ซึ่งยังทัน ถ้าจะไม่ทันสาเหตุเดียวก็คือมีการยุบสภาหนี
"ถ้าสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะตกไป ฝ่ายบริหารจึงไม่ควรคิดว่ามีอำนาจใช้ พ.ร.ก.ได้เลย แล้วอาศัยการยุบสภาหนี คำถามต่อมาคือหากนำ พ.ร.ก.ให้สภาอนุมัติ จะมีพรรคการเมืองใดบ้างที่เห็นชอบให้เลื่อนกฎหมายนี้ออกไป เพราะกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนด้วย นายกฯ อาจคิดว่าทำได้เพราะตนมีเสียงข้างมากในสภา หากเลือกยุบสภาหนี ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจตรวจสอบว่า พ.ร.ก.ใดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่" ดร.ปริญญากล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ดี ภาคประชาชนมีส่วนร่วม สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศทุกๆ ด้าน ถูกชื่นชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกฝ่ายรอการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเต็มฉบับมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี วันที่ประกาศเลื่อนออกไป 4 มาตรา เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่จำเป็น และเหตุผลที่ใช้อ้างขอเลื่อนก็ฟังไม่ขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลทำให้ชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยการเอา พ.ร.ก.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาโดยเร็วภายในสัปดาห์นี้ และหวังว่า สภาจะยืนหยัดคัดค้านต่อ พ.ร.ก.ฉบับนี้ พร้อมแนะวิธีแก้ไขเร่งด่วน ซึ่งวันที่ 21 ก.พ.จะมีการประชุม ครม. ทางที่ดี ควรออก พ.ร.ก.อีกฉบับ เพื่อยกเลิก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายได้เช่นกัน
ขณะที่นายศราวุฒิ ประทุมราช กล่าวว่า เกิดคำถามว่านักการเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการประจำไปแล้วหรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าไม่มีความพร้อม ทำให้ก่อนที่จะถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายจะเกิดการทรมานหรือซ้อม ไม่มีการบันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการควบคุม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดต้องประกาศใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผบ.ตร.ต้องการหนีอะไรหรือไม่
ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองพร้อมใจกันไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นี้ ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนคงต้องรวมตัวไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566" โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ สรุปได้ว่า หากมีการใช้บังคับกฎหมายในขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อม จะทำให้การเฝ้าระวังและการเก็บรวบรวม และบันทึกพยานหลักฐานในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่มีความไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เป็นประเด็นโต้แย้งในชั้นการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ส่งผลให้การจับมิชอบ การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นผลร้ายแรงต่อสังคมและความปลอดภัยสาธารณะอย่างร้ายแรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่มีทรัพยากรในการปฏิบัติงานที่พร้อม ยังต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางวินัยอีกด้วย
"ข้อเท็จจริงดังกล่าวถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ และความปลอดภัยสาธารณะ จึงสมควรขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับของบทบัญญัติเพียงเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการใช้กล้องบันทึกภาพและเสียงในขณะการควบคุมตัว เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบการควบคุมตัวได้เตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์และบุคลากร สำหรับการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลสั่งอสส.แจงปมคดีฮั้วสว.
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง "สำรอง" ปมขอวินิจฉัยสมาชิกภาพ "สว.ศตวรรษ"
ภท.ปิดดีลมะขามหวาน ‘สุชาติ’บี้‘รทสช.’ขับออก
โชว์ภาพ "เนวิน" ดินเนอร์ "สันติ" ชื่นมื่น ตอกย้ำดีลมะขามหวาน “อนุทิน” ควง “จิตรา” ออกสื่อ บอกสมัครสมาชิก ภท.แล้ว
ยื่นชื่อประชามติกาสิโน สภาสูงจัดไลฟ์สดงบฯ69
ภาคประชาชนหยุดพนันส่งด่วน 53,900 รายชื่อยื่น กกต. เพื่อเสนอ ครม.ทำประชามติ “เอา-ไม่เอากาสิโน”
มท.1สวนอิ๊งค์เหลื่อมเวลาปิดด่าน
"อนุทิน" สวนทางนายกฯ ยันไม่ปรับเวลาปิด-เปิดด่านตามกัมพูชา
มติหมอสะเทือนแม้ว ‘แพทยสภา’เสียงท่วมท้น ยืนยันลงโทษแพทย์3ราย
"แพทยสภา" มากกว่า 2 ใน 3 ยืนยันมติเดิม ลงโทษ 3 หมอปมชั้น 14 เตรียมออกคำสั่งบังคับตามมติ แจ้งผู้เกี่ยวข้อง "ศ.นพ.ประสิทธิ์"
อิ๊งค์ชื่นชมทหาร สั่งปรับเวลาด่าน
"นายกฯ” ได้ฤกษ์เยือนชายแดนสุรินทร์ยกคณะ ทั้ง "บิ๊กอ้วน-มท.1"