พรรคเล็กดิ้นขอส.ส.ปัดเศษ

“บิ๊กป้อม” แจงเสาร์นี้แค่เปิดตัว ส.ก. ไม่ใช่ ส.ส. แต่การันตีคนเก่าได้ลงหมด ปัดดัน “แหม่ม” ชิงผู้ว่าฯ กทม. “พรรคเล็ก” ผนึกกำลังดันใช้สูตรนับคะแนนเดิม ยกเลิกไพรมารีโหวต ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์เดียวทั้งประเทศ เล็งยื่นพรรคร่วม รบ. “สมชัย” ลุยริบอำนาจ ส.ว.

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ฝั่งธนฯ ของพรรค พปชร. ในการสัมมนาสมาชิกพรรค กทม. ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ เชิงสะพานกรุงธน เขตบางพลัด กทม. ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ โดยปฏิเสธว่ายัง สื่อไปเอามาจากไหน ตนยังไม่รู้เลย ส่วนกำหนดการที่ออกนั้น ไม่ใช่เรื่องผู้สมัคร ส.ส. แต่เป็นผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ตนยังไม่วางตัวผู้สมัคร ส.ส.ใครเลย วางตัวแต่คนเก่า ซึ่งคนเก่าต้องลง

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการวางตัวผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรค พปชร. พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า สื่อจะเอาใคร ผู้สื่อข่าวจึงตอบกลับไปว่า ขณะนี้มีหลายชื่อ พล.อ.ประวิตรจึงกล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่รู้สักชื่อหนึ่ง สื่อจะเอาใครก็เลือกไปเลย ซักว่านางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค เหมาะสมจะลงผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบด้วยเสียงดังว่า "เฮ้ย มันจะเป็นได้อย่างไรเล่า เขาไม่ได้ทำเลย สื่อไปว่ากันเอง"

ยังมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งพรรคขนาดเล็กได้ออกมาเรียกร้องเรื่องการนับคะแนนเลือกตั้งว่าให้ยึดหลักคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ โดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย, นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังเพื่อชาติไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าว

นพ.ระวีกล่าวว่า ผลการหารือของกลุ่มพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง เห็นชอบร่วมกันว่า ใน พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ต้องยึดหลักคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อต้องไม่มีขั้นต่ำ เช่น หากมีเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 350,000-370,000 ต่อ 1 ส.ส. แต่ถ้าหากได้ 340,000 คะแนน เสียงของประชาชนจะตกน้ำทั้งหมด พรรคเล็กเห็นพ้องกันว่า ในการเลือกตั้งทุกพรรคสามารถส่ง ส.ส.เขตเพียงเขตเดียวก็สามารถ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

นพ.ระวีกล่าวอีกว่า โดยหลักการ ส.ส.พึงมีเสนอให้เอาคะแนนรวมของบัตรเลือกตั้งที่ 2 หารด้วย 500 หรือเอาคะแนนรวมบัญชีรายชื่อ บวกคะแนนรวม ส.ส.เขตทั่วประเทศ หารด้วย 500 ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 70,000 คะแนน หรือ 140,000 คะแนนต่อ 1 ส.ส.

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ระบุว่า ในขั้นตอนของการสมัคร ส.ส.นั้น พรรคเล็กเสนอว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อสามารถใช้เบอร์เดียวกันได้ทั่วประเทศ แต่ ส.ส.เขตควรเป็นไปตามหมายเลขของแต่ละพื้นที่ มีการจับฉลากตามขั้นตอนปกติ และค่าสมัคร ส.ส.เราขอลดลงเหลือเพียง 3,000-5,000 บาท นอกจากนี้ เห็นควรให้ยกเลิกตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขต และยกเลิกไพรมารีโหวต ส่วนหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่น หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาท เนื่องจากถือเป็นภาระพรรคการเมืองที่ต้องจ่ายค่าสมาชิกให้ประชาชน ซึ่งทุกพรรคทำเหมือนกันหมด หากพรรคใดไม่ได้ทำให้ออกมาเถียงได้เลย รวมทั้งควรยกเลิกทุกมาตราที่เกี่ยวกับการปรับพรรคการเมือง เพราะข้อกฎหมายเหล่านี้ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองเท้าข้างหนึ่งก้าวเข้าไปอยู่ในคุก จากกฎกติกาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

“นายโกวิทย์ ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จะยื่นเสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีประเด็นใดที่เหมือนกันกับร่างของรัฐบาลจะร่วมด้วย แต่ประเด็นใดที่เห็นต่างจะไปว่ากันในสภา ว่าจะโหวตไปในทิศทางใด” นพ.ระวีกล่าว

นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการยกเลิกการทำไพรมารีโหวตว่า วันนั้นที่ กฎหมายประกาศให้ต้องมีการทำไพรมารีโหวต คัดคน ส่งคนลงสมัคร ส.ส.ตามความต้องการของสมาชิกพรรคในพื้นที่เลือกตั้งนั้นๆ พรรคคนไทยได้ประชุมหารือและพิจารณาแล้วว่า ทำไม่ได้ ยากที่จะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราจึงยุติบทบาทพรรค แจ้งเลิกพรรคกับ กกต. ดังนั้น กรณีนี้จะมีใครมารับผิดชอบที่กฎหมายออกมา แล้วชักเข้าชักออกแบบนี้

เมื่อวันศุกร์ ที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสมาชิกพรรคเสรีรวมไทย ได้เดินหน้ารวบรวมรายชื่อเพื่อจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี โดยพบว่า นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า ได้ร่วมลงชื่อในครั้งนี้ด้วย

นายสมชัยกล่าวว่า จุดเริ่มต้นวันนี้ต้องการเพียง 20 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาเป็นผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ โดยสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจะมีช่องทางให้ประชาชนลงรายชื่อผ่านระบบ อิเล็กทรอนิกส์ โดยภายใน 2 สัปดาห์น่าจะได้เปิดระบบลงรายชื่อ อาจจะใช้เวลา 1-2 เดือน คาดหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป

วันเดียวกัน ยังมีการตอบโต้กันเรื่องการนับองค์ประชุมระหว่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยนายไพบูลย์เปิดเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะมีการเก็บข้อมูลโดยใช้โปรแกรมประมวลผล จะไม่เก็บข้อมูลย้อนหลัง เพื่อดูจำนวน ส.ส.ที่เข้าร่วมประชุมสภา ทั้งการลงมติโหวตและการนับองค์ประชุมทุกครั้ง ให้เห็นชัดเจนเลยว่า ส.ส.แต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมกี่คน ขาดกี่คน นอกจากนี้ จะมีการแยกข้อมูลเป็นรายพรรคการเมืองและรายบุคคลด้วย จากนั้นจะนำเสนอผ่านทางเว็บไซต์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวโต้ตอบนายไพบูลย์ ว่าเป็นสิทธิ์ของนายไพบูลย์ที่จะดำเนินการดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง